พิพาทที่เหมืองร้างอีก ชาวบ้านร่วมร้อยฮึดสู้
ชาวบ้าน “ชุมชนประชาสามัคคี” เกาะแก้วร่วม 100 คน ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าฯ ถูกนายทุนอ้างสิทธิฟ้องขับไล่ นำที่ดินเข้ารังวัดเหมืองร้างกว่า 300 ไร่ ตามคำสั่งศาลเผยที่ดินดังกล่าวอำเภอเคยปิดประกาศ ให้เป็นที่ว่างเปล่า ประชาชนใช้ประโยชน์อยู่ร่วมกันได้ จนมีการพัฒนา ตัดถนน จัดสาธารณูปโภคขอไฟฟ้าเข้า ตั้งเป็นหมู่บ้านกว่า 10 ปี จังหวัดรับจะส่งหน่วยงานเข้าตรวจสอบให้ความเป็นธรรม ส่วนการฟ้องร้องก็เป็นเรื่องของศาลดำเนินการไป สุดท้ายรังวัดที่ไม่ได้ ด้วยชาวบ้านจำนวนมากไม่ได้รับหมายศาล ต้องนัดกันใหม่
เมื่อเช้าวันที่ 6 ธันวาคม 2560 เวลา 09.00 น. ชาวบ้าน “ชุมชนประชาสามัคคี” หมู่2 ต.เกาะแก้ว อ.เมือง จ.ภูเก็ต. ประมาณ 100 คน นำโดย นายสุรศักดิ์ ไถนาเพรียว ประธานชุมชน นายวีรายุทธเจ๊ะโซ๊ะ เลขาชุมชนเดินทางมายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผ่านทาง นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ขอความช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิ ในการครอบครองที่ดิน ซึ่งชาวบ้านอาศัยอยู่ในปัจจุบัน โดยอ้างว่า ได้รับความเดือดร้อนหลังมีผู้อ้างสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าว ว่าเป็นที่ดินมรดก และมีการฟ้องร้องชาวบ้านจำนวน 70 รายไปก่อนหน้านี้
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า การเดินทางมายื่นหนังสือในครั้งนี้ เนื่องจากชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในที่ดินที่ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นที่ดินว่างเปล่า ซึ่งเป็นที่ดินประทานบัตรเหมืองแร่ที่สิ้นสุด ชาวบ้านจึงได้เข้าไปอาศัยในที่ดินดังกล่าว ประกอบกับเมื่อปี 2548 ทางอำเภอเมืองภูเก็ตได้ปิดประกาศให้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่มือเปล่าให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ทำให้ชาวบ้านเข้าไปอาศัยเพิ่มมากขึ้น และอาศัยกันมาเป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว มีการทำถนน ขอไฟฟ้าเข้าพื้นที่ และตั้งเป็น “ชุมชนประชาสามัคคี” ขึ้นในปัจจุบัน
การเข้ามาสร้างที่อยู่อาศัย และทำกินของชาวบ้าน เป็นการใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นไปอย่างเปิดเผย มีการพัฒนาพื้นที่อย่างโจ่งแจ้ง มีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 300 ครัวเรือน บนเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ แต่เมื่อปี 2560 ชาวบ้านในพื้นที่ทราบว่ามีกลุ่มบุคคลอ้างว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินมรดก และได้มีการฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่เป็นเหตุให้ชาวบ้านเดือดร้อน และในวันที่ 7 ธ.ค.60 ศาลได้มีคำสั่งให้สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตโจทย์ที่อ้างสิทธิครอบครอง และชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้อง ร่วมกันชี้แนวเขตที่ดินเพื่อทำแผ่นที่พิพาทส่งให้กับทางศาล จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเนื่องจากขณะนี้ชาวบ้านกำลังได้รับความเดือดร้อน ซึ่งชาวบ้านต่างเชื่อว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินของรัฐ
อย่างไรก็ตามหลังจากรับหนังสือร้องเรียน นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า จะนำเรื่องนี้ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนกรณีการเข้าไปรังวัดที่ดินเพื่อทำแผ่นที่พิพาทตามคำสั่งศาลก็ต้องดำเนินการ ซึ่งเป็นการเข้าไปชี้แนวเขตในส่วนของโจทย์และจำเลยที่มีการฟ้องร้องกัน ส่วนปัญหาเรื่องที่ดินก็คงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
สำหรับที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ ก่อนหน้านี้มีการฟ้องร้องกันระหว่างชาวบ้านและผู้อ้างสิทธิ์ครอบครองที่ดิน ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาล และเมื่อปี 2548 ทางอำเภอได้เข้าไปติดป้ายประกาศให้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่มือเปล่าให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ต่อมาปี 2549 ผู้อ้างสิทธิครอบครอบที่ดินได้ฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ ซึ่งขณะนี้ศาลได้ตัดสินห้ามไม่ให้อำเภอและจังหวัดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าว
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 7 ธันวาคม 2560 นายนัทที ศรีบัณฑิต ทนายความฝ่ายโจทย์และ นายสุรกิจ รชตรมยกร นายช่างรังวัดชำนาญงานสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ได้ลงพื้นที่บริเวณ หมู่ที่ 2ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เพื่อรังวัดทำแผนที่พิพาทตามคำสั่งของศาล อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่ในครั้งนี้ไม่สามารถทำการรังวัดที่ดินได้ เนื่องจากชาวบ้านอ้างเหตุผลว่าจำเลย (ชาวบ้าน) ทั้ง 77 ราย ยังไม่ได้รับหมายนัดรังวัดมาก่อน จึงไม่สามารถระวังแนวเขตที่ดินของตนได้ มีเพียง 4 รายเท่านั้นที่ได้รับหนังสือดังกล่าว
โดยได้มีการมีการเจรจาระหว่างทนายฝ่ายโจทย์ (นายทุน) และ ทนายฝ่ายจำเลย (ชาวบ้าน) ใช้เวลาในการเจรจาประมาณ 1 ชั่วโมง ได้บทสรุปและมีการลงบันทึกถ้อยคำระหว่างทนายความทั้งสองฝ่าย กำหนดให้วันที่ 20 ธ.ค.60 ซึ่งเป็นวันที่ทั้งฝ่ายโจทย์และจำเลยต้องไปแถลงต่อศาล จะมีการกำหนดวันที่จะลงไปทำการรังวัดที่ดินใหม่อีกครั้ง
ด้าน นายสุรศักดิ์ ไถนาเพรียว ประธานหมู่บ้าน “ชุมชนประชาสามัคคี” กล่าวว่า สำหรับผลสรุปในวันนี้เนื่องจากจำเลย (ชาวบ้าน) ทั้งหมด 77 คน ได้รับหมายนัดรังวัดที่จะเข้ามารังวัดที่ดินไม่ครบ ทนายของทั้งสองสองฝ่ายจึงมีข้อตกลงกันว่าต้องมีการแจ้งให้จำเลย (ชาวบ้าน) ทั้งหมดได้รับทราบเรื่องการเข้ามารังวัดที่ดินก่อน โดยมีการทำหนังสือบันทึกถ้อยคำร่วมกันว่าในวันที่ 20 ธ.ค.60 ซึ่งเป็นวันที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องไปแถลงต่อศาล และจะมีการกำหนดวันที่จะเข้ามารังวัดที่ดินใหม่อีกครั้ง สำหรับผลการเจรจาที่ออกมาชาวบ้านก็มีความพอใจในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะมีการประชุมและปรึกษาหารือกับชาวบ้านอีกครั้งว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป