พ่อค้าแม่ขายหาดสุรินทร์ ทวงที่ทำกินหลังรอถึง 3 ปี
ชาวบ้านที่เคยประกอบอาชีพค้าขายบริเวณหาดสุรินทร์ร่วม 100 คน รวมตัวยื่นหนังสือ ขอให้อบต.เชิงทะเล เร่งจัดสรรที่ทำกินให้ หลังรัฐจัดระเบียบชายหาดมานาน 3 ปี แต่ยังไร้วีแววของสถานที่รองรับแห่งใหม่ ทั้งยังเรียกร้องให้ตรวจสอบ และแก้ปัญหาสารพัดในพื้นที่ เผยพบหลายหาดอนุรักษ์ฯ หลายหาดถูกร่มเตียงรุกเข้ายึดแล้ว
เมื่อเช้าวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560เวลา 9.30 น.ชาวบ้านหาดสุรินทร์ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ประมาณ 100 คน รวมตัวกันที่บริเวณหาดสุรินทร์ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เรียกร้องและยื่นหนังสือถึง นายกอบต.เชิงทะเล นายอำเภอถลาง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต อธิบดีกรมที่ดิน ให้แก้ปัญหาความเดือดร้อน ของชาวบ้านที่เคยประกอบอาชีพขายของและหาบเร่แผงลอย ที่หาดสุรินทร์ หลังจากจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบชายหาด และรื้อร้านค้าบริเวณชายหาดออกทั้งหมด ส่งผลให้ไม่มีที่ทำกิน
โดยมี นายเสกสันต์ ขาวสุด ปลัดอาวุโสอำเภอถลาง พ.ต.ท.ประสิทธิ์ ยอดทอง รอง ผกก.ป. สภ.เชิงทะเล พ.ท.สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม รอง ผบ.ร25 พัน 2 ชุดรักษาความสงบ จ.ภูเก็ต ประธานสภา อบต.เชิงทะเล กำนันผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ทาหาร ตำรวจ ทัพเรือภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันเจรจา รับเรื่อง
นายประดับ โกลิยานนท์ และ นายธีรเดช ก้องสิทธิเดช ชาวบ้านที่มารวมตัวยื่นหนังสือ กล่าวว่า การรวมตัวของชาวบ้านในครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้ อบต.เชิงทะเล จัดหาสถานที่ทำกินทดแทนหลังจากที่ทางจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งท้องถิ่นร่วมกันจัดระเบียบชายหาดและรื้ออาคารซึ่งทาง อบจ.สร้างไว้ให้ชาวบ้านใช้ประกอบอาชีพ รวมทั้งร้านค้าแผงลอย ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ขณะนี้ระยะเวลาล่วงเลยมา 3 ปี แล้วจึงอยากให้เร่งดำเนินการโดยด่วนเพราะชาวบ้านกำลังได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก สำหรับการยื่นหนังสือเรียกร้องในครั้งนี้ มี 12 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย
1. ให้นายกอบต.เชิงทะเลทำหนังสือรับรองถูกต้องตามกฎหมาย ยินยอมให้ค้าขายในที่สาธารณะได้,
2. ที่อ้างคสช.ให้จัดระเบียบชายหาด แต่กลับรื้อถอนร้านค้าชาวบ้าน ทำถูกต้องหรือไม่,
3. อาชีพหมอนวดของชาวบ้านให้มีไว้คงเดิม และจัดให้มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย,
4. จัดทำหลักเขตแผนที่ ที่ดิน 250 ไร่ให้ชัดเจน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474,
5. ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตทางน้ำและอุปกรณ์ช่วยชีวิตแก่นักท่องเที่ยว
6. ให้นายก อบต.เชิงทะเล จัดการสร้างห้องน้ำสาธารณะไว้อย่างน้อย 2 จุด บริการแก่นักท่องเที่ยวและชาวบ้านที่มาออกกำลังกาย
7. ไฟฟ้าชายหาดหรือสนามหญ้าต้องสว่าง เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและชาวบ้าน
8. สนามหญ้าต้องตกแต่งให้ดูสะอาดปลอดภัยตลอดทั้งปี
9. ตรวจสอบการสร้างสนามฟุตบอลที่หาดสุรินทร์
10 .การแก้ปัญหาร่มเตียงชายหาด สองมาตรฐานหรือไม่
11. ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ใบอนุญาตการก่อสร้างต่างๆ เช่น บ่อบำบัดน้ำเสีย ศาลาเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเที่ยว เขื่อนชายหาด และโรงแรม12.ถนนในหมู่บ้านหาดสุรินทร์ ชำรุดเสียหาย ใครรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตามสำหรับหาดสุรินทร์ หลังจากที่มีการจัดระเบียบชายหาด ได้กำหนดให้เป็นหาดเทิดพระเกียรติ ซึ่งห้ามให้ให้มีการบุกรุก หรือวางสิ่งของต่างๆแต่อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ไปตรวจสอบว่า บริเวณหาดสุรินทร์ฝั่งตรงข้ามถนนก่อนที่จะถึงชายหาดมีการตั้งร้านขายของจำนวนหลายร้านด้วยกัน ส่วนอีกฝั่งหนึ่งเป็นการตั้งร้าน แบบมีการตั้งโต๊ะเก้าอี้เพื่อให้นั่งได้ด้วย ส่วนอีกด้านก็มีการตั้งโต๊ะสำหรับขายน้ำผลไม้ รวมทั้งรถเข็น ซึ่งชาวบ้านมองว่าเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่สวยงามและไม่มีความเป็นระเบียบ จึงอยากให้มีการจัดสถานที่ที่เหมาะสมและจัดระเบียบให้เรียบร้อยเพื่อความสวยงามของชายหาด
ขณะที่ พ.ท.สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม รอง ผบ.ร.25 พัน 2 กล่าวว่า “ตามปกติแล้วทางทหารไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งหรือทำธุรกิจใดๆ บนพื้นที่ชายหาดสุรินทร์ เพราะชายหาดแห่งนี้ถูกกำหนดให้เป็นหาดเทิดพระเกียรติ และได้เจรจากับชาวบ้านและอะลุ่มอล่วยให้ย้ายเครื่องมือทำกินจากชายหาดขึ้นมายังบริเวณถนนเลียบหาดชั่วคราวก่อน เนื่องจากทางเทศบาลยังอยู่ในช่วงหาพื้นที่ให้กับชาวบ้านได้ทำมาหากิน ส่วนชาวบ้านกับ อบต.มีการตกลงกันอย่างไรตนไม่ทราบ และไม่เคยได้รับแจ้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในส่วนของตนก็มีหน้าที่ดูแลไม่ให้มีการกลับลงไปทำอาชีพบนชายหาดเท่านั้น”
อย่างที่ทราบในการจัดระเบียบชายหาดที่ภูเก็ตมีการแบ่งชายหาดออกเป็น 3 ประเภท คือ
1.หาดเทิดพระเกียรติ ซึ่งอยู่ที่หาดสุรินทร์
2 .หาดจัดระเบียบ โดยมีทั้งหมด 9 ชายหาด แบ่งพื้นที่จัดระเบียบออกเป็น ให้ตั้งร่มได้ 10 % และ
3.หาดอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 33 หาด เช่น กาดที่เกาะราชา หาดยะนุ้ย แหลมกา แหลมทราย ซึ่งหาดเหล่านี้พบว่ามีการบุกรุกเข้าไปวางร่ม เตียงแล้วเช่นกัน ทางจังหวัดจะมีการหารือเพื่อจัดระเบียบชายหาดเหล่านี้ในเร็วนี้