พ่อเมืองเปิดตลาดเกษตร ขายสับปะรดภูเก็ตมีQR

         ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดจุดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ยกระดับทั้งราคาและคุณภาพ เป็นช่องทางช่วยเหลือเกษตรกรอย่างยั่งยืน ใช้พื้นที่บริเวณพาณิชย์จังหวัด หัวมุมถนนหลวงพ่อ มีสับปะรดแท้ภูเก็ตมี QR Code รับรองคุณภาพ กับผักปลอดสารพิษขาย พร้อมเร่งผลักดันกลุ่มเลี้ยงแพะภูเก็ตสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน อย.พร้อมยกระดับ เตรียมส่งเสริมเป็นศูนย์การท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบครบวงจร

         เมื่อเช้าวันที่ 21 มิถุนายน 2560 เวลา 08.00 น. นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานในการเปิดจุดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวภูเก็ต ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ต อำเภอ เมือง จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายสนิท ศรีวิหค และ นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว ปลัดจังหวัดภูเก็ต, นายเดชา เพ็ชรวงศ์ พาณิชย์จังหวัดภูเก็ต, นายปารเมศ ทองปรีชา เกษตรจังหวัดภูเก็ต, หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยประชาชนผู้สนใจและเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเข้าร่วม

          ปัจจุบันภูเก็ตมีผลผลิตทางการเกษตร และที่สำคัญเป็นแหล่งรวมผลผลิตจากทั่วประเทศรวมทั้งต่างประเทศด้วย จากศักยภาพของตลาดสินค้าเกษตรและอาหารของจังหวัดภูเก็ต จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรชาวภูเก็ตจะมีช่องทางสร้างรายได้ โดยเน้นผลผลิตที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย และเป็นสินค้าเอกลักษณ์ มีบรรจุภัณฑ์และเครื่องหมายรับรองที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะการปิดป้ายเครื่องหมาย QR Code กับผลผลิตทางการเกษตรที่จำหน่ายซึ่งจะบอกที่มาและเรื่องราวของผลิตนั้นๆ ด้วย

          โอกาสนี้ นายนรภัทร กล่าวว่า เนื่องจากสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์การเกษตรของจังหวัดภูเก็ตส่วนหนึ่ง ยังขาดการบริหารจัดการในการเพิ่มมูลค่าสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐาน และสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์การเกษตร จะเป็นการยกระดับคุณภาพ และเพิ่มเกรดสินค้าเกษตรให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต ดังนั้นการจัดจุดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับเกษตรกร ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมกับหลากหลายหน่วยงานเช่น บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด (ภูเก็ต), ศูนย์การค้าไลม์ไลท์อเวนิวภูเก็ต และห้างบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาภูเก็ต โดยจะมีการสนับสนุนในเรื่องสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์การเกษตร ของเกษตรกรในพื้นที่

         ภายในงานมีการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เช่น สับปะรด พืชผักปลอดสารพิษ และผลิตภัณฑ์จากชุมชนต่างๆ, การแข่งขันพิสูจน์การกินสับปะรดภูเก็ตแท้ โดยจะมีการจัดสถานที่จำหน่ายผลผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจังหวัดจะเป็นการยกระดับคุณภาพสินค้า และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้แก่กลุ่มเกษตรกร ทำให้เกิดประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต

พ่อเมืองภูเก็ตเร่งผลักดันกลุ่มเลี้ยงแพะภูเก็ตสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์

เตรียมส่งเสริมเป็นศูนย์การท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบครบวงจร

         เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.60 นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นางสาวจันทนี ยุติบรรพ์ พัฒนาการจังหวัดภูเก็ต,นางบุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเดินทางไปเยี่ยม การดำเนินงานของชมรมแพะภูเก็ต ที่ มณีรัตน์ฟาร์มแพะ&โฮมสเตย์ หมู่ 3 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง โดยมี นายชาญณรงค์ ตันติชำนาญกุล หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดภูเก็ต, นายเกษม เชื้อสมัน ประธานชมรมชาวแพะภูเก็ตและสมาชิก ชมรมชาวแพะภูเก็ต ให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงานของ ชมรมชาวแพะภูเก็ต

         นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การมาเยี่ยม ชมรมชาวแพะภูเก็ต ในครั้งนี้เพื่อมารับทราบปัญหาและการดำเนินงานของชมรมแพะภูเก็ต เบื้องต้นจะช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่และช่วยผลักดันสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชมรมแพะภูเก็ตผ่านการรับรองอย.ให้ได้ และขณะนี้ มีเกษตรกรที่เลี้ยงแพะนม พันธุ์ภูเก็ตแล้วประมาณ 40 ราย กระจายอยู่ในตำบลป่าคลอก เทพกระษัตรี ไม้ขาว และเชิงทะเล อ.ถลาง เป็นส่วนใหญ่ และปัจจุบันฟาร์มเลี้ยงแพะของเกษตรกรได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเข้าไปซื้อนมแพะ ดูขั้นตอนการเลี้ยงแพะและรีดนมมากขึ้น ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตจะเข้าไปส่งเสริมให้ฟาร์มเลี้ยงแพะของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอถลาง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และจังหวัดภูเก็ตโดยจะพยายามผลักดันสนับสนุนให้ชมรมแพะภูเก็ตดำเนินการจัดทำศูนย์ฟาร์มแพะและการแปรรูปนมแพะของชุมชนอย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้ ท่องเที่ยว ชมกระบวนการผลิต ซื้อผลิตภัณฑ์จากแพะ ชิมอาหารเมนูจากแพะ ซึ่งจะสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับสมาชิกของชมรมชาวแพะภูเก็ตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

          ด้าน นายเกษม เชื้อสมัน ประธานชมรมชาวแพะภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า ชมรมชาวแพะภูเก็ต เกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จึงเกิดแนวคิดจัดสรรพื้นที่สวนยางเพื่อทำฟาร์มแพะ โดยในปัจจุบันมีสมาชิก 30 ราย เลี้ยงแพะ 1,200 ตัว สามารถผลิตเนื้อแพะดิบ น้ำนมแพะดิบ นมพร้อมดื่ม และเครื่องสำอางจากนมแพะ ส่งจำหน่ายในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทั้งนี้ ชมรมมีความต้องการ เพิ่มผลิตภัณฑ์สินค้านมแพะ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ และสามารถนำวัตถุดิบนมแพะที่มีอยู่ไปใช้ โดยสมาชิกประสบปัญหาการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมแพะที่ยังขาดการรับรองจาก อย. และขาดความรู้ในการเก็บรักษานมแพะดิบ ให้เก็บได้นานขึ้น เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ดังนั้นสมาชิกต้องการให้ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ให้การสนับสนุนการพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และให้ส่วนราชการสนับสนุนก่อสร้าง ศูนย์เรียนรู้เพื่อเก็บรวบรวมนมแพะดิบจากสมาชิกชมรมฯเพื่อนำไปสู่กระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆต่อไป