ภาครัฐประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง การปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
ภาครัฐประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง
การปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
เมื่อวันที่ 9 ก.ย.64 เวลา09.30 น. ที่ผ่านมา ห้องประชุมคอซิมบี้ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ประกอบด้วย พลอากาศเอกชนัท รัตนอุบล, นายปวิณ ชำนิประศาสน์ และนายแพทย์กรณ์ ปองจิตธรรม ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชนของจังหวัดภูเก็ต นำโดย นายพิเชษฐ์ ปาณะพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต, นายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต,นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต, นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้, นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เป็นต้นสำหรับประเด็นในการหารือ ประกอบด้วย
1.สถานการณ์และแนวทางการแก้ไขการระบาดโรคติดเชื้อโควิด 19 ของจังหวัดภูเก็ต
2.การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้แก่ชาวภูเก็ต
3.ปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก (บูติก) ที่ยังไม่ได้ปรับปรุงให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่สามารถประกอบกิจการได้
4.ปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการร้านอาหาร – เครื่องดื่ม ที่ไม่สามารถเปิดให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้
5.ปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการสถานบันเทิงป่าตอง
ทั้งนี้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของจังหวัดภูเก็ตว่า การแพร่ระบาดในปัจจุบันจะอยู่ในกลุ่มของคนในพื้นที่ และจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกทำให้ขณะนี้มีพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เฉลี่ยวันละ 200 คน ส่วนใหญ่กว่า 85% ไม่แสดงอาการ ส่วนของนักท่องเที่ยวที่มาในโครงการแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งตัวเลขขณะนี้จำนวนกว่า 29,600 คน พบติดเชื้อ 88 คน ถือว่าน้อยมากและส่วนใหญ่จะพบในวันแรกของการสวอป
ดังนั้น จึงเสนอให้ลดจำนวนครั้งจากเดิมสวอป 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง และขอให้พิจารณาปรับการคิดผู้เสี่ยงสูงที่นั่งมาในเครื่องบิน เพราะหลายคนต้องการจะมาเที่ยวแต่ต้องมาถูกกักตัว รวมไปถึงเรื่องของการทำประกันซึ่งไม่ครอบคลุมในส่วนของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนขณะนี้มีการเสนอขอวัคซีนเพื่อมาบูธเตอร์ในเข็มที่ 3 เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น
ในส่วนของผู้ประกอบการด้านที่พักบูติกได้นำเสนอปัญหาที่ทำให้ขาดโอกาสรับนักท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์ เนื่องจากขณะนี้ ม.44 ที่ยกเว้นให้กับโรงแรมบูติกสามารถดำเนินธุรกิจในลักษณะโรงแรมได้หมดอายุแล้ว เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ นอกจากนี้ยังไม่สามารถได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการฟื้นฟูต่างๆ จึงอยากให้ขยายระยะเวลาเพื่อให้โรงแรมเหล่านี้ได้ปรับตัวให้เข้ากับหลักเกณฑ์ออกไปอีกประมาณ 3 ปี ไม่ต่างจากผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่ต้องการให้มีการปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะขณะนี้เป็นปัญหาค่อนข้างมาก ทำให้ร้านอาหารและเครื่องดื่มจำนวนในแหล่งท่องเที่ยวยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ รวมไปถึงในส่วนของสถานบันเทิงต่างๆ ด้วย
อย่างไร ก็ตามทางคณะทำงานฯ กล่าวว่า จะรวบรวมปัญหาทั้งหมดเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันและแก้ปัญหาต่อไป โดยเฉพาะประเด็นที่ต้องนำเสนอส่วนกลาง แต่บางเรื่องที่เป็นประเด็นในพื้นที่อยากให้หน่วยที่เกี่ยวข้องไปพุดคุยและหาข้อสรุปเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการต่างๆ แล้วนำเสนอต่อไป