ภูเก็ตขอปกครองแบบพิเศษ รมว.ท่องเที่ยวเบรคหัวทิ่ม
ภาคเอกชนฝั่งอันดามันทั้งภูเก็ต พังงา กระบี่ เปิดเวทีถกปัญหาท่องเที่ยว ร่วมกับ รมว.ท่องเที่ยว เสนอถึงนายกรัฐมนตรีแก้ไข เพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืน สรุปมีแต่เรื่องเก่าๆ ค้างคา เกิดแล้วเกิดอีก ไม่ได้แก้ไขให้เป็นรูปธรรม ส่วนภูเก็ตขอปกครองรูปแบบพิเศษเลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว หวังดึงงบประมาณลงพื้นที่ให้สอดคล้องกับการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยว และพัฒนาของเมือง กลับถูกเบรกตั้งแต่เริ่มต้น บอกเป็นไปได้ยาก แนะให้ทำแผนพัฒนาท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ในลักษณะของ “Sand Box” น่าจะเป็นทางออกที่ดีในขณะนี้
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา นายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมหารือภาคเอกชน จ.ภูเก็ต และอันดามัน เรื่องเสนอปัญหาอุปสรรคและการแก้ไขเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมี นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พ.ต.ต.ธีระพล ทิพย์เจริญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นายสุรชัย ชัยวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต นางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย อดีตประธานกรรมาธิการการท่องเที่ยววุฒิสภา และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ อดีต ส.ส.ภูเก็ต นายกฤษฎา ตันสกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ นายประมุขพิสิฐ อัจฉริยะฉาย ประธานโรงแรมในเครือกะตะกรุ๊ป นายสรายุทธ์ มัลลัม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ภูเก็ต กระบี่ และพังงา เข้าร่วม ณ โรงแรมบียอน กะตะ รีสอร์ต
ทั้งนี้ เพื่อรับทราบนโยบายด้านการท่องเที่ยวจากรัฐมนตรีว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมไปถึงผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ นำเสนอปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว นำเสนอกับรัฐมนตรีฯเพื่อเสนอต่อไปยังนายกรัฐมนตรีในการแก้ปัญหา และพัฒนาการท่องเที่ยวของฝั่งอันดามันสู่ความยั่งยืน
ก่อนการประชุม นายเรวัต อารีรอบ อดีต ส.ส.ภูเก็ต ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านทาง นายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อผลักดันให้ภูเก็ตปกครองในรูปแบบพิเศษ โดยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าฯมาจากการคัดสรร จะทำให้การพัฒนาและการแก้ปัญหาต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าในปัจจุบัน รวมไปถึงภูเก็ตสามารถที่จะวางแผนการพัฒนา และวางแผนการจัดเก็บ และการใช้งบประมาณที่สอดคล้องกับสภาพของเมือง และสภาพปัญหาได้ดีกว่า
โดยเห็นว่า ขณะนี้ภูเก็ตมีการเติบโตทางการท่องเที่ยวแบบก้าวกระโดด งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรลงมาพัฒนาภูเก็ตนั้น ไม่เพียงพอในการพัฒนารองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี การให้ภูเก็ตปก ครองรูปแบบพิเศษ ลักษณะเดียวกับเมืองพัทยาหรือกรุงเทพมหานครนั้น จะช่วยให้การจัดสรรงบประมาณมาพัฒนาภูเก็ตได้ดีกว่าปัจจุบัน
ด้าน นางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย อดีตประธานกรรมาธิการการท่องเที่ยววุฒิสภา และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดภูเก็ต ได้นำเสนอให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวฯ ทราบว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวของภูเก็ตมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก โครงสร้างพื้นฐานที่ภูเก็ตมีอยู่ในขณะนี้ไม่เพียงพอ สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันกับจำนวนนักท่องเที่ยว จึงทำ ให้ภูเก็ตมีปัญหาสะสมจากการเติบโตด้านการท่องเที่ยวในหลายๆ มิติ
ทั้งๆ ที่ภูเก็ตและอันดามันสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ปีละมหาศาล แต่กลับไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลเท่าที่ควร การจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอกับการเติบโตของเมือง เพราะรัฐบาลไม่ได้มองว่าภูเก็ตทำเงินได้จำนวนมากจะต้องจัดสรรงบประมาณให้เป็นเงาตามตัว แต่กลับจัดสรรงบประมาณแบบปกติที่ใช้เหมือนกันทุกจังหวัด ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่ภูเก็ตน่าที่จะได้รับการยกเป็นเมืองพิเศษที่แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ เพื่อพัฒนาให้ทันกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทะลุ 16 ล้านคน ในขณะนี้
“จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากถึง 16 ล้านคนต่อปี เชื่อว่าหลายฝ่ายคงช็อคกับตัวเลขนี้ เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกที่ภูเก็ตมีอยู่ในขณะนี้ ไม่พร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวมากมายขนาดนั้น สิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็พลอยได้รับผลกระทบทั้งหมด” นายธันยรัศม์ กล่าวและว่า
ถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องยกให้ภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการนำเสนอต่อรัฐบาลมาแล้วก่อนหน้านี้แต่ไม่ได้รับการพิจารณาและผลักดันต่อ โดยให้ภูเก็ตเป็นโมเดลในการที่ใช้หลักพื้นที่ไหนทำรายได้ให้รัฐบาลสูง ก็จะต้องจัดสรรงบประมาณลงมาพัฒนาพื้นที่นั้นสูงตามรายได้ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สอดคล้อง และสอดรับกับสภาพพื้นที่นั้นๆ หากดูจากตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวในภูเก็ตและอันดามันคิดว่าพร้อมที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจเพื่อการท่องเที่ยว เพราะขณะนี้ภูเก็ตและอันดามันเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกไปแล้ว
ส่วน นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตโตแบบก้าวกระโดดและไร้ขาดการวางแผน ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่ม ไม่ได้กระจายสู่ชุมชนและประชาชนอย่างทั่วถึง ทำให้เกิดปัญหาด้านสังคมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้เพราะภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดเล็ก ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณ และบุคลากรจึงได้รับตามสภาพของพื้นที่ และประชากร จึงทำให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอกับสภาพความเป็นจริงของเมือง ดังนั้นโดยรวมคิดว่าการนำเทคโนโลยี่เข้ามาปรับใช้ในการบริหารและพัฒนาเมืองเป็นสิ่งที่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมหารือนัดนี้ ภาคเอกชนในภูเก็ต พังงา และกระบี่ ได้นำเสนอปัญหาเพื่อให้ทางรัฐมนตรีนำไปสู่การแก้ไขในหลายส่วนด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาค้างคาที่เกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ปัญหาการคมนาคม ปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดจากรถบัสรับส่งนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเสนอให้มีการลดภาษีนำเข้ารถโค้ช ปัญหานักท่องเที่ยวที่เข้ามามากโดยเฉพาะกลุ่มทัวร์จากจีน ในขณะนี้กลุ่มอื่นเข้ามาน้อยจากการจัดสล๊อตให้สายการบินลงที่ภูเก็ต ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ ปัญหาการเช่าที่วัดหลอกนักท่องเที่ยวจีนไปเช่าพระ และเครื่องรางในราคาแพงๆ เกินจริงหลายเท่าตัว ปัญหาน้ำท่วม ปัญหามัคคุเทศก์เถื่อน ปัญหาด้านความปลอดภัย ปัญหานักท่องเที่ยวจีนล้นเกาะสิมิลันโดยเสนอให้กรมอุทยานเพิ่มค่าธรรมเนียมให้สูงขึ้น เป็นต้น
นายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า จากการหารือร่วมกับภาคเอกชนในฝั่งอันดามัน ทั้งภูเก็ต พังงา และกระบี่ ทุกจังหวัด ต้องการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และอยากได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ แต่ปริมาณที่เข้ามาตอนนี้เกินกว่าความสามารถในการจัดการและรองรับของระบบสาธารณูปโภคที่มีอยู่ จากหลายๆ ปัญหา เช่น ปัญหาการจัดสล็อตเที่ยวบินจากต่างประเทศมาลงที่ภูเก็ตจำนวนมาก โดยไม่ถามถึงความพร้อมของพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาที่แก้ยังไงก็แก้ไม่หมด เป็นต้น
นายวีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาและการพัฒนาการท่องเที่ยวของภูเก็ต สู่ความยังยืนนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าจะต้องให้ภูเก็ตเป็นอะไรที่พิเศษกว่าพื้นที่อื่นๆ เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก สิ่งที่ภูเก็ตและอันดามันสามารถทำได้เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาคือ การทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นแผนที่เกิดจากความต้องการของคนภูเก็ต เพราะคนภูเก็ตเท่านั้นที่รู้ว่าภูเก็ตต้องการอะไร และเป็นแผนที่พัฒนาโดยคนภูเก็ต ในลักษณะเหมือนกับโครงการที่ครม.เห็นชอบให้จังหวัดขอนแก่น น่าน และพระนครศรีอยุธยา จัดทำระบบ Sand Box
โดยกำหนดพื้นที่ และจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่เสนอไปยังรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลสนับสนุน ลดหย่อนกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ซึ่งการจัดทำในลักษณะของ Sand Box น่าที่จะมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะทำในรูปแบบการปกครองพิเศษ หรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว และทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกๆ ฝ่ายอย่างต่อเนื่อง
ทางด้าน นายเรวัต อารีรอบ อดีตส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือแล้ว เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้รัฐบาลพิจาณาให้จังหวัดภูเก็ตเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษ เพราะจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว เพียบพร้อมด้วยศิลปวัฒนธรรมและมีสถาปัตยกรรมโดดเด่น อีกทั้งยังมีสนามบินนานาชาติที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลให้เกิดรายได้มหาศาล
แต่ปรากฏว่า การบริหารจัดการและการพัฒนาภายในจังหวัดเป็นไปอย่างไม่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะด้านงบประมาณที่นำมาพัฒนาจังหวัดในเรื่องการบริการสาธารณะเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ทันต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เช่น การที่ระบบราชการไม่สามารถสนับสนุนให้จังหวัดภูเก็ตเป็น เมดิคัลฮับ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่มีที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของอันดามัน มีท่าเทียบเรือประมาณ 38 แห่ง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการจะก่อสร้างศูนย์ประชุมและนิทรรศการนานาชาติ ที่ถึงแม้คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดนโยบายไว้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้
“จากการศึกษาพบว่า สาเหตุสำคัญมาจากรูปแบบการบริหารจัดการด้านงบประมาณที่ไม่สอดคล้อง และยังเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ผมและประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มนักธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต จึงขอให้รัฐบาลสั่งการไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยให้มีการยกร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษคล้ายกรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือมาจากการเปิดรับสมัครคัดเลือกแล้วจ้าง โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี หรือ 5 ปี ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพให้จังหวัดภูเก็ต เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการงบประมาณ อำนวยประโยชน์ด้านการบริการสาธารณะให้ทั่วถึงทุกชุมชนท้องถิ่น และเพื่อให้ทันต่อความต้องการของประชาชน และนักท่องเที่ยวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อันจะเกิดผลดีต่อระบบโดยรวมของประเทศอีกด้วย” นายเรวัต กล่าว