ภูเก็ตจัดกิจกรรมผู้ว่าฯพบสื่อมวลชน เร่งประชาสัมพันธ์แนวทางการนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นมรดกโลก
ภูเก็ตจัดกิจกรรมผู้ว่าฯพบสื่อมวลชน เร่งประชาสัมพันธ์แนวทางการนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นมรดกโลก
วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00-11.00 น. ณ ห้องประชุมมุขหน้า ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตในการแถลงข่าวตามโครงการประชาสัมพันธ์เผยแพร่นโยบายสำคัญ ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต (กิจกรรมผู้ว่าราชการจังหวัดพบสื่อมวลชนจังหวัดภูเก็ต) โดย นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฯ
โอกาสนี้ นายวัฒนพงษ์ สุกใส ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายสรศักดิ์ รณะนันทน์ ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ร่วมแถลงข่าว ความคืบหน้าการนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นมรดกโลก
สำหรับ แผนปฏิบัติงาน (Action Plan) เพื่อขับเคลื่อนการนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นมรดกโลก กำหนดแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) 4 คณะ ประกอบด้วย คณะทำงานด้านการดำเนินงานภายใต้กลไกการบริหารอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ คณะทำงานด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วม และคณะทำงานด้านการเสริมสร้างประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ รวมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานในพื้นที่ระดับจังหวัด อีก 3 คณะ ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต
ทั้งนี้การนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นมรดกโลก จะนำเสนอใยประเภทของแหล่งธรรมชาติ โดยพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน (พื้นที่นำเสนอ) ตั้งอยู่ในจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต ซึ่งประกอบด้วย 3 นิเวศภูมิภาค คือ (1) ป่าชายเลนและกลุ่มเกาะชายฝั่ง (จังหวัดระนอง) (2) หมู่เกาะทะเลลึก (จังหวัดพังงา) และ (3) ชายหาดและป่าสันทรายชายฝั่ง (จังหวัดพังงา และภูเก็ต) โดยครอบคลุมพื้นที่ 6 อุทยานแห่งชาติ (ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง แหลมสน หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน เขาลำปี – ท้ายเหมือง และสิรินาถ) ป่าชายเลนจังหวัดระนอง และพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนองขนาดพื้นที่รวม 290,800 เฮกตาร์ (1,817,500 ไร่) แบ่งเป็น พื้นที่นำเสนอ 115,955 เฮกตาร์ (724,718.75 ไร่) และพื้นที่กันชน 174,845 เฮกตาร์ (1,092,781.25 ไร่)เกณฑ์สำหรับนำเสนอแหล่งมรดกทางธรรมชาติ พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก จำนวน 3 ข้อ ดังนี้
เกณฑ์ข้อที่ 7 : เป็นแหล่งที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่นเห็นได้ชัด หรือเป็นพื้นที่ที่มีความงามตามธรรมชาติหาพื้นที่อื่นเปรียบเทียบไม่ได้
เกณฑ์ข้อที่ 9 : เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงกระบวนการนิเวศวิทยาและชีววิทยา ซึ่งก่อให้เกิดและมีพัฒนาการของระบบนิเวศทางบก หรือระบบนิเวศน้ำจืด หรือระบบนิเวศชายฝั่งและทางทะเล และสังคมสัตว์และพืช
เกณฑ์ข้อที่ 10 : เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือ ชนิดพันธุ์สัตว์
โดยหลังจากนี้คณะทำงานจะร่วมกันจัดทำข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมการขับเคลื่อนการนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นมรดกโลกต่อไป