ภูเก็ตประกาศชัดดีเดย์ เลิกใช้โฟม-ถุงพลาสติก

        กลุ่มผู้ประกอบการทุกประเภทในจังหวัดภูเก็ต รวมพลังจับมือกันประกาศชัด No Foam & No Plastic เลิกการใช้โฟม และถุงพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมลงนาม MOU กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จับมือปฏิบัติจริงจัง เป็นการเดินหน้าพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยปัจจุบันภูเก็ตอยู่ได้เพราะธุรกิจท่องเที่ยว ดีเดย์ลิกใช้โฟมเด็ดขาด วันวาเลนไทน์ 14 กุมภา 62 ส่วนถุงพลาสติก เริ่ม 1 ตุลา 62 รวมทั้งหลอดดูดพลาสติก ให้ใช้ถุงผ้า และถุงกระดาษแทน ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

         เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่องในจังหวัดภูเก็ต ได้ผนึกกำลังจัดงานสัมมนา “Phuket Sustainable Tourism Blue Print 2018” ที่โรงแรมเกรซแลนด์รีสอร์ทแอนด์สปา ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับ นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต นายสรายุทธ มัลลัม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ นางสาวเชิญพร กาญจนสาย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต นางศลิษา ลิ่มสกุล นายกสมาคมโรงแรมหาดป่าตอง ผู้แทนหอการค้าจังหวัดภูเก็ต สมาคมโรงแรมจังหวัดภูเก็ต สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมหาดกะตะกะรน ขณะเดียวกันก็ได้มีการลงนาม MOU ประกาศเจตนารมณ์ระหว่างภาคธุรกิจท่องเที่ยว ภาคธุรกิจค้าปลีก และองค์กรปกครองท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต เรื่องการขับเคลื่อนแผนแม่บทการท่องเที่ยวยั่งยืน และรับผิดชอบต่อสังคม ว่าด้วยการลด และงดการใช้โฟม รวมทั้งถุงพลาสติกในจังหวัดภูเก็ต

         ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดภูเก็ต แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน จึงเป็นแนวทางการพัฒนาที่สำคัญในการนำมาปฏิบัติ เพื่อการส่งต่อของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากรุ่นสู่รุ่น และสร้างการกระจายรายได้ให้ทุกภาคส่วนในจังหวัดภูเก็ต ดังนั้น จึงได้ร่วมกันระดมสมองในการจัดทำแผนแม่บทการท่องเที่ยวยั่งยืนจังหวัดภูเก็ต โดยได้วางแนวทางและกรอบเวลาในการสรรหาความร่วมมือจากองค์กรภาคราชการ องค์กรส่วนท่องถิ่นและภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทไปสู่แผนปฏิบัติการณ์ร่วมกัน

         ประเด็นสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนประกอบได้ด้วยยุทธศาสตร์ SCG โดย S จำกัดความถึง Safe & Smart, C จำกัดความถึง Clean & Convenience   และ G จำกัดความถึง Green & Global Standard สิ่งที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิบัติโดยพร้อมกันทั้งจังหวัดในปัจจุบันคือ Clean & Green ซึ่งเป็นความท้าทายต่อความยั่งยืนต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก และเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องและเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน  ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิมาปาฐกถาพิเศษภายในงาน

         โดย นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษ เรื่อง Roadmap to Phuket Tourism Sustainable  “เมื่อท่านรักต่อสิ่งใด ท่านจะทะนุถนอมต่อสิ่งนั้น ดังนั้น ผมจึงทำโครงการ “We Love Phuket” เมืองนี้ที่ฉันรัก ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ น่าหลงใหล ถ้าเราจะต้องทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจ ความสะดวก สบาย ปลอดภัย ต้องมาเป็นอันดับแรก เราต้องช่วยกันดูแลนักท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคน เพื่อให้กลับมาใหม่ วันนี้ ผมดีใจที่ได้เห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จากการพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยกันดูแลโลกใบนี้ ด้วยการช่วยรณรงค์ปลอดโฟม และพลาสติคอย่างยั่งยืน”

         ด้าน นายธวัชชัย อรัญญิก อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “today for better tomorrow” ด้วย can do เราต้องทำ Priority Setting จัดลำดับความสำคัญ New Thinking คิดใหม่ทำใหม่ Challenge ความท้าทาย

         ขณะที่ นายโสภณ ทองดี  รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เมื่อทะเลพูดความจริง” จากทะเลถึงชายป่าคนพึ่งพาและผูกพัน”……”ในอดีตที่ผ่านมาทะเลไทยสวยใสติดอันดับโลก  สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศชาติปีละหลายแสนล้านบาท วันแล้ว วันเล่า ที่พวกเราตักตวงความสุขจากทะเล โดยมิได้เฉลียวใจเลยสักนิดว่าบัดนี้ทะเลไทย หม้อข้าวใบใหญ่ใบนี้ ชำรุดทรุดโทรมไปสักเพียงใด หาดทรายที่เคยขาว ปลาดาวที่เคยสวย ปะการังที่เคยช่วยเสริมเติมแต่งให้ทุกแห่งเหมือนป่าใต้น้ำ เสื่อมซ้ำดำทรุดไปด้วยน้ำมือเรา ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนจะกลับมาร่วมกันรักษาทะเลให้สวยงามดังเดิม สักวันที่ทะเลวิกฤติจนสุดจะเยียวยา เมื่อวันนั้นมาถึง คนกับทะเลก็คงไม่มีใครชอกช้ำ น้อยไปกว่ากัน”

         ส่วน นายนิธิ รักแต่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ วงษ์พาณิชย์ ภูเก็ต บรรยายเรื่อง “Before Reuse, we should rethink” กับวลีเด็ด 1. คุณต้อง in พอที่จะทำ 2. Rethink อย่างเดียวที่จะทำให้ขยะลดได้จริง 3. ขยะเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน การดื่ม การกิน การขับถ่าย การใช้วัสดุต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น เราเริ่มได้เลย วันนี้ เดี๋ยวนี้ ทำได้จริง

         ด้าน นางสาววิยะดา  โค้วศานติ  ศิลปินผู้เสกสรรประติมากรรมจากขยะใต้ทะเล บรรยายเรื่อง “Art from the Sea”  “ทุกครั้งที่ฉันเดินไปตามชายหาด ฉันมักพบขยะที่ถูกพัดขึ้นฝั่ง เช่น เศษแก้ว อวนจับปลา เชือก และขยะพลาสติกทุกชนิดทั้งหมดมันจะไม่ย่อยสลาย ถ้าเรารีไซเคิลมันด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพื่อทำของที่ระลึก และทำเป็นของใช้ประโยชน์ได้ เราสามารถลดเศษขยะทางทะเลเหล่านี้ได้ การซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ สามารถสอนเด็กๆ และผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมของเรามากขึ้น และใช้สิ่งเหล่านั้นด้วยความรัก

         ขณะที่ นายอมฤต ศิริพรจุฑากล   ที่ปรึกษาประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ บรรยายเรื่อง “Andaman Go Green”   “ถ้าจะถามถึง Green ต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน สำคัญที่สุดคือเรื่องของมนุษย์ ใจที่บริสุทธิ์ ตั้งใจทำจริง ไม่ใช่แค่พูด สร้างภาพ จะไม่ยั่งยืน ทุกสิ่งอย่างต้องเริ่มที่ตัวเรา เป็นเรื่องของชุมชน เกษตร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ชีวิต ต้องนำมาใช้ ถ้าเราละเลยเมื่อไร สิ่งที่คิดที่ฝันจะไม่สำเร็จ”

         ด้าน นายรังสิมันตุ์ กิ่งแก้ว อุปนายกฝ่ายแผนพัฒนาการท่องเที่ยวสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต บรรยายเรื่อง “Carrying  Capacity : ทางออกท่องเที่ยวภูเก็ต”  “การเติบโตของการท่องเที่ยว ย่อมทำให้คนในสังคมส่วนหนึ่งมีฐานะที่ดีขึ้น แต่คนภูเก็ตโดยทั่วไปมีความสุขมากขึ้นหรือไม่ ผมว่าหลายคนอาจจะไม่แน่ใจ เพราะการท่องเที่ยวนอกจากจะสร้างรายได้ ซึ่งเป็นผลในเชิงบวกแล้ว ก็ได้ทิ้งผลกระทบในเชิงลบไว้ไม่น้อยเช่นเดียวกัน เราควรจะหาทาง “เฉลี่ยสุข” ให้ทุกคนในสังคม พร้อมๆ กับการวางแผน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว”

         นอกจากนั้น ภายในงานได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ และการประกาศเจตนารมย์ระหว่างภาคธุรกิจท่องเที่ยว ภาคธุรกิจค้าปลีก และองค์กรปกครองท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต เรื่องการขับเคลื่อนแผนแม่บทการท่องเที่ยวยั่งยืน และรับผิดชอบต่อสังคม ว่าด้วยการลดและงดการใช้โฟมและถุงพลาสติกในจังหวัดภูเก็ต  มีรายละเอียดดังนี้

         ภารกิจภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

         – องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเจตนารมณ์ในการพิจารณาออกระเบียบ มาตรการ หรือข้อกำหนดท้องถิ่นในการให้ร้านค้า และประชาชน และประชาชน รวมถึงรณรงค์อย่างจริงจังในการงดใช้โฟมบรรจุอาหาร โดยมีผลในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป

        –  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเจตนารมณ์ในการพิจารณาออกระเบียบ มาตรการ หรือข้อกำหนดท้องถิ่น รวมถึงรณรงค์อย่างจริงจังในการให้ร้านค้า และประชาชนงดใช้ถุงพลาสติก และรณรงค์ให้ร้านค้า และประชาชนใช้ถึงผ้า หรือถุงกระดาษ โดยให้มีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

         ภารกิจภายใต้การกำกับดูแลของภาคธุรกิจค้าปลีก

         – ภาคธุรกิจค้าปลีก จะงดใช้โฟมบรรจุอาหาร และในบรรจุภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายโดยเด็ดขาด และมีผลในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป

         – ภาคธุรกิจค้าปลีก จะงดใช้บริการถุงพลาสติคให้กับลูกค้า โดยจะเปลี่ยนมาเป็นถุงกระดาษ หรือถุงพลาสติคย่อยสลายได้ โดยคิดมูลค่ากับลูกค้า ให้มีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

         – ภาคธุรกิจค้าปลีก จะงดใช้บริการหลอดพลาสติค โดยจะเปลี่ยนวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุทดแทนที่ไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

         ภารกิจภายใต้การกับการดูแลของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         – ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะงดใช้โฟมบรรจุอาหาร และในบรรจุภัณฑ์ที่จัดจำหน่าย และจะไม่สนับสนุนคู่ค้าที่ใช้โฟมในผลิตภัณฑ์ด้านอาหารทุกประเภทโดยเด็ดขาด และมีผลในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป

         – ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะงดให้บริการถุงพลาสติกให้กับลูกค้า โดยจะเปลี่ยนเป็นถุงกระดาษ หรือถุงพลาสติกย่อยสลายได้ โดยคิดมูลค่ากับลูกค้า และจำไม่สนับสนุนคู่ค้าที่ใช้ถุงพลาสติกโดยเด็ดขาด และมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

         – ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะงดให้บริการหลอดพลาสติก โดยจะเปลี่ยนเป็นวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุทดแทนที่ไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป และได้เชิญผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่สามารถทดแทนการใช้โฟม และพลาสติกมาแนะนำสินค้าอีกด้วย