ภูเก็ตปรับตัวรับสถานการณ์โควิด19 พร้อมจับมือกับประเทศ รัสเซีย อินเดีย มาเลเซีย เพื่อเจรจาการค้าธุรกิจ Online Business Matching Andaman Bazaar (Phuket Meet and Match 2021) คาดว่ามูลค่าทางการค้าไม่ต่ำกว่า 120 ล้านบาท
ภูเก็ตปรับตัวรับสถานการณ์โควิด19 พร้อมจับมือกับประเทศ รัสเซีย อินเดีย มาเลเซีย
เพื่อเจรจาการค้าธุรกิจ Online Business Matching Andaman Bazaar (Phuket Meet and Match 2021)
คาดว่ามูลค่าทางการค้าไม่ต่ำกว่า 120 ล้านบาท
วันที่ 23พ.ย.64 เวลา 08.30 น. ที่ผ่านมา ณ ห้องแกรนด์บอลรูม 2 โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงานการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจAndaman Bazaar Online Business Matching (Phuket Meet and Match 2021) ตามโครงการเจรจาเชื่อมโยงตลาดสินค้าหมอนยางพารา ไม้ยางพารา รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและความงามเกี่ยวเนื่องภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมี นางสาวเปรมนีย์ ทรัพย์โชคไชย พาณิชย์จังหวัดภูเก็ต นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมผ่านระบบซูมประกอบด้วย นายวันชัย วราวิทย์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ และ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ร่วมในครั้งนี้
นางสาวเปรมนีย์ ทรัพย์โชคไชย พาณิชย์จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานการค้าในต่างประเทศ ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย ณ กรุงมอสโก สาธารณรัฐอินเดีย ณ กรุงนิวเดลี เมืองมุมไบ และ เมืองเจนไน และ ประเทศมาเลเซีย ณ เมืองกัวลาลัมเปอร์ จัดทำโครงการเจรจาเชื่อมโยงตลาดสินค้ายางพารา ไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องภาคใต้ ภายใต้กิจกรรมการเจรจาธุรกิจ (Online Business Matching เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าในการขยายตลาดและเป็นการส่งเสริมสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ประกอบการสินค้ายางพารา ไม้ยางพารา ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนสินค้าอัตลักษณ์ สินค้าชุมชนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ไปยังตลาดต่างประเทศ ผ่านระบบออนไลน์
สำหรับ การจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ Andaman Bazaar Online Business Matching (PhuketMeet and Match 2021) จังหวัดภูเก็ต ในครั้งนี้ มี ผู้ประกอบการจังหวัดภูเก็ตที่มีศักยภาพในการส่งออกเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 10 ราย ผู้ประกอบการนำเข้า จำนวน 16 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ สหพันธรัฐรัสเซีย 2 ราย ผู้ประกอบการสาธารณรัฐอินเดีย 12 ราย และ ผู้ประกอบการประเทศมาเลเซีย 2 ราย มีการจับคู่เจรจาธุรกิจ 32 คู่เจรจา คาดว่า จะเกิดมูลค่าการเจรจาธุรกิจ ประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 10 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการสินค้ายางพารา จำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท วงษ์บัณฑิต จำกัด บริษัท เกรท โกลฟ (ไทยแลนด์) จำกัดบริษัท ขวัญอันดามันลาเท็กซ์ จำกัด บริษัท จูน ลาเท็กซ์ จำกัด และบริษัทฉลองลาเท็กซ์ จำกัด ส่วนผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา จำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท เอเชี่ยนเทรล จำกัด โรงแรมดูสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต โรงแรม เพิร์ล ภูเก็ต ชุมชนท่องเที่ยวบ้านบางโรง และชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่า รวมทั้ง สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB)
ส่วนการจัดงานระหว่างวันที่ 23-24 พ.ย.64 โดยในวันที่ 23 พ.ย.64 เจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการ สหพันธรัฐรัสเซีย จำนวน 2 ราย โดยจับคู่จรจาสินค้าหมอนยางพาราและที่นอนยางพารา 7 คู่เจรจา ส่วนวันที่ 24 พ.ย.64 มีการจับคู่เจรจาธุรกิจ 2 ประเทศ ได้แก่ ผู้ประกอบการสาธารณรัฐอินเดีย จำนวน 12 ราย จับคู่เจรจาสินค้ายางธรรมชาติ 3 คู่เจรจา จับคู่เจรจาธุรกิจท่องเที่ยว 19 คู่เจรจา และผู้ประกอบการนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ได้ให้ความเจรจาธุรกิจเพิ่มเติม จำนวน 2 ราย จับคู่เจรจาสินค้าหมอนยางพาราและที่นอนยางพาราเจรจาและยางธรรมชาติ 1 คู่เจรจา ซึ่งการจัดกิจกรรมการเจรจาธุรกิจออนไลน์ในวันนี้ ยังมีการจัดแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์จากยางพารา และสินค้าอัตลักษณ์ที่เข้าร่วมโครงการให้ทุกท่านได้เยี่ยมชม เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าเด่นของจังหวัดภูเก็ตที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการส่งออกไปยังต่างประเทศต่อไป
ทางด้าน นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตที่ผ่านมา พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เมื่อท่องเที่ยวได้รับผลกระทบทำให้เศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ตถดถอย การเดินทางติดต่อทางธุรกิจระหว่างประเทศยังคงมีอุปสรรคและมีเงื่อนไขต่างๆ การประกอบธุรกิจจึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมาในรูปแบบออนไลน์และผ่านช่องทางE-Commerce และการเจรจาธุรกิจการค้าในรูปแบบ online business matching มากขึ้น เพื่อลดการเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินการตามแผนโครงการ “แซนด์บ็อกซ์” หรือ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วสามารถเข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัวและตามนโยบายเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 30 ซึ่งหมายถึงทุกภาคส่วนธุรกิจและประชาชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตจะกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง