มข.-ม.อ.-มช. จับมือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” ครั้งที่ 5 ยกระดับมหาวิทยาลัย ขยายผลสู่การพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เจ้าภาพจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 4 – 5 ตุลาคม 2562 ณ ห้องประชุมดวงชนก โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เพื่อการพัฒนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สนับสนุนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาตามพันธกิจและยุทธศาสตร์ของทั้งสามมหาวิทยาลัย สามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์เพื่อการพัฒนาตามบริบทได้อย่างเหมาะสม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 400 คน
วันที่ 4 ตุลาคม 2562 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมดวงชนก โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท ป่าตอง พิธีเปิดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “3 พลังเพื่อแผ่นดิน”ครั้งที่ 5 โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้เกียรติกล่าวเปิดงานฯ พร้อม รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต กล่าวต้อนรับและการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การบริหารมหาวิทยาลัยภายใต้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” รวมถึง ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมร่วมพิธีลงนามทำความร่วมมือทั้ง 3 สถาบัน อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าว โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ.-มช. 3 พลังเพื่อแผ่นดิน ครั้งที่ 5 เป็นเวลาหลายปีที่ 3 สถาบันได้จัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นประเพณีทุกปี เพื่อการขับเคลื่อนองค์กร และเพื่อการพัฒนาแบบก้าวกระโดด พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยทั้ง 3 มหาวิทยาลัยมีบทบาทหลัก ในการเป็นต้นแบบของการพัฒนาด้านต่าง ๆ มีผลการปฏิบัติงานและผลผลิตที่มีคุณภาพ มีการบูรณาการเครื่องมือบริหารจัดการแนวใหม่ ซึ่งในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ.-มช. 3 พลังเพื่อแผ่นดิน ประจำปี 2562 ได้จัดขึ้นเป็น ครั้งที่ 5 และได้รับความสนับสนุนความร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยที่ประสบผลสำเร็จ
ส่วนทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ในนามคณะกรรมการอำนวยการจัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ.-มช. 3 พลังเพื่อแผ่นดิน ครั้งที่ 5 ในนามชาว ม.อ.และชาวจังหวัดภูเก็ต ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจมาร่วมงาน โดยโครงการนี้เริ่มต้นในปี พ.ศ.2553 เป็นความร่วมมือของ ม.ขอนแก่น และ ม.อ. ปี 2558 ม.เชียงใหม่ เข้าร่วม จึงเกิดเป็นโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ.-มช. 3 พลังเพื่อแผ่นดิน
สำหรับ วัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้มีการสานสร้างความร่วมมือพัฒนาร่วมกัน ให้เกิดเป็นรูปธรรม มีข้อตกลงจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันปีละ 1 ครั้ง การมาจัดงานที่ภูเก็ต ในฐานะเจ้าของบ้าน จึงมีโอกาสนำทีมงานมาดูแลต้อนรับทุกท่าน ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากท่าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาเป็นองค์ปาฐกพิเศษ หัวข้อ “การบริหารมหาวิทยาลัยภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ได้รับความสนใจจากทั้ง 3 สถาบัน ส่งบุคลากรเข้าร่วมโครงการรวมจำนวน 508 คน ซึ่งมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา มีการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน แบบครอบคลุมตามหัวข้อ ทั้งหมด 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.ด้านการเรียนการสอน Life Long Learning (Credit Bank) 2.ด้านการวิจัย การปรับระบบการวิจัยของมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการจัดสรรทุนวิจัยของประเทศรูปแบบใหม่ 3.ด้านการบริการวิชาการ การบริการวิชาการที่มีผลกระทบสูง(การสร้างผลงานจากการบริการฯ เพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ) 4.ด้านการบริหารจัดการ Digital University (Smart office,Digital transformation,Big data) 5.ด้านทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม Cultural Economy เศรษฐศาสตร์เชิงวัฒนธรรม 6.ด้านการพัฒนานักศึกษา Smart Student 7.หัวข้อ Start Up
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อนวัตกรรมและสังคม ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ และเป็นกลไกหลักในการพัฒนาภาคใต้และประเทศ มุ่งสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำ 1 ใน 5 ของอาเชียน โดยสร้างความเป็นผู้นําทางวิชาการและนวัตกรรม โดยมีการวิจัยเป็นฐาน เชื่อมโยงสู่สังคมและเครือข่ายสากลสร้างบัณฑิตที่มีสมรรถนะทางวิชาการและวิชาชีพ ซื่อสัตย์ มีวินัย ใฝ่ปัญญา จิตสาธารณะและทักษะในศตวรรษที่ 21 สามารถประยุกต์ความรู้บนพื้นฐานประสบการณ์จากการปฏิบัติ และพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นสังคมฐานความรู้บนพื้นฐานพหุวัฒนธรรม และหลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ผู้ใฝ่รู้ได้มีโอกาสเข้าถึงความรู้ได้อย่างหลากหลายรูปแบบ รวมถึงกลยุทธ์การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือกับกลุ่มเป้าหมายสำคัญโดยเฉพาะความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศในระดับภูมิภาค อาทิ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่