มอบทุนการศึกษาและเงินช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในจังหวัดภูเก็ตที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 155 ทุน
มอบทุนการศึกษาและเงินช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในจังหวัดภูเก็ตที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 155 ทุน
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ที่ห้องประชุมชั้น 3 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย และประธาน โครงการ กสศ.ภูเก็ต และ นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ร่วมมอบทุนการศึกษาและเงินช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในจังหวัดภูเก็ตที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 155 ทุน โดยเป็นทุนการศึกษาที่ได้รับการสนับทุนจากองค์กรและมูลนิธิต่างๆ ได้แก่ กองทุนเสมอภาคทางด้านการศึกษา (กสศ.) จังหวัดภูเก็ต, มูลนิธิ แองเจิลส์ วิงส์ ฟาวน์เดชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล โดย “ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ไซม่อน” อดีตนางสาวไทยและมิสยูนิเวิร์ส และมูลนิธิบุญรอด -เอกพจน์ วานิช
นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย และประธานโครงการ กสศ ภูเก็ต กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องตกงาน และประสบกับภาวะที่เรียกว่า จนแบบเฉียบพลัน จากการเก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต พบว่าหลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 รายได้ต่อหัวต่อเดือนเหลือเพียง 1,961 บาท ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานคนจนของประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ 3,000 บาท ถือเป็นเรื่องที่สาหัสมาก และปัญหาดังกล่าวไม่ได้กระทบเฉพาะการดำรงชีพเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงการศึกษาของบุตรหลานด้วย
เนื่องจากมีเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา และจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่เสี่ยงจะต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากไม่มีค่าเล่าเรียน เบื้องต้นทางสมาคมฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ เพื่อให้ได้ศึกษาต่อ เพราะพบว่าส่วนหนึ่งสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในคณะและสถาบันที่มีชื่อเสียง เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น ส่วนที่ไม่ศึกษาต่อแต่ต้องการงานทำ ได้มีการประสานงานไปยังเครือข่ายต่างๆ เช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น เพื่ออบรมวิชาชีพสำหรับการหารายได้เลี้ยงครอบครัวอีกด้วย
“จากการลงสำรวจของทีม กสศ.ภูเก็ต ในช่วงที่ 6 เดือนที่ผ่านมา ได้ให้การช่วยเหลือไปแล้ว 500 ราย และกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการช่วยเหลืออีก 350 ราย แต่ขณะนี้ยังมีผู้ปกครองที่ร้องขอความช่วยเหลือเข้ามาอีกจำนวนมาก จึงพยายามติดต่อไปยังหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เพื่อหาทุนมาสนับสนุนเพิ่มเติม ทั้งทุนการศึกษา และการฝึกอาชีพ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะมีจำนวนมากจริงๆ”
นางอัญชลี กล่าวต่ออีกว่า นอกจากที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังพบปัญหาการเรียนออนไลน์ของเด็กๆ ซึ่งพบว่า จากเดิมที่เป็นเด็กเรียนดีมีเกรดเฉลี่ยที่สูงมาก แต่เมื่อเรียนออนไลน์ต่ำลงเห็นได้ชัดเจน สอบถามทราบว่า ขาดอุปกรณ์ในการเรียน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือหรืออินเตอร์เน็ต เพราะบางบ้านมีลูกหลายคนซึ่งเรื่องนี้ได้สะท้อนปัญหาและเสนอแนวทางในการแก้ไขไปยัง อบจ.ภูเก็ตแล้ว เพื่อให้หาแนวทางการแก้ไข โดยเสนอให้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือให้เด็กได้มีที่เรียน โดยการนำครูของโรงเรียนในสังกัด อบจ.ภูเก็ตมาช่วยดูแลและเสริมความรู้ให้กับเด็กๆ ที่ขาดโอกาสเหล่านั้น
ขณะที่นักเรียนนักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษา ต่างรู้สึกดีใจและขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกท่านที่เมตตาให้โอกาสสนับสนุนทุนการศึกษา และจะนำทุนการศึกษาที่ได้รับไปทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการศึกษา และจะตั้งใจเรียน เพื่อจบออกมาจะได้ประกอบอาชีพตามที่ตั้งใจไว้ รวมทั้งจะเป็นคนดีของสังคมด้วย