มอ.ภูเก็ต ชี้ผลงานวิจัยด้านการบริการและการท่องเที่ยว ปี 2020 คือ จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจภูเก็ต
มอ.ภูเก็ต ชี้ผลงานวิจัยด้านการบริการและการท่องเที่ยว
ปี 2020 คือ จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจภูเก็ต
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ณ ห้อง 5103 ชั้น1 อาคาร5A มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ตั้งแต่เวลา 13.30 น.ที่ผ่านมา ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว ได้แถลงข่าว ภายใต้หัวข้อ “2020 จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจภูเก็ต“ เกี่ยวกับทางด้านฝ่่ายวิจัยคณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบสัญญาณว่า เศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตกำลังจะเปลี่ยนไป ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต มีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยถึงร้อยละ 6.67 ต่อปี ซึ่งภาคการท่องเที่ยวคือเครื่องยนต์หลักที่ขับคลื่อนการขยายตัวดังกล่าว แต่การขยายตัวดังกล่าวเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวตั้งแต่ปี 2017
ในปีนี้2019 คือ ปีที่หลายภาคส่วนเริ่มสัมผัสได้ถึงภาวะชะลอตัวแต่ภาวะการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างที่หลายคนเข้าใจกันจากข้อมูลจำนวนผู้โดยสาร ณ จากท่าอากาศยาน ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2019 มาจนถึงปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้โดยสารขาเข้าจังหวัดภูเก็ตโดยเฉลี่ยนั้นจริง ๆ แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากในปี2561 แต่ผลสำรวจล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าผู้ประกอบการภาคบริการและการท่องเที่ยวในเขตภาคใต้ สะท้อนความเห็นว่าพวกเขามีผลประกอบการลดลงหากเทียบกับปี 2018 โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 อีกทั้งยอดเบิกเกินวงเงินของภาคธุรกิจ (O/D) ในจังหวัดภูเก็ตที่ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.27 โดยไตรมาสที่ 3 ยอด O/D ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ความต้องการแรงงานในช่วงเวลาเดียวกันลดลงกว่าร้อยละ 24.5 ซึ่งตัวชี้วัดข้างต้นก่อให้เกิดคำถามถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะการณ์ชะงักงันทางธุรกิจของจังหวัดภูเก็ต คาดว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ
ค่าเงินบาทกระทบความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจการบริการและการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อแทบทุกสกุลเงิน หากพิจารณาสกุลเงินของนักท่องเที่ยวหลักในจังหวัดภูเก็ต พบว่าการแข็งค่าของค่าเงินบาท ทำให้อำนาจการซื้อของนักท่องเที่ยวจีนลดลง ถึงร้อยละ 21 หากเทียบกับ 5 ปีก่อน, อำนาจการซื้อของนักท่องเที่ยวยุโรปลดลงถึงร้อยละ 23 โดยสินค้าและบริการที่เคยถูกมองว่าราคาถูก สำหรับนักท่องเที่ยวเมื่อ 5 ปีก่อนตอนนี้อาจมีมูลค่าสูงกว่าประเทศอื่นหรือแม้กระทั่งแพงกว่าที่ประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวเอง ยกตัวอย่างเช่น ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันสตาบัคส์ ลาเต้ ขนาดเล็ก 1 แก้ว ในป่าตองนักท่องเที่ยวต้องจ่าย 4.02 Euro ในปัจจุบันซึ่งมีราคาสูงกว่าสตาบัคส์ ลาเต้ ขนาดเล็ก 1 แก้ว ณ กรุงเบอร์ลินที่มีราคาเพียงแค่ 3.97 Euro เท่านั้น
ส่วนอำนาจการซื้อที่ลดลงดังกล่าวส่งผลในวงกว้างแม้กระทั่งสินค้าระดับ High-end ทางเราพบว่าแม้กระทั่งราคาเฉลี่ยห้องพัก (ARR) ของโรงแรมระดับหรูในจังหวัดภูเก็ต ที่มีราคาขายมากกว่า 10,000 บาทต่อคืน มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 7.03 อีกทั้งอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (OCC. Rate) ก็ลดลงถึงร้อยละ 10.16 ซึ่งในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่การแข็งค่าขึ้นเงินบาทคงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อภาวการณ์ดังกล่าว
ทางด้าน Disruption ข้อมูลล่าสุดยังคงชี้ให้เห็นว่าจังหวัดภูเก็ตยังครองแชมป์ด้านค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อคนต่อวันของผู้มาเยี่ยมเยือน แต่การกระจายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวนั้นเปลี่ยนไป จากเดิมเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแปลงไป บทบาทของตัวกลางทางดิจิทัลนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ยกตัวอย่าง เช่น งานวิจัยล่าสุดพบว่าร้อยละ 64 ของของนักท่องเที่ยว Gen Y ในจังหวัดภูเก็ต จองห้องพักผ่านตัวกลางดิจิทัลแบบ B2C เช่น OTA และเรายังพบว่าในปัจจุบันการจองห้องพักผ่านตัวกลางดิจิทัลแบบ C2C มีแนวโน้มสูงขึ้นในจังหวัดภูเก็ตอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งตัวกลางดิจิทัลเริ่มมีบทบาทสูงขึ้นในหมวดค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยว
ส่วนปัจจัยที่สำคัญ คือ การท่องเที่ยวภูเก็ตถึงจุดอิ่มตัว? ภูเก็ตใช้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวมากว่าสามทศวรรษ งานวิจัยล่าสุดโดยใช้ Big data ของคณะฯเริ่มชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัด เนื่องจากมิติเรื่องความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติถูกท้าทายจากทั้งปัจจัยภายนอก (การแข่งขันจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นในเมืองรองหรือต่างประเทศ) และปัจจัยภายในซึ่งเราพบว่าชายหาดยอดนิยมหลายแห่งของจังหวัดภูเก็ตได้ถูกกล่าวถึงในด้านลบมากกว่าในด้านบวก และปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตในระยะสั้น แต่ปัจจัยทั้งสามที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้นอาจจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อความสามารถในการแข่งขันของจังหวัดภูเก็ตในเวทีเมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ดังนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต้องปรับตัว
ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ ยังได้กล่าวว่า เราควรจะต้องมีการ ปรับตัวอย่างไร ? จากการศึกษาพบว่าหลักๆ คือ ปรับกลยุทธ์การกำหนดราคาสินค้าและบริการ ชั่วโมงนี้อย่ามองเพียงมูลค่าเงินบาทของสินค้าและบริการท่าน ควรศึกษาว่าอำนาจการซื้อของลูกค้าหลักของท่านเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใดหากเทียบกับในยุครุ่งเรืองของธุรกิจท่าน ด้วยทิศทางของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นผู้ประกอบการไม่ควรขึ้นราคาสินค้าหรือบริการเพราะจะไปซ้ำเติมอำนาจการซื้อของนักท่องเที่ยว เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและทิศทางค่าเงินบาทการปรับราคาสินค้าและบริการ ในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้าอาจเป็นไปได้ยากแต่การปรับลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจอยู่ในวิสัยที่ทำได้เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยมีทิศทางปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจภาคการบริการและการท่องเที่ยวจึงจำเป็นต้องปรับตัวสู่ยุค Digital Transformation ยกตัวอย่างเช่น การสื่อสารแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ในปัจจุบันอยู่ในรูปแบบการเขียนและอ่านรีวิว ดังนั้น ภาพลักษณ์ในธุรกิจของท่านบนโลกดิจิทัลไม่ได้เป็นการสื่อสารด้านเดียวแบบเดิมอีกต่อไป ในหลักการที่ผู้บริโภคตัดสินใจบนข้อมูลสมบูรณ์ (Perfect information) ซึ่งขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจในโลกดิจิทัล รีวิว คอมเม้นต์ จึงมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค
ส่วนปัจจัยสุดท้าย คือ จากการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่า การกลับมาเที่ยวซ้ำของจังหวัดภูเก็ตนั้นสูงถึง 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยว เพื่อรักษาและเพิ่มจำนวนการกลับมาเที่ยวซ้ำของนักท่องเที่ยวในยุคที่หลายเมืองในภูมิภาคนี้ ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมภาครัฐและภาคเอกชนควรยกระดับและเพิ่มประสบการณ์การท่องเที่ยวในกับผู้มาเยี่ยมเยือนจังหวัดภูเก็ต ด้วยแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆที่ตอบโจทย์พฤติกรรมการเซลฟี่ การดึงดูดนักท่องเที่ยว แบบ mice and incentive travel ที่ส่งเสริมเสถียรภาพของการดำเนินธุรกิจในช่วง Low season หรือ กิจกรรมสร้างสรรค์ใหม่ๆที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น การจัดนิทรรศการระดับโลก การแสดงดนตรีระดับโลก การแข่งขันกีฬาทางน้ำระดับโลก ดร.ชยานนท์ กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด