มารีน่าหรู“อ่าวกุ้ง”ส่อแท้ง ทำลายทุ่งปะการังสมบูรณ์
ชาวบ้านอ่าวกุ้งหวั่นการลงทุน “ท่าเรือมารีน่า” รับซุปเปอร์ยอร์ช ทำลายทุ่งปะการังน้ำตื้นหน้าเกาะเฮ โพสต์ร้องผ่านสื่อโซเชียล ให้หน่วยงานที่เกี่ยวขัองช่วยปกป้อง ผ่านการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 2 ครั้ง ไม่ชี้ชัดแนวร่องน้ำเรือเข้า-ออก หมกเม็ดผลศึกษา ไม่มีแนวปะการัง ป่าชายเลน ทั้งเป็นท่าเรือเก่า ผู้ว่าฯ นำทีมผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่ พบทั้งทุ่งปะการังเขากวาง แซ่ม้า ป่าชายเลน ไม่มีเค้าท่าเรือร้าง ล่าสุดอธิบดีกรม ทช.ลงพื้นที่เห็นกับตา บอกทั้งปะการัง ป่าชายเลนยังสมบูรณ์ต้องช่วยกันดูแลรักษา
จากกรณีบริษัท ซีวิว แลนด์ จำกัด มีการนำเสนอโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า ในพื้นที่บ้านอ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก จ.ภูเก็ต เป็นมารีน่า ท่าเทียบเรือขนาดใหญ่จอดเรือได้จำนวน 72 ลำ ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว เป็นครั้งที่ 2 ส่วนแบบการดำเนินโครงการได้มีการกำหนดไว้แล้ว และยังไม่มีการยื่นขออนุญาตก่อสร้างแต่อย่างใด
ปรากฏว่าหลังจากการนำเสนอข้อมูลในการทำประชาพิจารณ์ ได้มีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายชุมชน รวมทั้งชาวบ้าน และ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านอ่าวกุ้ง ผ่านทางเฟซบุ๊กต่างๆ ซึ่งเป็นภาพทุ่งปะการังเขากวางในสภาพสมบูรณ์ เนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 2 ไร่ ซึ่งเป็นแนวปะการังน้ำตื้นหน้าเกาะเฮ บ้านอ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต รวมทั้งภาพป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติบ้านอ่าวกุ้ง ซึ่งระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวอาจจะเป็นแนวในการขุดลอกร่องน้ำเพื่อให้เรือยอร์ชขนาดใหญ่ ประมาณ 40 เมตร เข้าได้ ซึ่งเรือขนาดนี้จะต้องกินน้ำลึกมาก
แต่จากการศึกษาวิจัยของทางผู้ประกอบการมีการระบุในข้อเสนอที่นำมาทำประชาพิจารณ์ว่าพื้นที่บริเวณหน้าโครงการไม่ใช่ป่าชายเลน แต่เป็นท่าเทียบเรือเก่าที่อยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า และในบริเวณด้านหน้าตลอดไม่มีแนวปะการัง ซึ่งชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์เห็นว่า ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จึงมีการออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลเพื่อเรียกร้องให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบก่อนที่จะมีอาการอนุญาตให้มีการขุดลอกร่องน้ำ เนื่องจากเกรงว่าจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าชายเลน และแนวปะการังที่ยังสมบูรณ์
จากการสอบถามกลุ่มนักอนุรักษ์ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ กล่าวว่า ในส่วนของกลุ่มอนุรักษ์เองไม่ได้คัดค้านเรื่องของการสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า เพราะการก่อสร้างดังกล่าวเป็นการสร้างในที่ดินเอกชน แต่ที่ชาวบ้านเป็นห่วงและกังวล เรื่องของการขุดลอกร่องน้ำ ที่เป็นทางเข้า-ออกของเรือ ซึ่งชาวบ้านมีความเป็นห่วงในหลายประเด็น จากการนำเสนอของทางที่ปรึกษาโครงการเกี่ยวกับป่าชายเลย ที่จะต้องมีการขุดทางเข้า-ออกเพราะอยู่ติดกับป่าชายเลน ที่มีการระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่ป่าชายเลน แต่เป็นท่าเรือเก่า ทั้งๆ ที่มีป้ายประกาศห้ามไม่ให้มีการบุกรุกป่าชายเลนติดตั้งอยู่
นอกจากนั้น สิ่งที่ชาวบ้านกังวลอีกเรื่องคือ การขุดลองร่องน้ำเพื่อให้เรือขนาด 40 เมตรเข้าได้ จะต้องขุดร่องน้ำลึกไม่ต่ำกว่า 8 เมตร แต่ในผลการศึกษาที่นำมาชี้แจงกลับไม่มีการกำหนดดีเทลเกี่ยวกับจุดที่จะขุดให้ชัดเจน ว่าจะขุดจุดไหนอย่างไร ซึ่งชาวบ้านเกรงว่าจะมีวาระซ้อนเร้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงอยากให้มีการระบุให้ชัดเจน ว่าขุดที่จุดไหนอย่างไร เพราะเท่าที่ชาวบ้านสำรวจพบว่าตลอดแนวหน้าโครงการมีปะการังกระจายอยู่ตลอด ซึ่งนอกจากปะการังเขากวางแล้ว ใกล้กันยังพบแซ่ทะเลที่กำลังสมบูรณ์และสวยงามเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 2 ไร่
แหล่งข่าวรายเดิมระบุว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าว อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรอันมีค่าและเป็นแหล่งทำมาหากินหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้าน ถ้าหากมีการขุดลอกร่องน้ำเพื่อให้เรือแล่นเข้า-ออก ต้องผ่านแนวปะการัง จะทำให้ทรัพยากรถูกทำลาย และวิถีชีวิตของชาวบ้านในบริเวณนั้นๆ ต้องสูญหายไปด้วย ทำให้ขณะนี้กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ ออกมาเรียกร้อง และเคลื่อนไหวให้หน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ เข้ามาหาทางออกของปัญหาด้วย
ต่อมา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามัน ได้เผยผลการสำรวจสถานภาพแนวปะการังบริเวณอ่าวกุ้ง จ.ภูเก็ต รวมทั้งเกาะในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีรายงานว่าจะมีโครงการสร้างท่าเทียบเรือสำราญกีฬา ได้มีการสำรวจทั้งหมด 7 สถานี เบื้องต้นพบว่าแนวปะการังในพื้นที่ส่วนใหญ่มีการฟื้นตัวได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลเดิมที่กรมมาสำรวจไว้เมื่อปี 2556 โดยพบว่า แนวปะการังที่เสียหาย กลับฟื้นตัวอยู่ในสภาพสมบูรณ์ปานกลาง 4 สถานี ได้แก่ เกาะเฮ เกาะปายู เกาะรา และเกาะแพ ส่วนที่ยังมีสภาพเสียหาย 2 สถานี ได้แก่ เกาะงำ และ แหลมขาดอยู่ในสภาพเสียหายมาก 1 สถานี คือ ชายฝั่งอ่าวกุ้ง
ปะการังที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ กลุ่มปะการังโขด (Porites spp.) ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ปะการังดอกไม้ทะเล (Goniopora sp.) ปะการังรังผึ้ง (Goniastrea sp.) ปะการังวงแหวน (Favia spp.) ปะการังช่องเหลี่ยม (Favites spp.) ปัจจัยที่มีผลต่อสภาพปะการังในบริเวณนี้คือ ตะกอนตามธรรมชาติ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของอ่าวพังงา ล้อมรอบด้วยป่าชายเลน และลักษณะพื้นทะเลเป็นทรายปนโคลน ทำให้น้ำค่อนข้างขุ่น แนวปะการังมีการฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า และง่ายที่ตะกอนพื้นทะเลจะฟุ้งกระจายขึ้นมาทับถมบนปะการัง
จะอย่างไรก็ตาม เมื่อเย็นวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายวัชรินทร์ ถิ่นถลาง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9, นายสาคร ปู่ดำ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต, นายณัฐกฤษณ์ พลเพชร นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต, นายมนัส เกิดทรัพย์ รองนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก, ผู้แทนศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องได้เดินทางลงตรวจสอบข้อเท็จจริง บริเวณพื้นที่เกาะเฮ อ่าวกุ้ง โดยมีนายประดิษฐ์ พวงเกษ ประธานชมรมอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้ง พร้อมด้วยสมาชิกฯ ร่วมกันให้ข้อมูลสภาพพื้นที่ พร้อมนำสำรวจแนวปะการัง รวมถึงชี้แจงถึงผลกระทบหากมีการก่อสร้างมารีน่า โอกาสนี้ยังได้มีการไปตรวจสอบบริเวณพื้นที่ซึ่งคาดว่า จะเป็นจุดที่จะมีการขุดลอกร่องน้ำ สำหรับให้เรือเข้า-ออกด้วย
จากการตรวจสอบพบว่าบริเวณหน้าเกาะเฮ ไปจนเกือบถึงแนวป่าชายเลนจะมีแซ่แดงเป็นระยะ กระจายไปทั่วบริเวณ ซึ่งตัวโครงการที่ที่มีการระบุว่าจะก่อสร้างจะอยู่ด้านหลังต้นโกงกาง นอกจากนั้นยังพบปะการังน้ำตื้นที่กำลังแตกตัวอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะที่หน้าเกาะเฮลงมาพบว่ามีแนวปะการังที่เห็นเป็นปะการังเขากวางอย่างชัดเจน
นายนรภัทร กล่าวภายหลังการลงสำรวจพื้นที่ พร้อมพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ กลุ่มอนุรักษ์ฯว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพทางโซเซียล เกี่ยวกับกรณีที่มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งจะทำการขอสร้างท่าเทียบเรือ หรือมารีน่าในพื้นที่ โดยอ้างว่ามีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เป็น นส.3 กนั้น กลุ่มชาวบ้านมีความเป็นห่วงว่า หากมีการอนุญาตก่อสร้างโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับแนวปะการังในบริการดังกล่าว ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่ใช่ท่าเทียบเรือที่มีอยู่เดิม จึงอยากให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการยังไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตในการสร้างท่าเรือต่อกรมเจ้าท่า หรือทางจังหวัดภูเก็ต มีเพียงการยื่นเรื่องต่อสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขออนุญาตจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยทราบจากทางชุมชนว่า การรับฟังความคิดเห็นดำเนินการไปแล้ว 2 ครั้ง และตามหลักการแล้วกรณีที่เอกชนจะมีการดำเนินการใดๆ ในลักษณะเช่นนี้ จะต้องมีการแจ้งให้นายอำเภอท้องที่ทราบ เพื่อที่จะมีการร่วมรับฟังข้อมูล รวมทั้งจะได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงด้วย
นายนรภัทร กล่าวอีกว่า จากการลงตรวจสอบพบว่าสภาพพื้นที่ มีความเกี่ยวเนื่องกับป่าชายเลน และทะเล ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จึงต้องแจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวรับทราบด้วย และมีข้อมูลว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปรับฟังและโต้แย้งข้อมูลต่าง ๆ
เมื่อขั้นตอนการจัดรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ ทาง สผ.ก็จะต้องส่งเรื่องมายังจังหวัด ซึ่งมีคณะอนุกรรมการทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งจังหวัดภูเก็ตเป็นผู้พิจารณา ว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ยังมีอีกหลายขั้นตอน ในส่วนของตนก็จะรายงานข้อเท็จจริงไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในส่วนกลางด้วย เช่น กรมเจ้าท่า กรมทช. มหาดไทย เป็นต้น
ส่วนกรณีแนวปะการัง จะได้รับผลกระทบจากการขุดลอกร่องน้ำหรือไม่นั้น นายนรภัทร กล่าวว่า ทราบเรื่องจากชาวบ้านว่า แนวพื้นที่การขุดร่องน้ำที่มีการนำเสนอเมื่อคราวที่มีการเปิดประชาพิจารณ์ที่ผ่านมานั้น ยังไม่ชัดเจน ว่าจะผ่านจุดใดบ้าง เพราะในการสร้างมารีน่าจะต้องนำเรือเข้าไปจอด ทราบว่าพื้นที่ก่อสร้างมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เป็น นส.3 ก แต่การจะนำเรือเข้าไปจอดก็จะต้องมีร่องน้ำ ซึ่งจะต้องมีการขุด แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร ทางโครงการยังไม่ได้มีการชี้จุดที่จะดำเนินการ ส่วนจะมีผลกระทบหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณา
เรื่องของการลงทุนนั้นก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย แม้จะมีการส่งเสริมของธุรกิจมารีน่า ก็ต้องอยู่ภายใต้การดำเนินการที่ถูกต้อง และไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หรือส่งผลกระทบในภาพรวม ถ้าถูกต้องก็พร้อมที่จะสนับสนุน
ต่อมา วันที่ 20 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายวัชรินทร์ ถิ่นถลาง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดร.นลินี ทองแถม นักวิชาการ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนของป่าชายเลนที่อยู่ติดกับที่ตั้งของโครงการและแนวปะการังด้านหน้าเกาะเฮ บ้านอ่าวกุ้ง โดยมีชาวบ้านในพื้นที่ร่วมให้ข้อมูลถึงข้อกังวลและสภาพพื้นที่โดยรวม
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่จะเห็นว่า แนวปะการังในบริเวณหน้าเกาะเฮ บ้านอ่าวกุ้ง ยังมีความสมบูรณ์ตามสภาพพื้นที่ และระบบนิเวศน์ในบริเวณนั้น รวมไปถึงป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์ไม่ต่างกัน ซึ่งเกรงว่าหากมีการขุดลอกล่องน้ำเพื่อให้เรือเข้า-ออกในโครงการ จะส่งผลกระทบต่อแนวปะการังตามที่ชาวบ้านเป็นห่วง เรื่องนี้จะต้องว่ากันไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จะต้องมีการชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมารีน่ารองรับซุปเปอร์ยอชต์ในพื้นที่
“โดยส่วนตัวแล้ว เห็นด้วยกับการพัฒนา แต่การพัฒนาจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากโครงการนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว คุ้มค่าหรือไม่ ต้องชั่งน้ำหนัก ในเรื่องนี้จะไม่ขอก้าวล่วงไปถึงในส่วนนของโครงการที่ดำเนินการในที่ดินของเอกชน แต่จะเข้าไปดูแลในส่วนที่รับผิดชอบ ทั้งป่าชายเลนและปะการังเท่านั้น” นายจตุพร กล่าวในที่สุด