ม.อ.ภูเก็ตมิติแห่งความห่วงใย “PSU Phuket We Care”
ม.อ.ภูเก็ตมิติแห่งความห่วงใย
“PSU Phuket We Care”
วันอังคารที่ 10 สิงหาคม 2564 (วันนี้) ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (ม.อ.ภูเก็ต) ร่วมแถลงข่าว ม.อ.ภูเก็ตมิติแห่งความห่วงใย “PSU Phuket We Care” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเผยแพร่ข้อมูลการดูแลนักศึกษา บุคลากร และสังคม ในมิติต่างๆของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ให้สาธารณชนรับทราบ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต, รองศาสตราจารย์ ดร.ปรารถนา กาลเนาวกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาเขตภูเก็ต และดร.ฉกาจกิจ แท่นชัยกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา วิทยาเขตภูเก็ต ณ โถงหน้าห้องประชาสัมพันธ์ ชั้น 1 อาคารสำนักงานวิทยาเขตภูเก็ต
รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทุกภาคส่วนทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ ธุรกิจ เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ในฐานะสถาบันการศึกษาห่วงใยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 พร้อมดูแลด้วยความห่วงใย PSU Phuket We Care ด้านนักศึกษา บุคลากร ชุมชนและสังคม โครงการ ม.อ.ภูเก็ต วัคซีน 100 % เป็นโครงการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับนักศึกษา บุคลากร ตามนโยบายของจังหวัดภูเก็ต ขณะนี้ บุคลากรของมหาวิทยาลัยได้รับวัคซีน ร้อยละ 95.34 ที่เหลืออีก 4.66 เป็นกลุ่มที่ตั้งครรภ์และรอฉีดวัคซีนชนิดอื่น สำหรับในส่วนของนักศึกษาได้รับวัคซีน 57% จากจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ทั้งนี้ยังอยู่ระหว่างรอฉีดเพิ่มเติมตามกำหนดการของจังหวัด ซึ่งมหาวิทยาลัยจะมีระบบลงทะเบียนและตรวจสอบข้อมูลแบบ Real Time ทั้งนี้บุคลากรทุกคนจะมีสวัสดิการด้านประกันโควิด-19 เพิ่มเติมอีกด้วย ในส่วนของพื้นที่ต่างๆ ของมหาวิทยาลัย มีการฉีดพ่นฆ่าเชื้อเพื่อความปลอดภัย และการตรวจคัดกรองจะเริ่มต้นตั้งแต่บริเวณทางเข้าออกมหาวิทยาลัยโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิเบื้องต้น และการสแกนการเข้าพื้นที่แต่ละจุด ผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” โดยยึดหลักแนวปฏิบัติ D-M-H-T-T เพื่อป้องกันตนเองและส่วนรวม ภายในมหาวิทยาลัย ขณะนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ในลักษณะการเรียนการสอนแบบผสมผสาน การเรียนรู้ในห้องเรียน (แบบรักษาระยะห่าง) ควบคู่ไปกับการเรียนออนไลน์ ซึ่งการปรับเปลี่ยนความเหมาะสมตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ตในช่วงเวลานั้นๆต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.ปรารถนา กาลเนาวกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเปิดการเรียนการสอนภาคเรียนที่ 1/2564 เมื่อวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 (เมื่อวานนี้) งดการเรียนการสอนในชั้นเรียนทั้งหมด ตั้งแต่ 9 สิงหาคม – 11 ตุลาคม 2564 และจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือรูปแบบอื่นที่ไม่มีการรวมกลุ่มกันในชั้นเรียนแทน งดการวัดและประเมินผลในห้องสอบ ให้เป็นการวัดประเมินผลที่เป็น formative มากขึ้น และมีการประเมินผลตลอดระยะเวลาของการจัดการเรียนรู้ในแต่ละรายวิชา ร่วมกับการวัดและประเมินผลรูปแบบอื่นที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เช่น การสอบออนไลน์ การนำข้อสอบไปทำนอกห้องสอบ (take-home exam) การสะท้อนคิด (reflection) การประเมินผลจากกิจกรรมหรือผลงาน เป็นต้น
การบริการของวิทยาเขต คณะและวิทยาลัย เปิดให้บริการตามปกติ ได้แก่ ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการ พื้นที่อ่านหนังสือ สามารถเปิดให้บริการได้ โดยจะต้องปฏิบัติตามมาตรการของวิทยาเขต คณะ วิทยาลัย และของจังหวัด โดยยึดหลัก D-M-H-T-T อย่างเคร่งครัด แนวทางการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล อาจมีการปรับเพื่อให้สอดคล้องตามคำสั่งมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของจังหวัดภูเก็ต กรณีความจำเป็นที่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในประกาศนี้ให้เสนอรองอธิการบดี วิทยาเขตภูเก็ต พิจารราเป็นกรณีไป
ทั้งนี้ อาจารย์ผู้สอนในแต่ละวิชาของทุกคณะก็ดำเนินการสอนควบคู่ทั้ง Online และ Onsite โดยมหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมความพร้อมด้านสถานที่และอุปกรณ์เพื่อความสะดวกในการสอนรูปแบบใหม่ดังกล่าว นักศึกษาเองก็สามารถเข้ามาใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยได้ทั้งหมดซึ่งมีระบบ Wifi ครอบคลุมทุกพื้นที่ การเรียนในรูปแบบ Online ก็จะสะดวกและปลอดภัยสำหรับนักศึกษามากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยได้ปรับระบบช่องทางในการติดต่อผ่านออนไลน์เพื่อความสะดวกของผู้ปกครองและนักศึกษา อาทิ การชำระค่าลงทะเบียนซึ่งมีด้วยกัน 4 รูปแบบ 1.ชำระผ่านระบบ Bill Payment ดาวน์โหลด Bill Payment จากระบบ SIS 2.ชำระผ่านระบบ Online Payment เว็บไซต์ https://payment.phuket.psu.ac.th สามารถชำระผ่าน Credit Card หรือ QR Code Payment 3.ชำระผ่านระบบ Direct Pay และ 4.ชำระที่งานคลังและทรัพย์สิน
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมีระบบรองรับการลงทะเบียนเรียน, การจัดทำบัตรนักศึกษาใหม่, การจองหอพักนักศึกษา ฯลฯ ซึ่งนักศึกษาสามารถติดตามข้อมูลได้ทาง https://www.phuket.psu.ac.th/student/ หรือเพจเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/registrapsuphuket และติดต่อเจ้าหน้าที่งานทะเบียน โทรศัพท์ 0 7627 6024-27
ทางด้าน ดร.ฉกาจกิจ แท่นชัยกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มีแนวทางมาตรการการช่วยเหลือผู้ปกครองและนักศึกษาจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ตามประกาศมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่องแนวทางการช่วยเหลือและเยียวยานักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ครอบคลุม 3 ด้าน ดังนี้.
1.ทุนการศึกษา
1.1 กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา
ทุน กยศ. คือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และ กรอ. คือ กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต ซึ่งจัดสรรให้ในส่วนของค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพ ตามข้อกำหนด
1.2 ทุนการศึกษาประเภททั่วไป ได้รับจัดสรรงบประมาณจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 10 ล้านบาท ซึ่งนักศึกษาได้รับ 5,000-30,000 บาท/คน
1.3 ทุนการศึกษาประเภททุนทำงานแลกเปลี่ยน
– มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สนับสนุน จัดสรรให้ทั้ง 5 วิทยาเขต ชั่วโมงละ 60 บาท สำหรับวิทยาเขตภูเก็ต (วิทยาเขตอื่น ชั่วโมงละ 50 บาท)
– วิทยาเขตภูเก็ต จัดสรรเงินรายได้ให้นักศึกษา ชั่วโมงละ 45 บาท งบประมาณ 150,000 บาท/ปี
1.4 ทุนจากคณะ/หน่วยงาน พิจารณาตามคุณสมบัติของทุนแต่ละประเภท
1.5 ทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก อาทิ ทุนเครือเจริญโภคภัณฑ์, ทุนชินโสภณพณิช, ทุนบุญรอด, ทุนสภากาชาดจังหวัดภูเก็ต ฯลฯ
2.ค่าธรรมเนียมการศึกษา
มหาวิทยาลัยดำเนินการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาให้กับนักศึกษาทั้งไทยและต่างชาติในระดับปริญญาตรี 20% ตั้งแต่ปี 2563-2564 สำหรับการลดค่าธรรมเนียมการศึกษา 50% ตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อ.ว.) นั้น อยู่ในกรอบการดำเนินการของมหาวิทยาลัย 20% ร่วมกับรัฐบาล 30%
สำหรับนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตภูเก็ต หลักสูตรพยาบาลบัณฑิต (ห้องเรียนภาษาอังกฤษ) ปี 2563 รุ่นที่ 1 และปี 2564 รุ่นที่ 2 จัดสรรค่าธรรมเนียมการศึกษาให้นักศึกษา จำนวน 5 คน คนละ 80,000 บาท/ปีการศึกษา ตลอดหลักสูตรเป็นระยะเวลา 4 ปี
3.การบริการและสวัสดิการ
3.1 การจัดเตรียมห้องเรียนที่มีความพร้อมของระบบและอุปกรณ์การเรียนรู้ออนไลน์ เพื่อไม่ให้เกิดความเลื่อมล้ำแก่นักศึกษาที่มีปัญหาด้านอุปกรณ์ สถานที่ และเครือข่ายสัญญาณในการเรียนการสอน นอกจากนี้มีการให้บริการเช่ายืมอุปกรณ์ Notebook สำหรับเรียนออนไลน์ ซึ่งมีค่าเช่าบริการ 2,000 บาท/เครื่อง/ปี โดยจัดสรรเฉลี่ยตามจำนวนนักศึกษาในแต่ละปี ภายใต้การดูแลของคณะ
3.2 สวัสดิการเงินยืมฉุกเฉินแก่นักศึกษาทีประสบปัญหาทางการเงินและมีความจำเป็นเร่งด่วน
3.3 สวัสดิการช่วยเหลืออาหารกลางวันแก่นักศึกษาที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยนักศึกษาสมัครขอรับเงินสวัสดิการช่วยเหลือในระบบซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติ เริ่มตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งวิทยาเขตภูเก็ต ได้รับจัดสรรงบประมาณจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวนเงิน 10,688,629.79 บาท และในปี 2564 จำนวนเงิน 2,856,564.32 บาท เฉลี่ยรายละ 6,000 บาท นอกจากนี้ทางสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดภูเก็ต จัดสรรงบประมาณ 85,000 บาท เพื่อมอบให้นักศึกษารายละ 2,700 บาท/คน
3.4 นักศึกษาที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 นำหลักฐานจากแพทย์เพื่อขอรับเงินสวัสดิการช่วยเหลือ รายละ 10,000 บาท วิทยาเขตภูเก็ตได้รับงบประมาณจัดสรร 150,000 บาท/ปี
ทั้งนี้ กรณีที่นักศึกษาได้รับผลกระทบอื่นๆ และต้องการความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัย ให้นักศึกษาติดต่อคณะหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านกิจการนักศึกษา เพื่อขอรับความช่วยเหลือเป็นรายกรณี
รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต กล่าวต่อว่า ความห่วงใยที่มหาวิทยาลัยมีต่อชุมชนและสังคมในบริบทความเป็นมหาวิทยาลัย เราได้ส่งนักวิจัย นักวิชาการ ที่มีองค์ความรู้ด้านข้อมูลและสถิติร่วมวิเคราะห์ข้อมูลจัดทำแผนร่วมกับจังหวัด เพราะวิทยาเขตภูเก็ตมีนักวิชาการองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ด้านการบริการและการท่องเที่ยว และด้านภาษาและวัฒนธรรม อาทิ ผศ.ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต และที่ปรึกษาให้กับคณะทำงานให้ความช่วยเหลือกลุ่มด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางของจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น นักวิชาการร่วมดูแลและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ผศ.ดร.กรรณิการ์ กาญขนชาตรี และอีกหลายท่าน การจัดตั้งโครงการตู้ปันสุข ซึ่งมีหลายภาคส่วนรวมทั้งคนภูเก็ตร่วมกันแบ่งปันช่วยเหลือกันในสถาการณ์ตอนนี้ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภูเก็ตในสถานการณ์โควิด-19 โดยระยะเรก ภายใต้ความร่วมมือจากทีมแพทย์พยาบาลจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และในขณะนี้ก็เปิดรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งมีทีมแพทย์พยาบาลของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตคอยดูแล จำนวนล่าสุด 182 คน (ข้อมูล 4 ส.ค. 2564) และยุทธศาสตร์ที่สำคัญของวิทยาเขตภูเก็ต โครงการ “ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน” (Andaman International Health Center) เพื่อดูแลสุขภาพของคนในพื้นที่จังหวัดกลุ่มอันดามัน รวมทั้งผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับและส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นการสนองยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล ขณะนี้ได้เปิดศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์ ม.อ.ภูเก็ต พร้อมให้บริการตรวจเลือด คัดกรองโรคต่างๆ ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ ด้วยการบริการที่มีมาตรฐานและประสบการณ์ทำงานอย่างมืออาชีพ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา
สำหรับ การเปิดบริการตรวจเชื้อ Covid-19 ของศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์ ม.อ.ภูเก็ต มี 2 รูปแบบ คือ
1.RT-PCR ทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง ค่าบริการ 1,500 บาท
2.Rapid Antigen Test สามารถรอผลตรวจได้เลยภายใน 1-2 ชั่วโมง ค่าบริการ 450 บาท
ทั้งนี้ผู้ต้องการตรวจสามารถจองผ่านระบบ Line Official ของศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์ฯ
ID Line: @428gbhzb สอบถามรายละเอียดโทรศัพท์ 06 5224 8961 (ติดต่อในวันเวลาราชการ)
webpage: https://www.phuket.psu.ac.th/mtsc_psuphuket
Facebook Fanpage: https://www.facebook.com/phuketcampus
มหาวิทยาลัยสงขลาครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มุ่งมั่นในการดูแลทุกมิติทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง Our Soul is for the Benefit of Mankind” ม.อ.ภูเก็ตมิติแห่งความห่วงใย “PSU Phuket We Care”