ยกฐานะศร.ชล.3ผ่านกฤษฎีกา ทำงานหลักเฝ้าทรัพย์หมื่นล้าน
ผบ.ทร.ภาค.3 เผยการยกฐานะศูนย์ประสานการปฏิบัติการฯ เป็นศูนย์อำนวยการศร.ชล.เขต 3 ใกล้เป็นจริง กฎหมายผ่านกฤษฎีกาแล้วอนาคตจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหลายหมื่นล้าน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวทางฝั่งอันดามัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบูรณาการกันอย่างใกล้ชิด เพื่อ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะทุกหน่วยจะต้องเพิ่มทั้งกำลังคน เครื่องมือเข้ามาในพื้นที่ ส่วนการแก้ปัญหาประมงกำลังเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ หลัง EU.พอใจมาตรการและแนวทางในการดำเนินการ
เมื่อเช้าวันที่ 15 มิถุนายน 2560เวลา 09.00 น. พล.ร.ท.สุรพล คุปตะพันธ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 3 (ศรชล.เขต 3) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเจ้าหน้าที่ POC (Point of Contact) ที่ห้องประชุมชั้น 2 โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ตโดยมี นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว ปลัดจังหวัดภูเก็ต และ ผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยต่างๆ ในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน ได้แก่ จากทัพเรือภาคที่ 3 ตำรวจน้ำ ด่านศุลกากร สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานจัดการทรัพยากรชายทะเลและชายฝั่ง และ ผู้แทนจาก 6 จังหวัด ชายฝั่งทะเลอันดามัน
น.อ.ภุชงค์ รอดนิกร ร.น.หัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผน ศร.ชล.เขต 3 กล่าวว่า การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นไปตามแผนปฏิบัติการงาน ศร.ชล.เขต 3 ประจำปี 2560 รวมทั้งตามแนวทางที่ ศรชล.กำหนด เพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานและการเตรียมการของหน่วยในการยกระดับศร.ชล. การรับทราบปัญหาข้อขัดข้อง และข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งการระดมความคิดเห็น เพื่อกำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานใน ศร.ชล. เขต 3 ให้มีประสิทธิภาพต่อไป
พล.ร.ท.สุรพล คุปตะพันธ์ ผู้อำนวยการ ศรชล.เขต 3 กล่าวว่า ผลประโยชน์ของชาติทางทะเลนั้น นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวทางทะเลในพื้นที่ฝั่งอันดามัน ดังนั้นในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จึงมีความจำเป็นต้องมีการบูรณาการและประสานการปฏิบัติกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการโดยหน่วยใดหน่วยหนึ่งเพียงลำพังไม่ได้
“การยกระดับ ศรชล.จากศูนย์ประสานการปฏิบัติ เป็นศูนย์อำนวยการ ซึ่งปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอสำนักงานเลขาฯนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบถามความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะนำเข้าสภาฯ คิดว่าน่าจะออกเป็นพระราชบัญญัติได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้” พล.ร.ท.สุรพล กล่าว และว่า
เมื่อมีการยกระดับแล้วประโยชน์ก็จะเกิดกับประชาชนและประเทศชาติโดยตรงมากขึ้น เนื่องจากเดิมเป็นเพียงศูนย์ประสานงาน ทำให้การปฏิบัติต่าง ๆ เป็นการประสานขอความร่วมมือในการปฏิบัติ แต่เมื่อยกระดับเป็นศูนย์ฯ เปรียบเหมือนเป็นอีกหนึ่งหน่วยงาน โดยหน่วยร่วมปฏิบัติต่างๆ สามารถที่จะส่งกำลังคนและอุปกรณ์เข้ามาประจำการทำให้สามารถปฏิบัติงานได้โดยตรง รวมทั้งมีงบประมาณในด้านต่างๆ มารองรับ
พล.ร.ท.สุรพล ยังกล่าวอีกว่า หลังจากมีการประกาศเป็นพระราชบัญญัติแล้ว การปฏิบัติงานต่างๆ จะทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากมีกำลังในส่วนของศูนย์ฯ ทำให้สามารถสั่งใช้กำลังโดยตรง จากเดิมจะต้องประสานขอกำลังไปตามหน่วยต่างๆ ซึ่งบางครั้งงบประมาณหรือกำลังพลไม่มีจึงทำให้การปฏิบัติการต่างๆ ล่าช้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงทั้งกับพี่น้องชาวประมงและนักท่องเที่ยว ซึ่งจะได้รับความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น
ส่วนการแก้ปัญหา ประมง ในพื้นที่ ศรชล.เขต 3 ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา เทียบกับปัจจุบัน พบว่าสามารถแก้ไขปัญหาไปได้มาก และได้มีการแก้ปัญหาตามที่ EU ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งศูนย์ PIPOในการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง, การสำรวจจำนวนเรือประมง, การสำรวจท่าเทียบเรือประมง, การสำรวจและตรวจสอบโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ โดยผู้ประกอบการก็มีความเข้าใจและปรับปรุงข้อบกพร่องต่างๆ และจากการเข้ามาตรวจสอบของทางอียู ครั้งสุดท้ายเค้าก็พอใจ และบอกว่าเราได้ผ่านจุดที่หนักที่สุดมาแล้ว ต่อจากนี้ก็เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์และสามารถจะเดินไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งไว้ได้ในระยะเวลาอันใกล้
“สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และผลการประเมินก็เป็นที่น่าพอใจมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งหน่วยงานและผู้ประกอบการต่างให้ความร่วมมือและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อความยั่งยืนของอาชีพตลอดไป” พล.ร.ท.สุรพล กล่าว