ยันเข้ “น้องยะนุ้ย” ลูกผสม หนักทางน้ำเค็มเคยอยู่น้ำนิ่ง
นักวิชาการประมงลงตรวจข้อมูลกายภาพจระเข้ “ยะนุ้ย” ซึ่งชัดเจนแล้วว่า เป็นตัวเมีย จากการตรวจภายนอกด้วยสายตาจากเกล็ด และส่วนต่างๆ เป็นลูกผสม ค่อนไปทางน้ำเค็ม โดยเฉพาะด้านหลัง บางส่วนมีตะใคร่น้ำเกาะ คาดว่า เคยอยู่ที่บริเวณน้ำนิ่งมาก่อน แต่ต้องตรวจดีเอ็นเอเพื่อหาแหล่งที่มา สายพันธุ์ที่ชัดเจน ก่อนนำไปไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม
เมื่อเช้าวันที่ 9 สิงหาคม 2561 เวลา 10.00 น. ที่บ่อพักฟื้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 (ภูเก็ต) อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายมนตรี สุมณฑา นักวิชาการประมงชำนาญการ สถานีวิจัยและพัฒนาประมงทะเล จ.ระนอง กรมประมง พร้อมด้วย นายไพศาล สุขปุณพันธ์ เจ้าพนักงานประมงอาวุโส หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง สำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต และเจ้าหน้าที่บริษัท ภูเก็ต คร็อกโคไดล์เวิร์ค จำกัด ร่วมกันทำการตรวจสอบและเก็บข้อมูลทางกายภาพเบื้องต้นของ “น้องยะนุ้ย” เพศเมีย อายุ 6-7 ปี ความยาว 2.50 เมตร จระเข้ที่โผล่ขึ้นมาบริเวณหน้าชายหาดยะนุ้ย ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 โดยไม่มีใครรู้ที่มาที่ไป ว่ามาจากไหน และบริเวณทะเลก็ไม่เคยมีจระเข้น้ำเค็มมาก่อน นอกจากจระเข้ “เลพัง” ที่โผล่มาในลักษณะเดียวกันนี้ ที่บริเวณเลพังเมื่อปีที่ผ่านมา สร้างความตื่นเต้นให้กับชาวบ้านที่พบเห็นพอสมควร
สำหรับจระเข้ “น้องยะนุ้ย” หลังจากโผล่มาสร้างความตื่นเต้นให้กับชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวที่เล่นน้ำอยู่บริเวณหาดยะนุ้ยแล้วได้ว่ายไปตามกระแสน้ำ ไปเยือนหาดในหาน ผ่านกะตะ ขึ้นเกยหาดนอนพักผ่อนที่หาดกะรน แล้วหายไป 2 วัน จนมีผู้พบเห็นดำผุดดำว่ายอยู่ที่อ่าวไตรตรัง ผ่านอ่าวป่าตอง และมีผู้พบเห็นร่องรอยขึ้นเกยหาดรายัน แต่ไม่เห็นตัว หลังจากนั้นมีผู้พบเห็นอยู่ระหว่างหัวแหลมเกาะกระทะ-หาดรายัน
นับจากที่ “น้องยะนุ้ย” โผล่มาเป็นเวลากว่า 10 วัน ที่ “เล่นเอาเถิดเจ้าล่อ” กับทีมไกรทอง จากลุ่มน้ำตาปี สุราษฎร์ธานี จนในที่สุดก็ไปจนมุมให้ทีมไกรทองจับตัวได้ที่บริเวณปากคลองลายัน (คลองเสน่ห์โพธิ์) ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ตโดยละม่อม แค่ได้รับบาดเจ็บฟกช้ำดำเขียวเล็กๆ น้อยๆ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2561 รวมระยะเวลา 12 ก่อน และได้นำมาพักฟื้นรอการเก็บตัวอย่างเลือดและดีเอ็นเอ เพื่อหาสายพันธ์ที่ชัดเจน ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ก่อนที่จะมีการนำไปไว้ยังพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป
นายมนตรี สุมณฑา นักวิชาการประมงชำนาญการ สถานีวิจัยและพัฒนาประมงทะเล จ.ระนอง กล่าวภายหลังการเก็บข้อมูลทางกายภาพของจระเข้ “น้องยะนุ้ย” ว่า เป็นการตรวจภายนอก เพื่อดูว่าเป็นจระเข้ชนิดใด เบื้องต้นจากการตรวจสอบบริเวณจะงอยปาก พบว่าค่อนข้างแคบ มีเกล็ดขนาดใหญ่บริเวณท้ายทอย และเกล็ดข้างลำตัวมีขนาดเล็ก แต่มีเกล็ดขนาดใหญ่กว่าปกติ ดูไม่ได้เด่นชัดขึ้นมาแซมบางส่วน จึงทำให้สงสัยได้ว่า อาจจะเป็นจระเข้ลูกผสม ซึ่งในภาพรวมของจระเข้ตัวนี้ค่อนไปทางจระเข้น้ำเค็มมาก สอบถามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลขณะที่ทำการตรวจสอบทราบว่า ได้กินโครงไก่ไปแล้ว 1 โครง
“เท่าที่ดูการเคลื่อนไหวพบว่าค่อนข้างแข็งแรงมาก มีการตอบสนองตลอดเวลา แต่อาจจะมีบาดแผลเล็กน้อยจากการถูกจับจากทะเล และการจับเพื่อตรวจสภาพในจังหวะที่เขาดิ้นรนและไปกระแทกกับพื้นของบ่อพักฟื้นซึ่งเป็นปูน และเป็นที่น่าสังเกตกว่า บริเวณหลังจระเข้ตัวนี้จะมีตะใคร่ขึ้นตามตัวค่อนข้างมาก เป็นการบ่งบอกได้ว่าจระเข้ตัวนี้เคยผ่านการถูกกักขังในน้ำนิ่งมาเป็นระยะเวลานานมาก่อน” นายมนตรีกล่าว
นายมนตรี กล่าวถึงการดำเนินการกับจระเข้ “น้องยะนุ้ย” ว่า หลังจากที่มีการตรวจพิสูจน์ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เป็นตัวเมียหากเป็นจระเข้ที่ไม่เคยผ่านการเลี้ยงมาก่อน จะต้องนำไปปล่อยในแหล่งธรรมชาติที่เหมาะสม แต่หากเป็นลูกผสมก็อาจจะใช้แนวทางเดียวกับจระเข้ “เจ้าเลพัง” ซึ่งเป็นตัวผู้มีการจับได้เมื่อปลายปี 2560 โดยเอาไปฝากไว้ที่สวนสัตว์ แต่สำหรับตัวนี้จากการตรวจสอบทางกายภาพเบื้องต้นมีแนวโน้มที่จะเป็นจระเข้ลูกผสมมากกว่าจระเข้แท้ แต่ไม่ยืนยัน เพราะลักษณะของจระเข้น้ำเค็มจะมีความผันแปรอยู่เล็กๆ น้อยๆ และต้องรอผลการตรวจดีเอ็นเออีกครั้ง