รณรงค์ปรับทัศนคติวินัยจราจร ใช้ชีวิตร่วมกับรถไฟฟ้าภูเก็ต
กระทรวงคมนาคม ให้ สนข.ร่วมกับภูเก็ต ทำการรณรงค์ระบบขนส่งสาธารณะ และความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ร่วมกับรถไฟฟ้ารางเบา เป็นการปรับทัศนคติ โดยเฉพาะวินัยการใช้รถใช้ถนน และการเคารพกฎจราจร ครั้งใหญ่ หวังแบ่งเบาลดภาระการใช้รถใช้ถนนให้น้อยลง เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน หลังโครงการรถไฟฟ้าเสร็จสมบูรณ์ และเปิดให้บริการใน ปี 2566 แต่หากภายใน 4-5 ปี ปรับทัศนคติแบบเดิมที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันไม่ได้ 39,000 ล้านบาทที่ลงทุน ก็เป็นแค่อีกหนึ่งกิจกรรมประดับเมืองท่องเที่ยวโลก ที่เป็นปลื้มกัน…
จากการที่ภูเก็ตประสบปัญหาการจราจรอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการเติบโตอย่างไร้ทิศทางของจังหวัด ด้วยการเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่ผู้ประกอบการ และนักลงทุนทั้งคนไทย และต่างชาติที่เข้ามากอบโกยเอาแต่ผลประโยชน์อย่างเดียว ชนิดที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา ด้วยการโรดโชว์ดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาอย่างไม่มีจำกัด ไม่คำนึงถึงคุณภาพ โรงแรม ที่พักผุดเป็นดอกเห็ด ทุกซอกซอย ทั้งกำลังแรงงาน และยานพาหนะทุกรูปแบบทะลักเข้ามาอัดยัดทะนาน จนเป็นปัญหา
ปัญหาการจราจร อุบัติเหตุบนท้องถนนจึงเกิดขึ้นทุกวัน จากการขาดวินัยการใช้รถใช้ถนน เจ้าหน้าที่จราจรหย่อนยานการบังคับใช้กฎหมาย จนที่สุดมีการลงทุนแก้ปัญหาการจราจรในจังหวัดภูเก็ตด้วยการสร้างทางลอด ตัดถนนเพิ่ม และล่าสุดเป็นโครงการรถไฟฟ้าที่ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า “ได้เกิด” ภายใต้การดำเนินงานของ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กระทรวงคมนาคม โดยให้ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” (รฟม.)ดำเนินโครงการ ว่ากันว่า โครงการนี้ผ่านฉลุยทุกขั้นตอน และจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีหน้า หรือปี 2563 กำหนดเสร็จได้ใช้ในปี 2566 ด้วยงบประมาณลงทุนเบ็ดเสร็จ 39,406 ล้านบาท
ปัญหาวินัยการใช้รถใช้ถนน ในปัจจุบันของจังหวัดภูเก็ต ที่ไม่เคารพกฎจราจร แม้กระทั่งสัญญาณไฟยังไม่สน “ไฟเหลืองเร่ง ไฟแดงผ่า” มีให้เห็นทุกสี่แยก จราจรยืนทำตาปริบๆ เป็นสากกะเบือ มีโอกาสจะบวก จะจูบ จะผสมพันธ์กับรถไฟฟ้าค่อนข้างแน่นอน และประชาชนที่คุ้นเคยกับการใช้รถส่วนตัวทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งนักท่องเที่ยวจะให้ความนิยม หรือเปลี่ยนทัศนคติหันมาใช้รถไฟฟ้ากันหรือไม่ เพราะความสะดวกมันต่างกัน จากถลางมาถึงในเมือง ลงสถานีใด สถานีหนึ่งแล้ว จะเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางอีกแห่ง จะให้เดินเท้าตากแดดตากฝน หรือนั่งจักรยานยนต์รับจ้างคงจะหืดขึ้นคอ ระยะทางแค่กิโลสองกิโลก็ 50 บาทขึ้น
ขนาดรถโพถ้องในเขตเมืองของ อบจ.ภูเก็ต วิ่งนำร่องบริการอยู่ 2 สายมาหลายขวบปี ก็เห็นมีแต่นักเรียน และผู้สูงวัย คนชราเท่านั้นที่ปีนขึ้นรถ ล้มลุกคลุกคลานกัน ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่นิยม แม้แต่นักท่องเที่ยวยังไม่สน หันไปใช้รถเช่าทั้งนั้น
มารอบใหม่ โครงการใหม่ใหญ่ระดับชาติ โครงการรถไฟฟ้ารางเบา คราวนี้งบลงทุน 39 หมื่นล้านบาท ที่ว่ากันว่า เหมือนรถรางเมืองกรุงในอดีต แต่นี่… ทันสมัยกว่า ใช้ความเร็วได้ขณะวิ่งนอกเมือง เมื่อชัดเจนแล้วว่า โครงการนี้เกิด กระทรวงคมนาคมได้มอบให้ สนข. ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต รณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้นโยบาย “One Transport, One Family” เดินทางปลอดภัย ใส่ใจเพื่อนร่วมทาง ในระบบขนส่งทุกรูปแบบ พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ต่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในการใช้รถ ใช้ถนนในจังหวัดภูเก็ต เพื่อรองรับการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) ที่คาดหมายว่า จะให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดพังงาได้ในปี 2566
ก่อนหน้านี้ นายนิรันดร์ เกตุแก้ว ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้เปิดเผยหลังจากการเข้าร่วมประชุม กรอจํงหวัดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561ที่ผ่านมาว่า รถไฟฟ้ารางเบา ของประเทศไทย ในอดีตคือ รถรางในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ในปัจจุบันมีระบบที่ทันสมัยมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และใช้สำหรับในเมือง ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตมีความพิเศษ คือกำหนดเส้นทางการวิ่ง เพื่อให้บริการพื้นที่ นอกเมือง
ดังนั้น รถไฟฟ้ารางเบาของจังหวัดภูเก็ตจะทำความเร็วได้ และสามารถวิ่งช้าในเมืองได้ รองรับเส้นทางสายหลักของจังหวัดภูเก็ต คือถนนทางหลวง 402 ซึ่งจากการสำรวจพบว่าประชาชน 2 ข้างทางมีจำนวนมาก เส้นทางการวิ่งของรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ตผ่านชุมชน และโรงเรียนถึง 40 โรงเรียน นั่นหมายความว่า พี่น้องประชาชนนักเรียนนักศึกษาจะได้ใช้บริการ ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวก ให้แก่ประชาชนในเมืองจะได้ไม่ต้องใช้รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ก็จะทำให้รถยนต์ส่วนบุคคลในเมืองลดลง
ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวที่ลงจากเครื่องที่สนามบินนานาชาติภูเก็ต ก็สามารถใช้ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบาเพื่อเดินทางเข้าเมือง หรือไปต่อบริการรถโดยสารสาธารณะเพื่อไปสู่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ได้ และคาดว่าหลังจากรถไฟฟ้ารางเบาเปิดให้บริการแล้วจะทำให้การจราจรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เกิดความคล่องตัวขึ้น จากข้อมูลที่รวบรวมพบว่าในปัจจุบันประชาชนก็ให้ความสนใจใช้บริการ รถไฟฟ้ารางเบา หรือระบบรางเพิ่มมากขึ้น
นายนิรันดร์ กล่าวว่า เพราะฉะนั้นชาวภูเก็ตจะต้องมีการปรับตัว ปรับวิธีการเดินทาง ปรับการอยู่ร่วมกันระหว่างรถขนส่งมวลชน รถไฟฟ้ารางเบากับ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถขนส่งสาธารณะ และคนเดินถนน โดยเฉพาะในเขตเมือง เนื่องจากพื้นที่จังหวัดภูเก็ต มีเขตทางที่จำกัด ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่รถไฟฟ้ารางเบาเข้าสู่ตัวเมือง รถยนต์ในพื้นที่ จะต้องช่วยหลีก หยุด หรือชะลอความเร็วเพื่อให้รถไฟฟ้ารางเบาไปก่อน เนื่องจากบรรทุกคนมา 200-300 คน ซึ่งในประเด็นนี้ สนข.จะเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพราะจังหวัดภูเก็ตถือเป็นจังหวัดแรกที่มีการนำระบบรถไฟฟ้ารางเบามาให้บริการ ซึ่งช่วงแรกๆ ประชาชนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเคย ก็ต้องค่อยๆ ปรับตัวกันไป และสุดท้ายก็จะอยู่ร่วมกันได้ จะทำให้บ้านเมืองของ จังหวัดภูเก็ต น่าอยู่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามหลังจากนี้รฟม. จะลงมาในพื้นที่อีกครั้งหนึ่งเพื่อมารับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการกำหนดสถานีจุดจอดรถไฟฟ้ารางเบาให้มีความเหมาะสมและตรงกับความต้องการของพี่น้องประชาชน
ต่อมา เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2561ที่ผ่านมานี้ นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ขณะมาทำกิจกรรมรณรงค์กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมตระหนักถึงความสำคัญของการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน กำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นนโยบายสำคัญที่สุดที่ทุกหน่วยงานในสังกัด จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ พร้อมจัดบริการและอำนวยความสะดวกทุกโหมดการเดินทางของประชาชนอย่างเพียงพอ และต้องปลอดภัย ผ่านการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการของทุกหน่วยในสังกัด ภายใต้นโยบาย One Transport, One Family แนวคิด “ขับช้า เปิดไฟหน้า คาดเข็มขัด” ในระบบขนส่งทุกรูปแบบการเดินทางที่ต้องเชื่อมต่อกัน เพื่อความสะดวกและปลอดภัยสูงสุดของประชาชน ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทุกพื้นที่ทั่วไทย ทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ควบคู่กับการควบคุมกำกับดูแล และอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน
โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต ตลอดเวลาที่ผ่านมามีปัญหาการจราจรที่คับคั่ง ติดขัด ทําให้เกิดความสูญเสีย ทางเศรษฐกิจ ผลเสียต่อสุขภาพ ชีวิต ทรัพย์สิน และความสูญเสียทางงบประมาณและการลงทุนอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานจนกระทั่งปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากความต้องการการเดินทางของประชาชน ตลอดถึงนักท่องเที่ยวที่มีมากเกินกว่าความจุของถนน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของเมือง การขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสม
นายวิจิตต์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่งในจังหวัดภูเก็ตและพังงา เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและเสริมสร้างศักยภาพให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเทียบเท่าสากล โดยได้ขับเคลื่อนภูเก็ตสู่การเป็นนครแห่งอันดามัน ที่มีชื่อเสียงระดับโลกต่อไป และเร่งรัดให้มีการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) ในปี 2563 นี้ และจะสามารถให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงาได้ในปี 2566 มีระยะทาง 58.5 กิโลเมตร โดยในช่วงท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต ถึง ห้าแยกฉลอง มี 21 สถานี แบ่งเป็น สถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี
ประกอบด้วย 1.สถานีท่าอากาศยานภูเก็ต เป็นสถานียกระดับ 2.สถานีเมืองใหม่ 3.สถานีโรงเรียนเมืองถลาง 4.สถานีถลาง เป็นสถานีใต้ดิน 5.สถานีอนุสาวรีย์ ท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร 6.สถานีเกาะแก้ว 7. สถานีขนส่ง 8.สถานีราชภัฎภูเก็ต 9.สถานีทุ่งคา 10.สถานีเมืองเก่า 11.สถานีหอนาฬิกา 12.สถานีบางเหนียว 13.สถานีห้องสมุดประชาชน 14.สถานีสะพานหิน 15.สถานีศักดิเดชน์ 16.สถานีดาวรุ่ง 17.สถานีวิชิต 18.สถานีเจ้าฟ้าตะวันออก 19.สถานีป่าหล่าย 20. สถานโคกโตนด 21.สถานีฉลอง และอีก 3 สถานี เป็นสถานีระดับดิน อยู่ในการพัฒนาโครงการระยะที่ 2 อยู่นอกเหนือขอบเขตที่ รฟม. จะดำเนินการในครั้งนี้ ประกอบด้วย สถานีท่านุ่น สถานีท่าฉัตรชัย และสถานีประตูเมืองภูเก็ต
นายวิจิตต์ กล่าวอีกว่า จังหวัดภูเก็ตนั้นนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในระดับโลก สร้างรายได้เข้าประเทศหลายแสนล้านบาทต่อปี มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเฉลี่ยเดือนละมากกว่าหนึ่งล้านคนตลอดทั้งปี ทำให้ปริมาณการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของจังหวัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือระบบขนส่งสาธารณะ เกินขีดความสามารถในการรองรับและให้บริการได้ ทำให้การเดินทางสัญจรของประชาชนและนักท่องเที่ยว ระหว่างท่าอากาศยาน หรือจากจังหวัดพังงา กับแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงในตัวเมืองต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนเส้นทางคมนาคมขนส่งหลักของจังหวัดภูเก็ต คือทางหลวงหมายเลข 402 ซึ่งเกิดปัญหาการจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก ประกอบกับระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง ยังไม่ได้รับความนิยม และไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ กระทรวงคมนาคมจึงได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในจังหวัดภูเก็ตขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและเสริมสร้างศักยภาพให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเทียบเท่าสากล โดยได้ขับเคลื่อนภูเก็ตสู่การเป็นนครแห่งอันดามัน ที่มีชื่อเสียงระดับโลกต่อไป
และเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2561ที่ผ่านมา ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี พ.ศ.2547 จังหวัดภูเก็ต สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต จัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ต่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ในจังหวัดขึ้น โดยมีผู้บริหาร สนข. ส่วนราชการ ส่วนงานท้องถิ่น ดารานักแสดงพร้อมประชาชน เข้าร่วมงาน ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ต่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้ยานพาหนะส่วนตัว รวมทั้งให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและพังงา
การรณรงค์ปรับทัศนคติ รักษาวินัยจราจร เพื่อการใช้รถใช้ถนน และใช้ชีวิตร่วมกับรถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ตนั้นยังมีเวลา 4-5 ปี เป้าหมายน่าจะอยู่ที่คนรุ่นใหม่ ตามสถาบันการศึกษา ครูอาจารย์น่าจะมีบทบาท ในการรณรงค์เน้นย้ำปลูกฝังแต่เนิ่นๆ และเขาเหล่านั้นต้องใช้บริการของขนส่งมวลชนในการเดินทางเป็นหลัก ก็น่าจะทำได้และเป็นแบบอย่างที่ดี ส่วนพวกดื้อรั้นดันทุรังไม่กลัวนรกสวรรค์ ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรม ยมบาล เห็นที่จะต้องปล่อยไปตามยถากรรมให้สูญพันธ์ไปเอง
ก็ตั้งความหวังว่า ชาวภูเก็ตน่าจะไม่ใช่ชาวภูเก็ตโดยแท้แล้ว จะต้องเป็นประชาชนที่มาอยู่ และทำมาหากินในจังหวัดภูเก็ตแห่งนี้ รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั้งหลาย คงต้องปรับตัวหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนกันทั่วหน้าแทนการใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ส่วนตัวกัน รวมทั้งนักท่องเที่ยวก็ควรจะเลิกเช่ารถขับเอง เพราะไม่คุ้นทาง คุ้นสถานที่ หนำซ้ำยังไม่รู้จักถนนหนทาง และรู้กฎจราจรเมืองไทยเสียด้วยซ้ำ
แต่หากภายใน 4-5 ปี ยังปรับทัศนคติให้เลิกนิยมแบบเดิมๆ ไม่ได้ ก็ต้องเตรียมสำรองอะไหล่ส่วนประกอบของรถไฟฟ้า หรือสำรองรถไว้ขนถ่ายผู้โดยสาร เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ไว้ด้วย เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวเสียเวลาตกเครื่องบิน ถ้าเป็นอย่างนั้นโครงการนี้ 39,406 ล้านบาท ก็เท่ากับ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หรือละลายทะเล และเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมประดับเมืองท่องเที่ยว.