รถไฟภูเก็ตคลอดแน่ ประมูลกลางปีหน้า วงเงิน 2.8 หมื่นล้าน
สนข.เผยโครงการรถไฟฟ้าภูเก็ต และโครงการรถไฟฟ้าเชียงใหม่ ว่าของภูเก็ตเห็นเป็นรูปธรรมแล้ว กำลังจี้ที่ปรึกษาทำรายละเอียดเพิ่มเติม คาดส่งเข้ากระทรวงคมนาคม พิจารณาเดือนนี้ แล้วส่งให้ รฟม. พิจารณาอีก 4 เดือน ก่อนเสนอเข้า ครม.ต้นปีหน้า คาดประมูลทำสัญญาได้กลางปี 61 ส่วนผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ผ่านฉลุย สำหรับของเชียงใหม่ ยังอยู่ระหว่างศึกษา ทำแผนแม่บท
แหล่งข่าวสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ตสายท่านุ่น-สนามบิน-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 60 กม. วงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท รวม 23 สถานี ขณะนี้คณะกรรมการ สนข.ได้เห็นชอบโครงการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเร่งรัดให้ที่ปรึกษาจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการก่อนส่งกลับมาที่ สนข.ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2560 ก่อนนำโครงการเสนอกระทรวงคมนาคมได้ในเดือนเดียวกัน
จากนั้นส่งต่อโครงการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการศึกษาต่อในรูปแบบการลงทุนแบบพีพีพี คาดว่าทางรฟม.จะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้หรือราว 4 เดือน ดังนั้นโครงการนี้น่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเพื่อเห็นชอบได้ภายในต้นปีหน้าเพื่อให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนการประมูลโครงการและเซ็นสัญญาได้ช่วงกลางปี 61 รวมถึงการเริ่มต้นก่อสร้างทันทีตามกรอบเวลาที่รองนายกรัฐมนตรีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ให้ไว้กับสนข.
ส่วนด้านความคืบหน้าของรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลองนั้นส่วนใหญ่สามารถดำเนินการไปได้ด้วยดีไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใดในขั้นตอนการเสนอขออนุมติเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังคงติดเพียงปัญหาเล็กน้อยอย่างเรื่องอุบัติเหตุเท่านั้น ส่วนด้านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมช่วงสนามบินภูเก็ต-ท่านุ่นนั้นยังคงไม่ได้ข้อสรุปถึงรูปแบบโครงสร้างพื้นฐานของแนวเส้นทางในบางจุด เช่น การสร้างสะพานข้ามฝั่งทะเลหรือการสร้างเป็นทางยกระดับเชื่อมต่อการวิ่งบนดิน
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่นั้น ขณะนี้ที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ระหว่างศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่ง คาดว่าจะสามารถส่งรายงานศึกษาฉบับเต็มกลับมาที่สนข.ได้ในช่วงเดือนส.ค.นี้ เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงคมนาคมรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอให้ครม.พิจารณาอนุมัติในเดือนต.ค.
โดยเบื้องต้นรูปแบบของโครงการนั้นรัฐบาลจะต้องเป็นผู้ลงทุนโครงข่ายและอุดหนุนค่าใช้จ่ายในกรณีที่ขาดทุน ซึ่งมี 2 แนวทางคือ รัฐบาลลงทุนเองทั้งหมด หรือรัฐบาลร่วมทุนกับเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ส่วนด้านขั้นตอนรายละเอียดและความเหมาะสมรูปแบบการร่วมทุนนั้นทาง สนข.จะส่งต่อให้รฟม.ไปศึกษาแนวทางการก่อสร้างงานโยธาและรูปแบบการบริหารว่าใครจะเป็นผู้ก่อสร้างหรือใครดูแลด้านบริหารตลอดจนแนวทางการสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือโครงการในอนาคตถ้าเกิดสภาวะขาดทุน อย่างไรก็ตามต้องลุ้นว่าโครงการนี้จะสามารถเข้าสู่กลุ่มพีพีพีฟาสต์แทร็กได้หรือไม่ เนื่องจากจะเป็นการเปิดช่องให้รฟม.สามารถเดินหน้าศึกษาแนวทางการร่วมทุนได้เลยโดยไม่ต้องรอครม.อนุมติในช่วงเดือนต.ค.เพื่อเร่งรัดให้ขั้นตอนการเปิดประมูลทำได้รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้หากเป็นไปตามกรอบเวลาเดิมนั้น สนข.คาดว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถเปิดเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูลและได้ตัวผู้รับเหมาภายในกลางปี 2561 ตามแผนที่วางเอาไว้
สำหรับโครงข่ายเส้นทางขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่นั้น ผลการศึกษาได้ข้อสรุปทางเลือก 2 รูปแบบคือ แบบ A เป็นโครงข่ายผสมผสานที่ใช้ทางวิ่งบนดินและใต้ดิน และแบบ B เป็นโครงข่ายทางวิ่งบนดิน ซึ่งใช้ขนส่งระบบหลักคือ รถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit : LRT) มีระบบรองคือ รถบัสหรือรถเมล์ที่จะเป็น Feeder เชื่อมต่อการเดินทาง แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้แบบบนดินหรือใต้ดิน เนื่องจากต้องรอผลการศึกษาตัวเต็มที่เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างครบถ้วนซึ่งมีชาวบ้านบางส่วนมองว่าระบบรถไฟฟ้าใต้ดินอาจสร้างความเสียหายแก่โบราณสถานในตัวเมืองเชียงใหม่ อย่างไรก็ตามเบื้องต้นรถไฟฟ้าเชียงใหม่ที่จะพิจารณาเลือกใช้ ประกอบด้วย 3 เส้นทางหลักได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดง ระยะทาง 12 กิโลเมตร โรงพยาบาลนครพิงค์-สนามบินเชียงใหม่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ระยะทาง 11 กิโลเมตร มี ช่วงแยกรวมโชค-เชียงใหม่ไนท์บาซาร์-เซ็นทรัลแอร์พอร์ต รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ระยะทาง 12 กิโลเมตร ช่วงสวนสัตว์เชียงใหม่-ซุปเปอร์ไฮเวย์