รถไฟ-อุโมงค์ป่าตอง-ท่าเรือใหม่ เมืองภูเก็ตคาดอีก3ปีได้นั่งได้เห็น
จังหวัดภูเก็ตประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก รองผอ.สนข.เผยความคืบหน้า รถไฟรางเบา ออกแบบสมบูรณ์แล้ว ส่งรฟม.ดำเนินการผลักดัน จัดขั้นตอนดำเนินการสร้างให้ได้ภายในปลายปี 2562 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี จากสนามบิน – ห้าแยกฉลอง ด้วยเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท ขณะที่อุโมงค์ป่าตองชัดเจนแล้ว ใช้งบ 13,917 ล้านบาท เป็นค่าเวนคืนที่ดิน 5,686 ล้านบาท และค่าก่อสร้างรวมค่าควบคุมงาน 8,231 ล้านบาท ทั้งสองโครงการล้วนให้เอกชนร่วมลงทุน ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก เป็นท่าเรือท่องเที่ยว รับเรือสำราญ ที่บริษัท ภูเก็ต ดีพ ซี พอร์ต ได้รับสัมปทานด้วยการเสนอให้กรมธนารักษ์ 345 ล้านบาท สัญญา 30 ปี เปิดแผนโครงการประชาสัมพันธ์ ประเดิมเฟสแรก ขยายหน้าท่าอีก 60 เมตร รับเรือสำราญได้ 2 ลำ พร้อมอาคารรองรับผู้โดยสาร ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม เสร็จภายใน 180 วัน เงินลงทุนก้อนแรกพันล้านบาท
เมื่อเช้าวันที่ 1 มิถุนายน 2561 เวลา 09.00 น.เศษ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดภูเก็ตครั้งที่ 3/2561 ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ อาคารคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยมีคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วม
โดยที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญของจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้ารางเบา,โครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง(อุโมงค์ทางลอด),โครงการพัฒนาท่าอากาศยาน,โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และความคืบหน้าโครงข่ายทางหลวง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับกรมทางหลวงในพื้นที่ รวมถึงมีการติดตามความคืบหน้าโครงการขนาดใหญ่ของจังหวัดภูเก็ต งานพัฒนาทางหลวงปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2561, โครงการพัฒนาทางหลวงแขวงทางหลวงภูเก็ตปีงบประมาณ พ.ศ. 2561, โครงการตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดภูเก็ตปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เพิ่มเติม (งบกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน) และโครงการที่กำลังสำรวจและออกแบบรายละเอียด
ภายหลังจากการประชุม นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมด้วย นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้ารางเบา และ โครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง (อุโมงค์ป่าตอง)
นางวิไลรัตน์ เผยว่า โครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ตนั้น คืบหน้าเป็นลำดับ โดยขณะนี้ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้ารางเบานี้ ได้กำหนดแผนงานในการขับเคลื่อนโครงการฯ โดยมีการแต่งตั้งผู้รับจ้าง บริษัทที่ปรึกษาเข้าดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามกฎหมาย ว่าด้วยการให้เอกชนเข้ามาลงทุนในกิจการของรัฐ ที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน (เดือนก.ย.61) หลังจากนั้นบริษัทที่ปรึกษาจะใช้เวลาอีก 6 เดือน (เดือน เม.ย. 2562) ในการศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม และจะนำผลการศึกษารูปแบบการลงทุนเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด รฟม.ตามด้วยกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP เห็นชอบ
หลังจากคณะกรรมการ PPP เห็นชอบในรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมแล้ว รฟม.จะออกประกาศประกวดราคาข้อเสนอโครงการ เพื่อคัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุน ทั้งในส่วนของการก่อสร้าง ด้านโยธา ด้านระบบรถไฟฟ้า และการให้บริการเดินรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งตามแผนที่กำหนดไว้จะได้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในช่วงปลายปี 2562 หลังจากนั้นในต้นปี 2563 จะเริ่มการก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี หากทุกอย่างสามารถเดินไปตามแผนที่กำหนดไว้ โครงการรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต น่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2566 หรือ ปี 2567 โดยขณะนี้ผลการศึกษาวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม หรือ EIA เข้าสู่การพิจารณาในรอบแรกไปแล้ว กำลังรอเข้าสู่การพิจารณารอบที่ 2 ต่อไป
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต หรือ Light Rall Transit หรือ Tranway เส้นทางสนามบินภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง โดยเริ่มต้นจากสนามบินภูเก็ต มาทางถนนสาย 4026 เชื่อมกับถนนสาย 402 หรือ ถนนเทพกระษัตรี ผ่านแยกบางคู เข้ามายังตัวเมืองภูเก็ต ไปทางถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ผ่านโรงเรียนดาวรุ่ง ไปจนถึงห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41 กิโลเมตร มีสถานีจอด 22 สถานี มีอุโมงค์ทางลอดรถไฟฟ้า 6 จุด ใช้เงินลงทุน 30,000 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าของโครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง (ทางลอดอุโมงค์) เป็นการก่อสร้างเชื่อมการเดินทางจากอำเภอกะทู้ไปยังป่าตอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัด เป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุทางถนนในเส้นทางดังกล่าว ขณะนี้ผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้ามาลงทุนในกิจการของรัฐได้ข้อสรุปแล้วว่า รูปแบบที่เหมาะสมที่สุดในการลงทุนคือ การให้สัมปทานเอกชนลงทุนเก็บค่าใช้ทาง มูลค่าการลงทุนในโครงการรวม 13,917 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์หรือเวนคืนที่ดิน 5,686 ล้านบาท และค่าก่อสร้างรวมค่าควบคุมงาน 8,231 ล้านบาท
โดยแนวทางจะเป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง (สำหรับรถยนต์ 2 ช่องจราจร และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจร) มีจุดเริ่มต้นโครงการที่ตำบลป่าตอง บริเวณถนนพระเมตตา เป็นทางยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ จนถึงเขานาคเกิด ระยะทาง 0.9 กม. แล้วจึงเป็นอุโมงค์ ระยะทาง 1.85 กม. หลังจากนั้นเป็นทางยกระดับ ระยะทาง 1.23 กม. สิ้นสุดโครงการที่ ตำบลกะทู้ บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 ระยะทาง 3.98 กม.
ทั้งนี้โครงการถูกบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2558 -2562 โดยคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ได้มีมติเห็นชอบแผนดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 และได้นำเสนอ ค.ร.ม.. ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 หลังจากนั้นประกาศเชิญชวนให้เอกชนลงทุน ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี
ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่เดิมทีเป็นท่าเรือสินค้า ต่อมาสินค้าผ่านท่าเรือน้อยลง การท่องเที่ยวโตขึ้น มีเรือสำราญ เรือครุยซ์ขออาศัยเข้าเทียบท่าแทน เมื่อผู้บริหารเก่าหมดสัญญา บริษัทใหม่คือ บริษัท ภูเก็ต ดีพ ซี พอร์ต จำกัด เสนอราคา 345 ล้านบาทให้กรมธนารักษ์ ได้เปิดแผนโครงการท่าเรือท่องเที่ยวภูเก็ต (Phuket Cruise Home Port) ทำประชาพิจารณ์ เมื่อตอนสายของวันที่ 5 มิถุนายน 2561ที่ โรงแรมเคปพันวา ภูเก็ต เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนา และดำเนินการ บริหารท่าเรือภูเก็ต เป็นเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป
โดยมี นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า เป็นประธาน พร้อมด้วย นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายวัลลภ พงษ์เลื่องธรรม ผู้จัดการท่าเรือ บริษัท ภูเก็ต ดีพ ซี พอร์ต จำกัด หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน เข้าร่วม
นายวัลลภ พงษ์เลื่องธรรม ผู้จัดการท่าเรือ บริษัท ภูเก็ต ดีพ ซี พอร์ต จำกัด กล่าวว่า ภายหลังจากที่ บริษัท ภูเก็ต ดีพ ซี พอร์ต จำกัด ได้รับสัมปทานจากกรมธนารักษ์ให้เข้ามาดำเนินการบริหารท่าเรือภูเก็ต เป็นเวลา 30 ปี บนเนื้อที่ 106 ไร่ ทางบริษัทได้กำหนดแผนในการพัฒนาออกเป็น 4 เฟส โดยเฟสแรก ต้องดำเนินการไปตามสัญญาใน TOR ที่ทำไว้กับกรมธนารักษ์ ด้วยการลงทุนก่อสร้างอาคารสำหรับรองรับผู้โดยสารบนพื้นที่ 900 ตรม.มีการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบๆ ท่าเรือภูเก็ตให้เกิดความสวยงาม รวมถึงการขยายหน้าท่าให้สามารถรองรับเรือโดยสาร หรือเรือสำราญให้ได้มากยิ่งขึ้น
เนื่องจากท่าเรือภูเก็ตเดิมนั้น ได้ถูกออกแบบให้เป็นท่าเรือสำหรับขนส่งสินค้ามาตั้งแต่เริ่มต้น แต่เมื่อปริมาณสินค้าที่ผ่านท่าเรือลดลง ในขณะที่การท่องเที่ยวทางเรือเติบโตขึ้น ได้มีเรือสำราญขอเข้ามาใช้บริการจอดเทียบท่าเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หน้าท่าที่มีอยู่ในขณะนี้มีศักยภาพไม่เพียงพอในการรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ได้
ทางบริษัทจึงได้เสนอแผนในการขยายหน้าท่าเพิ่มอีก 60 เมตร ด้วยการลงทุนขยายหน้าท่าให้ลักษณะของเสาผูกเรือ จากเดิมที่หน้าท่ามีความยาว 360 เมตร เป็น 420 เมตร สามารถรองรับเรือสำราญ หรือเรือครุย ที่มีความยาว 240 เมตร ได้พร้อมกัน 2 ลำ เป็นการเพิ่มศักยภาพของท่าเรือภูเก็ตในการรองรับการท่องเที่ยวทางทะเลด้วยเรือสำราญมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เท่าที่ทราบในอีก 2 ปี ทางกรมเจ้าท่ามีโครงการที่จะขุดลอกล่องน้ำของท่าเรือภูเก็ต เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ จากขณะนี้ที่ล่องน้ำลึกประมาณ 8 เมตร สามารถรองรับเรือที่เกินน้ำลึกได้ 200-240 เมตร ให้ลึก 12 เมตร เพื่อรับเรือขนาด 360 เมตร
โดยการปรับปรุงและขยายขีดความสามารถท่าเรือภูเก็ตจะแล้วเสร็จภายใน 18 เดือนนับจากนี้ ซึ่งเมื่อการปรับปรุงแล้วเสร็จจะทำให้ท่าเรือภูเก็ตมีศักยภาพ และนักท่องเที่ยวมีความสะดวกสบายในการใช้ท่าเรือภูเก็ตมากยิ่งขึ้น โดยในเฟสที่ 1 นี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท และท่าเรือภูเก็ตจะลดการรองรับเรือบรรทุกสินค้าลงไปเรื่อยๆ คาดว่าภายใน 5 ปีนับจากนี้การขนส่งสินค้าจะหมดไปจากท่าเรือภูเก็ต
ส่วนเฟสที่ 2 จะพัฒนาเพิ่มในส่วนสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม ทั้งร้านอาหาร ดิวตี้ฟรี ร้านจำหน่ายของที่ระลึก อาคารสำนักงาน และอื่นๆ หลังจากนั้น ตามมาด้วย เฟสที่ 3 ที่วางแผนจะพัฒนาเป็นศูนย์ประชุมหรือศูนย์แสดงสินค้า และเฟสที่ 4 คือ การเจรจาขอซื้อที่ดินจากเอกชนแปลงที่อยู่ติดกับท่าเรือ พัฒนาเป็นโรงแรมหรูต่อไป