รฟม. จัดการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็น (เพิ่มเติม) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง
รฟม. จัดการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็น (เพิ่มเติม)
โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็น (เพิ่มเติม) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง โดยได้รับเกียรติจากนายปิยพงษ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา และประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสื่อมวลชน เข้าร่วมการประชุมฯ ณ ห้องประชุมภูเก็ต แกรนด์บอลรูม 1-2 ชั้น 2 โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า รฟม. ในฐานะผู้ดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง จัดการประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการฯ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากประชาชน องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น และตัวแทนภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานโครงการฯ มีความครบถ้วนตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งได้มอบหมายให้ รฟม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาข้อสรุปแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมของโครงการฯ รวมทั้งเป็นไปตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มอบหมายให้ รฟม. และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมบูรณาการ การดำเนินงานและแผนงานโครงการด้านคมนาคมในจังหวัดภูเก็ตร่วมกัน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการจราจรที่อาจส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตในระหว่างการก่อสร้างโครงการฯ
โดย รฟม. ได้นำเสนอข้อมูลทางเลือกระบบรถไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับโครงการฯ ประกอบด้วย 2 ระบบหลัก คือ ระบบขับเคลื่อนด้วยล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) และระบบขับเคลื่อนด้วยล้อยาง (Rubber-Tyred Tram) ได้แก่ Guided Tram และ ART รวมถึงนำเสนอผลการเปรียบเทียบแผนการดำเนินโครงการฯ และแผนการบูรณาการร่วมกับโครงการก่อสร้างทางพิเศษ สายกะทู้ – ป่าตอง ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่มีแผนจะเปิดใช้ทางคู่ขนาน (Service Road) ในระหว่างการก่อสร้างโครงการฯ ในปี 2569 ซึ่งการบูรณาการร่วมกันดังกล่าวจะสามารถบรรเทาและลดผลกระทบการจราจรระหว่างการก่อสร้างโครงการฯ บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 (ถนนเทพกระษัตรี) ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ พร้อมกันนี้ ยังเปิดโอกาสให้ชาวจังหวัดภูเก็ตและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อทางเลือกการดำเนินโครงการฯ ซึ่ง รฟม. จะนำข้อมูลที่ได้รับจากการประชุมในครั้งนี้ ไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานโครงการต่อไป
สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วง ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง มีระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีทั้งหมด 21 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี และระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น – เมืองใหม่ มีระยะทางประมาณ 16.5 กิโลเมตร ซึ่ง รฟม. จะเริ่มดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 เป็นลำดับแรก โดยที่ผ่านมา รฟม. ได้ดำเนินการจัดงานสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Market Sounding) จำนวนทั้งสิ้น 2 ครั้ง ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งได้ทบทวนผลการศึกษาเดิมของ สนข. และหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงรูปแบบโครงการให้เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน พร้อมรองรับการเดินทางและการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตในอนาคต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดตามข่าวสาร รฟม. ได้ที่เว็บไซต์ รฟม. (www.mrta.co.th) เฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044