รมว.แรงงานฯ​ ลงพื้นที่​สำรวจ​ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการท่าเรือและแผนพัฒนาในระยะยาว​ โครงการท่าเรือยอร์ช และ อู่ซ่อมเรือยอร์ช

รมว.แรงงานฯ​ ลงพื้นที่​สำรวจ​ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุป

เกี่ยวกับโครงการท่าเรือและแผนพัฒนาในระยะยาว​ โครงการท่าเรือยอร์ช และ อู่ซ่อมเรือยอร์ช

                   เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าเรือซุปเปอร์ยอร์ช พอร์ต มัจฉานุ ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการท่าเรือและแผนพัฒนาในระยะยาว พร้อมสำรวจพื้นที่โครงการท่าเรือยอร์ช และ อู่ซ่อมเรือยอร์ช โดยมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมผู้บริหารกระทรวงแรงงานในจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนนายดิฐพงศ์ ฐิตะดิลก ประธานคณะผู้บริหาร และ นายฐากูร บุญมาก รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ภูเก็ต ซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า จำกัด ผู้บริหารโครงการท่าเทียบเรือพอร์ตมัจฉานุ ให้การต้อนรับพร้อมบรรยายสรุปแผนการพัฒนาท่าเทียบเรือ แลนำเยี่ยมโครงการอู่ต่อเรือยอร์ชของบริษัทฯ

                   นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปและลงพื้นที่โครงการฯ ว่า การลงพื้นที่พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงานนั้น เพื่อมาดูแนวทางในการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการจ้างงานในธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะแรงงานในธุรกิจเกี่ยวกับเรือยอร์ชและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ทำให้ทราบว่าภูเก็ต กำลังจะมีท่าเรือยอร์ชและอู่ซ่อมเรือยอร์ชที่ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ ซึ่งโครงการนี้จะมีส่วนร่วมในการกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต และสร้างกระแสเงินสดหมุนเวียนในอุตสาหกรรมทั้งระบบ รวมถึง การสร้างอัตราการจ้างงานของแรงงานฝีมือทั้งในระดับพื้นที่และระดับภูมิภาค จากการพูดคุยกับผู้บริหารโครงการฯ ทราบว่ามีความต้องการการแรงงานทักษะฝีมือสูง จำนวนกว่า 1,500 คน โดยเฉพาะในส่วนของช่างเชื่อม และ ช่างเชื่อมใต้น้ำที่ Up Skill เพิ่มมาตรฐานเทคนิคการเชื่อม 4G ถึง 6G ซึ่งเป็นเทคนิคการเชื่อมอลูมิเนียมขั้นสูงของอุตสาหกรรมการซ่อมเรือยอร์ช ทั่วโลก

                “กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีนโยบายในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยการพัฒนาฝีมือแรงงานที่ตอบสนองความต้องการแรงงานในพื้นที่ เพื่อสร้างการจ้างงาน และ รายได้ตามทักษะฝีมือแรงงาน สำหรับแรงงานภายหลังจากการเข้ารับการอบรม รวมถึงการสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมในระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน ในขั้นต้นได้มอบหมาย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการเร่งอบรมอัพสกิล ช่างเชื่อมและช่างเชื่อมใต้น้ำจำนวน 300 คน เพื่อรองรับการจ้างงาน ณ โครงการแห่งนี้ ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะมีงานรองรับเลยทันที มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งทำให้แรงงานกลุ่มนี้หลุดพ้น จากค่าแรงขั้นต่ำ”

                   นายพิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงแรงงาน พร้อมสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมในทุกภาคส่วน หากอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการใด ที่มีความต้องการแรงงานฝีมือ สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศไทย โดยทางกระทรวงแรงงานจะพยายามอย่างเต็มที่ ในการเร่ง UPSKILL ฝีมือแรงงานที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม และตลาดแรงงาน ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เพื่อทำให้พี่น้องแรงงานไทยหลุดพ้นจากค่าแรงขั้นต่ำ

                    นายดิฐพงศ์ ฐิตะดิลก ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ภูเก็ต ซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า จำกัด เปิดเผยถึงการลงทุนมารีน่า ว่า เดิมบริษัท ภูเก็ต ซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า จำกัด ได้ลงทุนอู่ซ่อมเรือยอชต์และเรืออื่นๆ อยู่แล้ว และจากที่ภูเก็ตมีเรือยอร์ชเข้ามาจำนวนมากในแต่ละปี และเห็นว่าเรือที่เข้ามานั้นมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นในระดับซูเปอร์ยอร์ช คือ มีความยาวตั้งแต่ 50 เมตรขึ้นไป จึงตัดสินใจขยายการลงทุนในส่วนของอู่ซ่อมเรือให้สามารถรองรับระดับซูเปอร์ยอร์ชได้ ด้วยเงินลงทุนเกือบ 500 ล้านบาทซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตามแผนที่วางไว้จะเปิดรับซูเปอร์ยอร์ชได้ปลายปี 2566 นี้ นอกจากเรายังมองเห็นโอกาสในการลงทุนมารีน่าเพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่ที่มีความยาวตั้งแต่ 50 เมตรขึ้นไป จึงตัดสินใจขยายการลงทุนเพิ่มในส่วนของมารีน่า หรือท่าจอดเรือยอร์ช “พอร์ต มัจฉานุ” ในพื้นที่ติดกับอู่ซ่อมเรือในส่วนที่อยู่ติดริมทะเล โดยอยู่ในขั้นตอนศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ไปแล้ว 1 ครั้ง

                     สำหรับ“พอร์ต มัจฉานุ” เป็นมารีน่าที่รองรับเรือขนาดใหญ่ ที่มีความยาวตั้งแต่ 50-60 เมตร ขึ้นไป โดยจะมีลักษณะเป็นทุ่นลอยน้ำ รองรับเรือได้ทั้งหมด 40 ลำ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกหน้าท่าทั้งหมด ซึ่งตามแผนที่วางไว้คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2567 และเปิดให้บริการภายในปี 2568 ที่จะถึงนี้