รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต แถลงสถานการณ์ ปริมาณขยะอันเนื่องมาจากการใช้บริการ Food Delivery Service ที่ส่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนโยบายของจังหวัดภูเก็ต
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต แถลงผลวิจัยปริมาณขยะใน จ.ภูเก็ต ที่ เกิดจากธุรกิจ Food Delivery Service พบพลาสติก-โฟม เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เสนอจังหวัดเร่งแก้ปัญหาก่อนขยะล้นเมือง พร้อมขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรณรงค์ให้ประชาชนรู้ถึงโทษของการใช้โฟมและพลาสติก
เมื่อวันที่ 7 พ.ย.62 เวลา 15.30 น. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้ แถลงข่าว ถึงสถานการณ์ปริมาณขยะอันเนื่องมาจากการใช้บริการ Food Delivery Service พบพลาสติก-โฟม เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เสนอจังหวัดเร่งแก้ปัญหาก่อนขยะล้นเมือง พร้อมขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรณรงค์ให้ประชาชนรู้ถึงโทษของการใช้โฟมและพลาสติก ที่จะส่งผลกระทบที่เกิดขึ้น ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต
รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้กล่าวถึง สภาพเศรษฐกิจ สังคมและการแข่งขันในปัจจุบัน ได้ทำให้วิถีชีวิตและพฤติกรรมของคนในสังคมหลายๆ ด้านเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รวมไปถึงพฤติกรรมการทานอาหาร แต่เดิมสำหรับคนที่ไม่ได้ปรุงอาหารที่บ้านจะมีการทานอาหารจากที่ร้าน ปัจจุบันได้เกิดธุรกิจให้บริการอาหารแนวใหม่ในโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า B2B2C หรือ Business to Business to Customer ซึ่งให้ผู้ประกอบการเข้ามาอยู่บน platform ของผู้คิดค้นการบริการ โดยในส่วนของธุรกิจอาหารได้เกิดการให้บริการการส่งอาหารถึงที่ Food delivery service เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ หรือพื้นที่จังหวัดที่ประชาชนอยู่อย่างแข่งขันและรีบเร่ง อย่างไรก็ตามได้เกิดปัญหาตามมาอันเนื่องมาจากธุรกิจดังกล่าวก็คือปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะ ซึ่งแต่เดิมถือเป็นปัญหาใหญ่และแก้ยากอยู่แล้วให้ซับซ้อนและรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก สำหรับจังหวัดภูเก็ตในรอบไม่กี่เดือนที่ผ่านมาธุรกิจ Food delivery service มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ในช่วงระหว่างวันที่ 19 – 22 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประกอบการที่ให้บริการ Food delivery service ในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 3 ราย มีผู้ทำหน้าที่ในการรับส่งให้บริการดังกล่าวมากกว่า 2,850 คน มีร้านที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 1,000 ร้าน และเมื่อวิเคราะห์ปัญหาขยะและบรรจุภัณฑ์ที่เกิดจากการให้บริการ Food delivery service ได้ผลที่น่าสนใจ การสั่งอาหารกล่อง จำนวนชิ้นของกล่องบรรจุอาหารที่เกิดจากบริการ Food delivery service กล่องกระดาษ 26.17% กล่องพลาสติก 25.68% กล่องโฟม 48.15% และหากในแต่ละวันไดร์เดอร์รับออร์อาหารคนละ 36 ครั้งต่อวัน จะทำให้มีขยะเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 37 ล้านชิ้น ในส่วนของจำนวนขยะช้อนพลาสติกที่เกิดจากบริการ Food delivery service รับช้อน 37.14% ไม่รับช้อน 68.86% และการสั่งเครื่องดื่ม แก้วพลาสติก 100% แก้วกระดาษหรือแก้วย่อยสลายได้ 0% จากข้อมูลการสำรวจวินัย การรับออเดอร์เครื่องดื่ม วันละ 17 ครั้ง/คน จะทำให้แต่ละปีมีขยะที่เป็นแก้วพลาสติกเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 17 ล้านชิ้น “ตัวเลขขณะที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น เป็นตัวเลขที่น่าตกใจมากๆ จากการให้บริการ Food delivery service ซึ่งเรื่องนี้ทางมหาวิทยาลัยได้นำเสนอกับทางจังหวัดภูเก็ตในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันหาแนวทางและมาตรการในการแก้ปัญหาขยะที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะขณะนี้ภูเก็ตมีขณะที่ต้องเข้าสู่เตาเผาถึงวันละ 900 ตันอยู่แล้ว หากปล่อยให้ปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเมืองในอนาคตอันใกล้นี้ได้”
รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ยังได้กล่าวถึง “จากข้อมูลดังกล่าว มหาวิทยาลัยฯ จึงสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะโดยไม่กระทบพฤติกรรมผู้บริโภค คือ 1.ให้ทางจังหวัดขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้ให้บริการFood delivery serviceให้ใช้บรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2.รณรงค์ให้ผู้ใช้บริการลดการใช้อุปกรณ์บางอย่างที่ไม่จำเป็น เช่น ช้อนพลาสติก โดยใช้ช้อนที่บ้านหรือมีช้อนส่วนตัวติดตัวไว้ หรือกรณีหลอดดูดพลาสติกให้ใช้หลอดกระดาษแทนหรือดื่มจากแก้วโดยตรง 3.รณรงค์ให้ไม่ใช้บริการร้านค้าที่ยังใช้บรรจุและอุปกรณ์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4.จังหวัดประกาศนโยบายและปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน เช่น ภูเก็ตเป็นจังหวัดปลอดโฟม และใครที่ฝ่าฝืนให้มีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง
เนื่องจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้มีการวางยุทธศาสตร์การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) มีการบูรณาการอนุรักษ์ด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการเรียนการสอน การวิจัย และในทุกกิจกรรมของมหาวิทยาลัย อาทิ ม.อ.ภูเก็ตปลอดโฟม 100% โครงการธนาคารขยะ และงดใช้บรรจุภัณฑ์โฟม ถุงพลาสติก แก้วน้ำ ช้อน ส้อม และหลอดพลาสติก เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายจังหวัดภูเก็ต ส่วนนักศึกษาหรือบุคลากรที่จะสั่ง Food delivery service จะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช่กล่องโฟมหรือกล่องพลาสติกหรือแก้วพลาสติก เพราะจะขัดกับนโยบาย และมีประกาศของมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน โดยทางสถาบันการศึกษาจะต้องเป็นผู้นำในการให้ความรู้และปฏิบัติเป็นรูปธรรม ในปี 2562 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เข้าร่วมกลุ่ม มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) คือ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก (UI Green Metric World University Ranking ) จัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (University of Indonesia) โดยมีมหาวิทยาลัยจากทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 360 มหาวิทยาลัย จาก 61 ประเทศทั่วโลก ส่วนเกณฑ์ที่ใช้วัดเป็นมาตรฐานในการให้คะแนนเพื่อจัดอันดับมีทั้งหมด 6 หัวข้อ ดังนี้ 1. Setting And Infrastructure (ที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐาน) 15% 2. Energy and Climate Change (การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) 21% 3. Waste management (การจัดการของเสีย) 18% 4. Water usage (การจัดการน้ำ) 10% 5. Transportation (การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) 18% และ 6. Education (ความสามารถในการให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน) 18% รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด
#Phuket #Thailand #กินไหนดีภูเก็ต #มีเดียภูเก็ต #ข่าวภูเก็ต #ท่องเที่ยวภูเก็ต #อาหารภูเก็ต #ช้อปปิ้งภูเก็ต #โรงแรมภูเก็ต #อสังหาฯภูเก็ต #เศรษฐกิจภูเก็ต www.phuketprice.com #ภูเก็ตไพรซ์