รัฐใช้ม.44เบรกพ.ร.ก.ฟ้าผ่า เปิดทางช่วยแรงงานต่างด้าว เผยภูเก็ตใช้กว่า74,000คน
ภาคธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวกระเทือนทั้งประเทศ หลังพ.ร.ก.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวประกาศใช้แบบสายฟ้าแลบ ฟ้าผ่าแบบไม่ทันตั้งตัวทำให้รัฐต้องใช้ ม.44 ออกมาเบรกตัวโก่ง ให้ผ่อนผัน ที่ภูเก็ต ผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาจังหวัดภูเก็ตซึ่งใช้แรงงานมากที่สุดเข้ายื่นหนังสือ ขอผ่อนผัน พร้อมแนะทางแก้พ่อเมืองต้องเปิดประชุมด่วน ถกทางออก เบื้องต้นขอให้ นายจ้างและแรงงานที่ผิดกฎหมาย เตรียมหลักฐาน ยื่นคำขออนุญาตทำงาน ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดในพื้นที่ ก่อนเดินทางไปยังศูนย์พิสูจน์สัญชาติ 6 ศูนย์ ภาคใต้ไปที่ระนอง เผยตัวเลขแรงงานต่างด้าวภูเก็ตมีจำนวนกว่า 74,000 คน ยังไม่พบการค้ามนุษย์ในพื้นที่ภูเก็ต แต่มีปัญหาเปลี่ยนนายจ้าง และย้ายสถานที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต
จากกรณีที่ได้มีการออกพระราชกำหนดบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการใช้แรงงานต่างด้าวโดยรวมทั่วประเทศ เพราะมีบทลงโทษรุนแรง ทำให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวหวดกลัว ต่างทยอยเดินทางกลับยังประเทศภูมิลำเนาของตน
ใช้ ม.44ผ่อนผัน
ให้ขออนุญาตด่วน
ดังนั้น เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยมีใจความสำคัญคือ ตามที่มีการประกาศใช้พระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่กําหนดให้นายจ้างและคนต่างด้าวมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลายประการ และได้กําหนดความผิดและบทกําหนดโทษ ในอัตรารุนแรง ซึ่งยังมิได้มีเวลาสร้างความรับรู้ความเข้าใจเพียงพอแก่ประชาชนจึงก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและอาจส่งผลกระทบต่อนายจ้างภาคครัวเรือน ภาคผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และภาคเกษตรกรรมจนกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมได้
ดังนั้น เพื่อให้นายจ้างและคนต่างด้าว รวมทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มีเวลาเตรียมการและดําเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อความเป็นธรรมและไม่เกิดผลกระทบในทางเศรษฐกิจและสังคมรุนแรงเกินควร โดยยังคงรักษาเจตนารมณ์ในการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าวทั้งระบบให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและยังคงมีมาตรการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจําเป็นต้องมีมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าวตามพระราชกําหนดดังกล่าวในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านการใช้บังคับกฎหมาย
ผู้ประกอบการพบผู้ว่าฯ
ขอให้ช่วยแนะทางออก
ต่อมาเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายประศาสตร์ บุญตันตราภิวัฒน์ ตัวแทนผู้ประกอบการชาวภูเก็ต พร้อมด้วย นายวีระชัย เสดสม ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาจังหวัดภูเก็ต และสมาชิกกว่า 20 คนเดินทางเข้าพบ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์ในการแก้ปัญหาความเดือดร้อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการออกพระราชกำหนดการบริหารการจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ของกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว พร้อมนำเสนอปัญหาความเดือดร้อนและแนวทางการแก้ไข โดยมี นายธีระ อนันตเสรีวิทยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนจัดหางานจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายประศาสตร์ บุญตันตราภิวัฒน์ ตัวแทนชมรมผู้ประกอบการชาวภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากได้มีการออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ. ศ.2560 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีการเพิ่มโทษนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายสูงสุดปรับถึง 8 แสนบาท รวมทั้งแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่เข้ามาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000- 100,000 บาท ส่งผลให้แรงงานส่วนหนึ่งเดินทางกลับประเทศ ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในการประกอบธุรกิจเป็นอย่างมาก จึงขอเรียนให้พิจารณา ให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ยังเป็นแรงงานเถื่อน, จัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และจัดทำระบบการทำงานของสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ตให้เป็นระเบียบและมีความรวดเร็วมากขึ้น
ด้าน นายวีระชัย เสดสม ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จาการออกพระราชกำหนดดังกล่าว ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาจังหวัดภูเก็ต และผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ได้รับผลกระทบเดือดร้อนรุนแรง เพราะต้องใช้แรงงานต่างด้าว ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยขอให้รัฐบาลเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ เพื่อผ่อนคลายภาวการณ์ขาดแคลนแรงงาน ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวอยู่ 3 กลุ่ม คือ แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารหรือที่เรียกว่าแรงงานต่างด้าวเถื่อน โดยรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาโดยนำเข้าสู่กระบวนการเอ็มโอยู แต่ยังมีปัญหา คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงได้แรงงานที่ไม่มีฝีมือ และเมื่อเข้ามาแล้วมักจะมีการหลบหนีไม่อยู่กับนายจ้างคนเดิม เป็นต้น จึงอยากให้รัฐบาลเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานอีกรอบ เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้นทั้งกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีเอกสารถูกต้องครบถ้วน และแรงงานต่างด้าวที่มีเอกสารแต่ยังไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ยังมีปัญหาในกระบวนการออกเอกสารของกรมจัดหางานที่มีผลกระทบกับผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวคือ การขอใบอนุญาตจ้างแรงงานต่างด้าวหรือโควตา ใช้เวลาในการอนุมัติค่อนข้างนาน, ขั้นตอนการขออนุญาตทำงานให้แก่แรงงานต่างด้าว แม้จะมีการออกใบแทนระหว่างรอใบจริงไม่ชัดเจน จึงทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุม และการขอเพิ่มสถานที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ทางจัดหางานภูเก็ตได้ตั้งระเบียบปฏิบัติให้ผู้ประกอบการในการยื่นขอเพิ่มสถานที่ทำงานทั้งจังหวัดจะต้องมีสัญญาก่อสร้างครบทั้ง 3 อำเภอ แต่ความจริงไม่สามารถทำได้ รวมถึงการตีความคำว่า “กรรมกร” ซึ่งมีผลกระทบต่อการจ้างงาน เพราะกฎหมายแรงงานกำหนดว่าในการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ ลาวและกัมพูชา จะใช้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ได้ในส่วนของกรรมกรและรับใช้ในบ้านเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วในส่วนของภาคก่อสร้างเราได้ใช้แรงงานเหล่านี้ในรูปแบบกึ่งช่าง คือ มีความสามารถมากกว่า การแบกหามขุดดินยกของ ซึ่งปัจจุบันไม่มีแรงงานไทยทำงานในส่วนนี้ แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถใช้แรงงานเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐบางหน่วยเข้ามาตรวจสอบและจับกุมแรงงานในขณะทำงาน โดยแจ้งว่าเป็นอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ จึงขอความอนุเคราะห์จากรัฐบาลให้เข้ามาแก้ปัญหาในในส่วนนี้ด้วย
หลังจากรับทราบปัญหา นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตนจะสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเก็บรวบรวมข้อมูลประเด็นปัญหาต่างๆ และแนวทางการแก้ไขที่ผู้ประกอบการเสนอมาทั้งหมด มาหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งในเร็วๆ นี้ เพื่อสรุปประเด็นปัญหาความต้องการของผู้ประกอบการเสนอรัฐบาลต่อไป
“ในส่วนของจังหวัดมีความเข้าใจในปัญหาของผู้ประกอบการเป็นอย่างดี เบื้องต้นจะได้ให้สำนักงานจัดหางานฯ ทำแผนผังขั้นตอนในการขออนุญาตทำงาน ของคนต่างด้าว เพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งในส่วนของแรงงานต่างด้าวในภูเก็ตนั้นส่วนใหญ่จะเดินทางออกนอกประเทศที่ด่านจังหวัดระนอง ก็ได้มีการประสานกันอยู่แล้ว รวมทั้งได้มีการกำชับประเด็นการเรียกรับเงินจากต่างด้าวว่า จะต้องไม่มีอย่างเด็ดขาด หากมีการตรวจพบก็จะถูกดำเนินการตามกฎหมายทันที่” นายนรภัทร กล่าว
ประชุมด่วนถกปัญหา
ขออนุญาตในพื้นที่ได้
เมื่อบ่ายวันต่อมา (ที่ 7 กรกฎาคม 2560)เวลา 13.30 น. ที่ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแรงงานต่างด้าวในจังหวัดภูเก็ต โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายนรภัทร กล่าวว่า ในช่วงนี้แรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตต่างก็พยายามที่จะเดินทางไปที่จังหวัดระนอง เพื่อดำเนินการเรื่องขอใบอนุญาตการทำงานให้ถูกต้อง และบางส่วนต้องการเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนา และพบว่ามีบางส่วนเดินทางไประหว่างทางถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้น และส่งตัวกลับมาที่จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากยังขาดเอกสารหนังสือรับรองที่ต้องออกโดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต ดังนั้นจึงขอฝากถึงนายจ้างและแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายที่ยังไม่มีใบอนุญาตในการทำงานหรือมีเอกสารไม่ครบขอให้ชะลอการเดินทางออกจากพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อไปติดต่อทำเอกสารที่จังหวัดระนองไว้ก่อน
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ได้ช่วยอำนวยความสะดวกตั้งศูนย์รับแจ้งการใช้แรงงานต่างด้าว ให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวเดิมที่ผิดกฎหมาย นำเอกสารเข้ามาลงทะเบียนใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางกลับไปลงทะเบียนที่ประเทศตนเองทั้งหมด จากที่ไม่เปิดลงทะเบียนใหม่มานานแล้ว ทั้งนี้ศูนย์ฯดังกล่าว จะเปิดให้กรอกคำร้อง ยื่นสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนนายจ้าง เพื่อพิสูจน์ความเป็นนายจ้างและลูกจ้าง และจะออกหนังสือยืนยันการทำงาน สำหรับนำไปใช้ขอพิสูจน์สัญชาติ และใบอนุญาตทำงาน และจะเปิดให้บริการเพียง 15 วัน ดำเนินการได้ที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2560
ทั้งนี้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวจะต้องมาติดต่อที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด เพื่อดำเนินการดั้งนี้ นายจ้างยื่นคำขอจ้างคนต่างด้าว ส่วนคนต่างด้าว ยื่นคำขออนุญาตทำงาน จากนั้นเมื่อทางสำนักงานจัดหางานจังหวัด ออกเอกสารรับรองให้แล้วจึงนำเอกสารเดินทางไปที่ศูนย์ตรวจสัญชาติแรงงานต่างด้าวเมียนมาร์ในไทย 6 ศูนย์ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงราย ระนอง และตาก เพื่อดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ตรวจสัญชาติแล้ว มีเอกสารยืนยันตัวตนจากประเทศต้นทางแล้ว ตรวจลงตราวีซ่าทำงานแล้ว แต่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือมีใบอนุญาตทำงานที่ไม่ตรงกับงานที่ทำในปัจจุบัน หากเป็นแรงงานในกลุ่มกิจการทั่วไป สามารถขอใบอนุญาตทำงานได้เลย จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 ส่วนแรงงานในกิจการประมงและแปรรูปสัตว์น้ำสามารถขอได้ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560
ดั้งนั้นจึงขอให้นายจ้างและคนต่างด้าว เร่งดำเนินการตามขั้นตอนที่ทางราชการกำหนดเพื่อนำแรงงานเข้าระบบให้ถูกต้องทั้งหมด
ติวเข้าทางปฏิบัติพ.ร.ก.
ภูเก็ตใช้แรงงาน74,000คน
อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2560 ที่โรงแรมดารา ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ประชุมชี้แจงมาตรการ/แนวปฏิบัติการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวจังหวัดภูเก็ต ซึ่งสำนักงานแรงงานจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้น เพื่อให้นายจ้างและสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวในจังหวัดภูเก็ต ได้รับทราบถึงมาตรการแนวทางการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในจังหวัดภูเก็ต ภายใต้กรอบแนวทาง 3 มิติ โดยได้มีการชี้แจงให้ความรู้เกี่ยวกับระเบียบ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งแคมป์แรงงานต่างด้าว การจ้างแรงงานต่างด้าว, การป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ การวางแผนครอบครัว และการดูแลความสะอาด โดยมี นายสุทธิพงศ์ สายสาคเรช แรงงานจังหวัดภูเก็ต, นายขัตติยะ แพนเดช จัดหางานจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน นายจ้างและสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย กิจการประเภทก่อสร้าง กิจการประมง และกิจการเกี่ยวเนื่อง (แปรรูปสัตว์น้ำ) เข้าร่วม โอกาสนี้นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับมาตรการ/แนวปฏิบัติในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวจังหวัดภูเก็ตด้วย
นายสุทธิพงษ์ สายสาคเรศ แรงงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวมากกว่า 50,000 คน จำนวน 13 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสาคร ระนอง ปทุมธานี ชลบุรี สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ นนทบุรี นครปฐม ระยอง ภูเก็ต สงขลา และตาก ให้ดำเนินการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้สอดคล้องกับพื้นที่ตามหลัก Function Area ภายใต้กรอบแนวทาง 3 มิติ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและด้านความมั่นคง ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้ตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน แรงงานต่างด้าว และการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ที่มีผลต่อความมั่นคง และความเชื่อมั่นของประเทศไทย ส่งผลไปถึงภาคเศรษฐกิจอีกด้วย จึงได้ดำเนินการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวโซนนิ่ง โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจและสนับสนุนการจัดทำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
สำหรับสถานการณ์การจ้างแรงงานต่างด้าวในจังหวัดภูเก็ต ในปี 2559 พบว่า มีการจ้างแรงงานต่างด้าวทั้งหมด จำนวน 74,398 คน จำแนกเป็นแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย 26,512 คน และเป็นแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันทำงานเป็นการชั่วคราว 47,886 คน เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ ส่งผลให้เกิดการจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย
“ปัญหาเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว ส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนายจ้าง และย้ายสถานที่ทำงาน โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนพระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายกฯ “หน้าทีวี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผ่านรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า เรื่องแรงงานต่างด้าว วันนี้ตนดีใจที่คนไทยตื่นตัวในเรื่องกฎหมายและการปฏิรูปมากขึ้น ซึ่งตนอยากให้เข้าใจตรงกันว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาในเรื่องของกฎหมายค้ามนุษย์ เราแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนในเวทีระหว่างประเทศว่า จะป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์ให้ถึงที่สุด โดยกฎหมายนี้มีเรื่องใหญ่รวมอยู่ด้วยกัน อาทิ การค้ามนุษย์ การประมงผิดกฎหมาย แรงงานเด็ก แรงงานทาส รวมทั้งแรงงานต่างด้าว ซึ่งเราต้องเร่งดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนี้ เพื่อประเทศไทยของเราเอง การแก้ปัญหาพยายามอย่างต่อเนื่องมา 3 ปี รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้มีการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติไปแล้ว ราว 3 ล้านคน แต่อุปสรรคสำคัญคือการพิสูจน์สัญชาติ โดยประเทศต้นทาง ทำให้ยังคงเป็นปัญหาอยู่และก็ได้ผ่อนผันให้มาโดยตลอด หากยังพิสูจน์สัญชาติไม่ได้ ก็ให้ถือบัตรสีชมพูไปพลางก่อน
“เรื่องนี้ขอให้พิจารณาด้วยใจที่เป็นกลางอย่ามองปัญหาในเชิงธุรกิจแต่เพียงด้านเดียว เราต้องพึ่งแรงงานต่างด้าว หากทุกงานมีคนไทยทำเองหมดเราก็คงไม่ต้องไปพึ่งใคร แต่วันนี้คนไทยเราทำงานประเภทใช้แรงงานลดลงทุกวัน และเหลือน้อยมาก บางประเภทแทบไม่มี จึงเป็นเหตุที่เราต้องทำความร่วมมือกับต่างประเทศ มีข้อตกลงกัน ซึ่งมีความยุ่งยากมากมาย มีระเบียบ มีขั้นตอน ทั้งกฎหมายในประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งปัญหาในเรื่องการทุจริต ปัญหาด้านความมั่นคง ปัญหาการค้ามนุษย์ ภาระทางสังคม การศึกษา สาธารณสุข การถือสัญชาติเด็กที่เกิดจากแรงงานต่างด้าว วันนี้ผสมปนเป เชื่อมโยงกัน ทำให้เป็นการซ้ำเติมปัญหา ถ้าเราไม่แกะออกมา การแก้ไขปัญหาเหล่านั้นไม่สามารถทำได้เพียงด้านใดด้านหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ให้แรงงานอยู่อย่างเปิดเผย
เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เราต้องดำเนินการจัดระเบียบใหม่ทั้งหมด หากทำได้เรียบร้อยเป็นระบบก็จะบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืน ตรงตามความต้องการตลาดแรงงานในประเทศที่เราต้องการ ทุกภาคการผลิตและบริการไม่มีการแย่งงาน ไม่มีการหนีงาน เปลี่ยนงาน เปลี่ยนนายจ้าง ทุกฝ่ายก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ต้องอยู่แบบหลบๆซ่อนๆแล้ว ซึ่งคนที่ไม่เคยรู้ควรเปิดหูเปิดตาไม่ใช่หลับตาปิดใจ วิพากษ์วิจารณ์โดยปราศจากข้อมูล เราต้องเอาความจริงมาพูด มาเสนอแนะกัน ให้ความรู้ด้วยความจริงกับสังคม ว่าถ้าหากว่าไม่มีการให้แรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานเลย ก็จะไม่มีใครทำงานในโรงงานต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไม่หยุดชะงัก อย่าไปพูดจาให้มันเสียหาย
“เมื่อเขาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจเราแล้ว แรงงานเหล่านี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมของเรา ซึ่งก็ต้องได้รับสวัสดิการตามสมควร ที่รัฐก็ต้องดูแลให้เป็นไปตามหลักสากลด้วย ซึ่งมีกระบวนการค่าใช้จ่ายตามปกติ ไม่ต่างอะไรจากคนไทยที่ต้องไปทำงานในประเทศต่างๆทั่วโลก เราจะเอาแต่ได้โดยไม่ยอมเสียอะไรเลย คงเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องไม่ใช่การเสียความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งรัฐบาลก็จะไม่ยอมปล่อยปละละเลย ให้เป็นปัญหาคาราคาซังอีกต่อไป ให้เวลาไปแล้วต้องไปหาวิธีการดำเนินการกันให้ได้ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ผู้ประกอบการ แรงงาน ก็ต้องร่วมมือ หลายประเทศเขาก็ทำแบบนี้มาก่อน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
โวปี 57 จดทะเบียน 1.3 ล้านคน ทำสำเร็จแล้ว สวดข้าราชการ-นายจ้าง-นายหน้า ยังทุจริต ประกาศไม่ชะลอขึ้นทะเบียนแล้ว
ได้ทำMOUกับ 3 ประเทศ
ให้พิสูจน์สัญชาติจากต้นทาง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การที่เราเคยเปิดให้จดทะเบียนไปแล้ว เมื่อปี 2557 กว่า 1.3 ล้านคน เป็นเพียงความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่แรงงานที่ไม่เข้ามาอยู่ในระบบและแรงงานที่เข้าออกหมุนเวียนมาใหม่ ด้วยช่องทางที่หลีกเลี่ยงกฎหมายของข้าราชการที่ทุจริต รวมถึงนายหน้าและนายจ้างที่ทุจริต ก็สร้างปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่วงจรแรงงานทาส ค้ามนุษย์ ที่ส่งผลกระทบในภาพรวมของประเทศ ผู้ประกอบการเอง ก็ประสบปัญหาการเปลี่ยนงานของแรงงานต่างด้าวอยู่ตลอดเวลา ก็ขอทำให้มันถูกต้อง มันจะได้ชัดเจนขึ้น บางครั้งเสียเงิน เสียเวลา ฝึกฝนจนใช้งานได้ ก็ถูกดึงไปใช้ เพราะเราไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน มันก็เลยเกิดความไม่เป็นธรรมต่อนายจ้างเดิม
“การเข้ามาในประเทศที่ไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง เราเคยชะลอไปได้ วันนี้ไม่ได้แล้ว หากไม่มีหลักฐานทางราชการที่ถูกต้องในการเข้ามาทำงาน เราจะไม่สามารถควบคุม หรือจัดระเบียบอะไรได้เลย จากการที่นำเข้าผ่านแนวชายแดนเข้ามา ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ที่หลีกเลี่ยงไม่อยู่ในระบบเหล่านี้ ซึ่งได้พูดคุยกับเพื่อนบ้านของเรา ช่วยกันแก้ปัญหา เราแก้คนเดียวไม่ได้ ช่วงที่ผ่านมาได้มีการจัดชุดพิสูจน์สัญชาติของต้นทางเข้ามาดำเนินการในบ้านเรา ในระหว่างที่ผ่อนปรนให้มีการใช้บัตรชั่วคราว แต่ห้ามย้ายงาน ย้ายพื้นที่ แต่ก็มีลักลอบอยู่ ต้องยอมรับความจริง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ก็มีข้อตกลงทำ หรือเอ็มโอยู กันระหว่าง 3 ประเทศได้ระบุไว้ว่า ต้องมีการพิสูจน์สัญชาติที่ชายแดนประเทศต้นทางที่มีสำนักงานอยู่เท่านั้น ซึ่งมันควรจะเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่แรกแล้ว แต่ที่ผ่านมามันปล่อยเข้ามาหลายปี วันนี้มันก็ต้องเข้ามาสู่กระบวนการที่มันถูกต้อง ก่อนที่จะเข้ามาในปลายทางของแต่ละประเทศ ก็มีการพิสูจน์สัญชาติมาก่อน ดังนั้นเมื่อเรามีพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวออกมา ก็ต้องปฏิบัติตาม แต่ปัญหาเราอยู่ตรงที่แรงงานที่เข้ามาอีกบางส่วนยังคงไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา บางส่วนทำแล้วไม่สมบูรณ์ ก็คงต้องไปดำเนินการให้เรียบร้อยที่ชายแดนขอโทษที่ทำให้ยุ่งยาก แต่จำเป็นต้องทำให้ถูกกม.
“เราทำครั้งนี้เรียบร้อยก็จะไม่มีปัญหาอีกต่อไป ก็ต้องขออภัยในความยุ่งยากด้วย เพื่อจะได้เข้ามาอย่างถูกต้อง เราไม่สามารถจะอนุญาตให้เข้ามาก่อน ให้มาขึ้นทะเบียนแล้วมาพิสูจน์สัญชาติภายหลังได้อีกต่อไป มันจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการทำผิดกฎหมายอีก แล้วต้องไปพันกับค้ามนุษย์ พันกับปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูยู แล้ววันหน้าถ้ายังคงมี แล้วเขาไม่ซื้อสินค้าอื่นจะเป็นอย่างไร คนที่ออกมาเรียกร้อง ต้องเข้าใจประเด็นนี้ด้วย ผมเข้าใจถึงความเดือดร้อนของท่าน แต่ท่านต้องเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประเทศด้วย วันนี้เราพยายามแก้ปัญหาที่ก่อนหน้านี้ที่เราเข้ามาให้ได้ในประเด็นแรงงาน เป็นเรื่องสำคัญและเป็นวาระสำคัญของชาติ เราจะต้องแก้ปัญหาให้ได้ ยอมรับไม่ได้อีกต่อให้มีแรงงานผิดกฎหมาย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ขีดเส้นทุกฝ่าย6 เดือน
ต้องเรียบร้อยเสร็จสิ้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ตนต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่ยังปฏิบัติไม่ถูกต้อง เราให้เวลาไปเกือบ 6 เดือน หรือภายในสิ้นปีนี้ตามที่ขยายไปแล้วให้ไปดำเนินการให้ครบ ท่านต้องหาวิธีดำเนินการให้ได้ ภาครัฐ กระทรวงแรงงาน สำนักงานจัดหางาน ผู้ประกอบการ บริษัท ต้องร่วมมือกันว่าจะหากลไกมาตรการอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบจากการประกอบการ ถ้าท่านบอกว่าทำแบบนี้แล้วเกิดผลกระทบกับการประกอบการแล้วจะเป็นอย่างไร มันก็แก้ไขอะไรไม่ได้เหมือนเดิม เพราะอย่าลืมว่าที่ผ่านมาท่านทำผิดกฎหมายมาเป็นจำนวนมากและนานพอสมควร ในกลุ่มที่ดีตนขอชมเชย แต่คราวนี้ปัญหาก็คือในกลุ่มที่ลักลอบ แย่งงาน แย่งคนงานด้วยการชักชวนให้ย้ายงานทั้งที่เขาลงทุนไปแล้ว ซึ่งเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ต้องปรับตัวเองให้ได้
“ที่เป็นกังวลตอนนี้ก็คือลูกจ้างที่ท่านไว้ใจ อาทิเช่น ดูแลบ้าน แม่บ้าน เลี้ยงลูก หรือทำงานอะไรต่างๆ อาจจะต้องให้กระทรวงแรงงานระบุให้ชัดเจนว่าพวกคนเหล่านี้ออกไปในส่วนของแรงงานประเภทเหล่านี้ แล้วให้กลับมาทำงานเหมือนเดิม ให้ระบุไว้มีบัตรเฉพาะออกไป ก่อนออกไปก็มีบัตรเฉพาะว่าพวกนี้ออกไปแล้วกลับมาทำงานเดิมจะทำได้หรือไม่ ก็ให้มีลายเซ็น มีการยินยอม รับรองเงื่อนไข จากทั้ง 2 ฝ่ายให้ชัดเจน ทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน มันต้องมีมาตรการเฉพาะออกมาเป็นประเภท มีทั้งแรงงานที่จะเข้ามาทำงานเป็นรายปี และแรงงานอีกประเภท คือแรงงานที่เข้ามาไปเช้า-เย็นกลับ อันนี้ก็ต้องตกลงต่างหาก อย่าเอามาปนกัน ส่วนนั้นก็ต้องเอาเข้ามาและออกไป ทำงานในพื้นที่แนวชายแดนไม่ให้เกิดผลกระทบกับการประกอบการในพื้นที่ชายแดน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ขอให้ส่วนราชการให้ไปคิดมาตรการให้มันชัดเจนเกิดขึ้น ในเรื่องของที่มีการเรียกร้องให้ดูแลหรือปรับปรุงในเรื่องค่าปรับต่างๆ รัฐบาลพยายามจะหาทาง วิธีการทางด้านกฎหมายว่าจะทำได้อย่างไรที่ค่าปรับต่างๆให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ก็กำลังดำเนินการอยู่นะครับ ก็จะใช้เวลาที่มี 6 เดือนอยู่นี้แก้ปัญหาให้ไดมากที่สุดเพื่อลดกระทบ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้สำนักจัดหางานเถื่อน นายหน้า หรือบริษัทไม่สุจริตเข้ามาแสวงประโยชน์ จากแรงงานเหล่านี้จะต้องถูกลงโทษเด็ดขาด สำหรับผู้ที่ค้ามนุษย์ก็ดำเนินการเต็มที่ ทั้งโทษอาญา โทษอื่น
“สำหรับขบวนการค้ามนุษย์ หากการล่อลวงว่าจะให้รายได้ที่ดีกว่าแล้วย้ายคนงานเหล่านี้ไปทำงานที่อื่นเอาผลประโยชน์ แล้วนายจ้างเดิมที่เขาเสียค่าใช้จ่ายเหล่านี้เขาจะทำอย่างไร ก็อย่าเห็นแก่ตัวแบบนั้น ทำให้เกิดปัญหากับนายจ้างเดิม แรงงานใหม่บางทีไปถ้าถูกกฎหมายก็แล้วไปย้ายงานได้แต่ถ้าย้ายงานไม่ได้ ก็ผิดกฎหมายลักลอบเข้าเมือง ลักลอบทำงานผิดกฎหมายอีก มันพันไปทั้งหมดทุกอย่างต้องอาศัยความไว้วางใจกันและใช้สติปัญญาในการแก้ไข้ปัญหา ต้องเสียสละกันบ้าง บางคนก็กำไรมามากแล้วในการใช้แรงงานผิดกฎหมาย วันนี้พอขาดทุนก็เรียกร้อง ก็ขอบคุณสำหรับผู้ที่ประกอบการดีๆทั้งหมด สำหรับผมคิดว่ามีจำนวนมากกว่าผู้ประกอบการที่ไม่ถูกต้อง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้ทันต่อการดำเนินการในช่วงผ่อนผัน ตามกรอบเวลา 6 เดือนข้างหน้า เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ก็ขอให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจ เพื่ออำนวยการ บริหารจัดการ สำหรับการทำงานของคนต่างด้าวให้ถูกต้องตามพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว โดยจัดกลุ่มดังนี้ 1.กลุ่มที่มีใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) แต่ผิดนายจ้าง 2.กลุ่มที่ตรวจสัญชาติแล้ว มี Passport มี VISA มี CI (เอกสารรับรองบุคคล) แล้ว แต่ยังไม่ได้ขอใบอนุญาตทำงาน ทั้ง 2 กลุ่มให้สามารถดำเนินการให้ถูกต้องได้ทันที ที่ศูนย์เฉพาะกิจสำนักงานจัดหางานทุกจังหวัดและกรุงเทพฯ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า 3.กลุ่มที่มีการนำเข้าตาม MOU ไม่ได้เป็นปัญหา สามารถดำเนินการได้ตามปกติ และ4.กลุ่มที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ให้ทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง มาพบเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์เฉพาะกิจดังกล่าว เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้อง ระหว่าง 24 กรกฎาคม-7 สิงหาคม กรณีที่ยังมีข้อสงสัยสามารถสอบถามที่สายด่วน 1694
หนังสือด่วนกรมการจัดหางาน
สั่งทำงานรวดเร็วและโปร่งใส
(ด่วนที่สุด) บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ กรมการจัดหางาน สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว โทรศัพท์ ๐ ๒๓๕๔ ๑๗๓๐
ที่ รง ๐๓๑๖/ร๕๗๘๙๑ วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐
เรื่อง การอำนวยความสะดวกแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าวกรณีการขอเปลี่ยนนายจ้างเพื่อลดผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐
เรียน จัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด/ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑-๑๐
ตามที่กรมการจัดหางานได้กำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้แรงงานต่างด้วยเปลี่ยนไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ภายใต้เงื่อนไข นายจ้างเลิกจ้าง/นายจ้างเสียชีวิต นายจ้างล้มละลาย นายจ้างกระทำทารุณกรรม หรือทำร้ายร้างกายลูกจ้าง นายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง และลูกจ้างทำงานในสภาพการทำงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย นั้น
เนื่องจากพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ เป็นต้นมา มีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวมาติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑-๑๐ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนายจ้างและแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก จำเป็นต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามพระราชกำหนด หากฝ่าฝืนจะมีบทกำหนดโทษในกรณีที่นายจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงาน เพื่อลดปฏิกิริยาจากนายจ้างสถานประกอบการต่างๆ ที่มีต่อพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ กรมการจัดหางานจึงกำหนดมาตรการผ่อนคลาย ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้แก่นายจ้าง และแรงงานต่างด้าวในกรณีการขอเปลี่ยนนายจ้าง เพื่อให้แรงงานต่างด้วยได้ทำงานที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงในปัจจุบัน และทำให้แรงงานต่างด้วยอยู่ในระบบ กรมการจัดหางานจึงขอให้สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑-๑๐ ดำเนินการดังนี้
๑. กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อรอการส่งกลับตามมติคณะรัฐมนตรี (กลุ่มบัตรชมพู) ทั้งกลุ่มที่บัตรหมดอายุในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ และกลุ่มที่บัตรหมดอายุในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๑ ให้ดำเนินการดังนี้
๑.๑ ในกรณีที่แรงงานต่างด้าวยังอยู่ในท้องที่จังหวัดเดิม แต่ย้ายไปทำงานกับนายจ้างใหม่แล้ว ซึ่งอยู่ในท้องที่จังหวัดเดียวกันกับนายจ้างรายเก่า ให้แรงงานต่างด้าวยื่นคำขอเปลี่ยนนายจ้าง เพื่อไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ โดยให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑-๑๐ ดำเนินการรับคำขอ และอนุญาตให้เปลี่ยนนายจ้าง โดยระยะเวลาการอนุญาตไม่เกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตตามที่กำหนดไว้ในบัตรชมพูเดิม แล้วออกหลักฐานการอนุญาตให้เปลี่ยนนายจ้าง เช่น ใบรับคำขอ ใบเสร็จรับเงินเพื่อให้แรงงานต่างด้าวไปดำเนินการเปลี่ยนบัตรชมพูให้ถูกต้องตามที่ทำงานกับนายจ้างจริงในปัจจุบัน โดยยกเว้นการตรวจสุขภาพ
๑.๒ ในกรณีที่แรงงานต่างด้าวไม่ได้อยู่ในท้องที่จังหวัดเดิม โดยได้ย้ายไปอยู่กับนายจ้างใหม่ในท้องที่จังหวัดใหม่แล้ว ให้แรงงานต่างด้าวยื่นคำขอเปลี่ยนนายจ้างรายใหม่ ต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ ๑-๑๐ ในท้องที่จังหวัดที่นายจ้างใหม่ตั้งอยู่ โดยไม่ต้องกลับไปยื่นคำขออนุญาตเปลี่ยนนายจ้างในท้องที่จังหวัดเดิมอีก และให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑-๑๐ ดำเนินการรับคำขอและอนุญาตให้เปลี่ยนนายจ้าง โดยระยะเวลาการอนุญาตไม่เกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตตามที่กำหนดไว้ในบัตรชมพูเดิม แล้วออกหลักฐานการอนุญาตให้เปลี่ยนนายจ้าง เช่น ใบรับคำขอ ใบเสร็จรับเงิน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวไปดำเนินการเปลี่ยนบัตรชมพูให้ถูกต้องตามที่ทำงานกับนายจ้างจริงในปัจจุบัน โดยยกเว้นการตรวจสุขภาพ
๒. กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งถือหนังสือเดินทาง (PP) หนังสือเดินทางชั่วคราว (TP) เอกสารรับรองบุคคล (CI) โดยระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ
๒.๑ ในกรณีที่แรงงานต่างด้าวมายื่นคำขอเปลี่ยนนายจ้าง โดยนายจ้างใหม่อยู่ในท้องที่จังหวัดเดียวกันกับนายจ้างเดิม และใบอนุญาตทำงานเดิมยังไม่หมดอายุ หรือนายจ้างเดิมยังไม่ได้แจ้งออกจากระบบ ให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑-๑๐ ดำเนินการแจ้งออกจากระบบ แล้วพิจารณาอนุญาตให้เปลี่ยนนายจ้างใหม่ โดยระยะเวลาการอนุญาตไม่เกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตตามใบอนุญาตเดิม โดยยกเว้นการตรวจสุขภาพ
๒.๒ ในกรณีที่แรงงานต่างด้าวมายื่นคำขอเปลี่ยนนายจ้าง โดยนายจ้างใหม่อยู่ในท้องที่จังหวัดเดียวกันกับนายจ้างเดิม แต่ใบอนุญาตทำงานเดิมหมดอายุแล้ว ให้ถือเป็นการยื่นคำขออนุญาตทำงานใหม่กับนายจ้างรายใหม่ และให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑-๑๐ ดำเนินการพิจารณาอนุญาตทำงานใหม่ โดยระยะเวลาการอนุญาตทำงานไม่เกินระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (Visa)
๒.๓ ในกรณีที่แรงงานต่างด้าวไปอยู่กับนายจ้างรายใหม่ในท้องที่จังหวัดใหม่แล้ว แต่ใบอนุญาตทำงานเดิมยังไม่หมดอายุ ให้แรงงานต่างด้าวยื่นคำขอเปลี่ยนนายจ้างต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑-๑๐ ในท้องที่จังหวัดที่นายจ้างใหม่ตั้งอยู่ โดยไม่ต้องกลับไปยื่นคำขออนุญาตเปลี่ยนนายจ้างในท้องที่จังหวัดเดิมอีก และให้สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑-๑๐ ดำเนินการแจ้งออกจากระบบ แล้วพิจารณาอนุญาตให้เปลี่ยนนายจ้างใหม่ โดยระยะเวลาการอนุญาตทำงานไม่เกินระยะเวลาของใบอนุญาตทำงานเดิม โดยยกเว้นการตรวจสุขภาพ
๒.๔ ในกรณีที่แรงงานต่างด้าวไปอยู่กับนายจ้างรายใหม่ในท้องที่จังหวัดใหม่แล้ว และใบอนุญาตทำงานเดิมหมดอายุแล้ว ให้ถือเป็นการยื่นคำขออนุญาตทำงานใหม่กับนายจ้างรายใหม่ โดยแรงงานต่างด้าวยื่นคำขออนุญาตทำงานใหม่ต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑-๑๐ พิจารณาอนุญาตทำงานกับนายจ้างรายใหม่ โดยระยะเวลาการทำงานไม่เกินระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (Visa)
๓. กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่นำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายตามระบบ MOU ที่เข้ามาก่อนพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๙ มีผลใช้บังคับให้ดำเนินการเปลี่ยนนายจ้างได้ตามหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับข้อ ๒ สำหรับกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่นำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายตามระบบ MOU ภายหลังพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.๒๕๕๙ มีผลใช้บังคับให้การเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมการจัดหางานกำหนด คือ ให้เปลี่ยนเฉพาะกรณีนายจ้างเลิกจ้าง/นายจ้างเสียชีวิต นายจ้างล้มละลาย นายจ้างกระทำทารุณกรรม หรือทำร้ายร่างกายลูกจ้าง นายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง และลูกจ้างทำงานในสภาพการทำงาน หรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขนี้ แรงงานต่างด้าวต้องเดินทางกลับบ้าน และนายจ้างรายใหม่ต้องยื่นเอกสารขอนำเข้าแรงงานตามกระบวนการนำเข้าแรงงานแบบ MOU ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาแร่ขาย หรือหลอกลวงแรงงาน
๔. ในการเปลี่ยนนายจ้างตามข้อ ๑,๒ และ ๓ ต้องให้นายจ้างใหม่รับรองว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจ้างแรงงานต่างด้าวแก่นายจ้างรายเดิม
ทั้งนี้ ให้สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑-๑๐ อำนวยความสะดวกแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าวที่มาติดต่อขอรับบริการในเรื่องดังกล่าว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันสิ้นสุดระยะเวลาตามมาตรการผ่อนคลายผลกระทบจากการใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๖๐ ของรัฐบาล โดยให้หัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ไม่มีข้อครหาเกี่ยวกับการเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ
จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการ
นายวรานนท์ ปีติวรรณ์
อธิบดีกรมการจัดหางาน