ลงนามใช้ภูเก็ตนำร่อง เชือดเจ้าหน้าที่ทุจริต
สำนักงาน ป.ป.ท.จับมือ จ.ภูเก็ต ลงนาม MOU แห่งแรกของประเทศไทย ขานรับนโยบายรัฐบาล ปีแห่งการอำนวยความสะดวกในการพิจารณากำราบ กำจัดทุจริตให้สิ้นซาก เอาจังหวัดภูเก็ตที่เคยฮือฮา เรื่องทุจริต รับสินบาทคาดสินบน รับใต้โต๊ะ เปิดทางสะดวกในทุกเรื่องราว นำร่องเชือดเจ้าหน้าที่ทุจริต อย่างรวดเร็วทันตาเห็น ทั้งในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดการเข็ดหลาบ
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน2560 ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) และนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือขับเคลื่อนปีแห่งการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตของทางราชการ ต่อต้านการรับสินบนทุกรูปแบบ ซึ่งจังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดแรกที่ทางสำนักงาน ป.ป.ท.จัดให้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยเรื่องดังกล่าว ด้วยเล็งเห็นว่า จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีความพร้อมในการส่งเสริมการลงทุน ประกอบกับเป็นจังหวัดที่รองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ จึงกำหนดให้จังหวัดภูเก็ต เป็นเป้าหมายในการนำร่องการยกระดับจังหวัดสู่ธรรมาภิบาล โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชน ภาคประชาชน เข้าร่วมในพิธี
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ กล่าวถึงการทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยเรื่องดังกล่าวกับทางจังหวัดภูเก็ต สืบเนื่องจากในอดีต ปัญหาสาถานการณ์การทุจริตอยู่ในลักษณะซับซ้อน และทับซ้อนหลากหลาย ไม่ว่าจะโดยการขาดจิตสำนึกของผู้ปฏิบัติ และผู้บริหารระดับนโยบาย กลไกของรัฐไม่อยู่ในกรอบธรรมาภิบาลโดยแท้จริง ส่งผลให้โครงสร้างหลักของประเทศอ่อนแอ เช่น โครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และระบบราชการ
จนกระทั่งเดือน พ.ค.2557 รัฐบาลชุดปัจจุบันได้เข้ามาบริหารประเทศ และเล็งเห็นว่าปัญหาการอนุมัติ อนุญาต เป็นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่รัฐมีการเรียกรับผลประโยชน์จากนักค้า นักลงทุน เพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตต่างๆ ส่งผลให้ประชาชน ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งในการขอการอนุมัติ อนุญาตมีขั้นตอน และระยะเวลานาน
ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ออก พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการเมื่อปี 2558 ซึ่งใน พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้กำหนดมีการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนว่าขั้นตอนในการรับบริการแต่ละขั้นตอนมีกระบวนการอย่างไร ใช้เวลาเท่าไหร่ มีการระบุการรับคำขอและพิจารณาคำขอ ซึ่ง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการรับบริการ และเพื่ออุดช่องว่างการทุจริต แม้ว่าจะมี พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ แล้ว แต่ยังขาดกลไกกำกับ และยังมีการใช้ช่องทางการทุจริตได้อยู่
ดังนั้น คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ได้เสนอให้รัฐบาลประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ของทางราชการในการต่อต้านการรับสินบนทุกรูปแบบ และจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2560 ได้มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ท.ประสานกับจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อให้เป็นจังหวัดต้นแบบที่หน่วยงานของรัฐ
“จากผลสำรวจของหลายๆ แหล่ง ชี้ชัดว่า ปัญหาการทุจริตในประเทศไทย แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นแต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของการเรียกรับ ในเรื่องของการอนุมัติ อนุญาต ตรงนี้ก็เป็นปัญหาส่วนหนึ่งในการไปเรียกรับจากนักลงทุน นักท่องเที่ยวต่างประเทศ ก็พยายามดูว่าจะมีจังหวัดไหนบ้างที่จะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ ก็ไปดูมติ ครม.ที่กำหนดให้จังหวัดภูเก็ต เป็น Smart City ซึ่งมีความพร้อมในการให้บริการนักท่องเที่ยวในเรื่องการลงทุนระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็มีหลายเรื่องที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการเรียกรับตรงนี้ด้วย จึงได้เลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก ที่ทำข้อตกลง ที่จะขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในภาครัฐ ในเรื่องการอำนวยความสะดวกร่วมกัน”
นอกจากนี้ นายประยงค์ ยังได้กล่าวถึงบทลงโทษด้วยว่า หลังจากนี้ การลงโทษจะต้องรวดเร็ว เมื่อมีความผิดที่เกิดขึ้นต้องสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว เพราะถ้ากระทำผิดแล้วแต่การลงโทษช้า ก็จะทำให้ไม่เกรงกลัว ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการว่าทุกคดีที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องเข้าสู่กระบวนการอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ในส่วนของศาลอาญา ก็มีการตั้งศาลอาญาคดีทุจริต สำนักอัยการก็ตั้งตรงส่วนนี้ขึ้นมา ขณะเดียวกัน ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. ก็มีการแก้ไขกฎหมายทำให้กระบวนการพิจารณาเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นจากนี้ไปคนที่กระทำผิดจะถูกลงโทษเร็วขึ้น จะเห็นว่าในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา การชี้มูลของ ป.ป.ท. หรือ ป.ป.ช.มีมากขึ้น การตัดสินของศาลคดีอาญาทุจริตก็มีมากขึ้น เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ถ้าใครทุจริตแล้วก็จะติดคุกเร็วขึ้น
ขณะที่ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับภูเก็ตเป็นจังหวัด Smart City หนึ่งในสองจังหวัดของประเทศ ซึ่ง Smart City โดยเนื้อแท้คือ การบริหารราชการโดยที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เรื่องการอนุมัติ อนุญาตต่างๆ จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ด้วยการสร้างแอปขึ้นมา เป็นสมาร์ทอิโคโมมี จะมีข้อมูลการลงทุนในทุกเรื่อง อย่างเช่น เรื่องอสังหาริมทรัพย์ ข้อมูลพื้นฐานเป็นยังไง และที่สำคัญคือขั้นตอนธรรมาภิบาลจะมี พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ ในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ที่จะบอกขั้นตอนว่า ถ้าเข้ามาลงทุน ขั้นตอนที่หนึ่ง สอง จะต้องทำอะไรบ้าง สิ่งนี้เขาจะรับรู้แล้วก็จะเป็นเงื่อนไขในการที่เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอน เพราะฉะนั้นเราจะสร้างการรับรู้เหล่านี้ให้แก่ประชาชนทั่วไป นักลงทุนได้รับทราบถึงเงื่อนไขต่างๆ
“การพิจารณาอนุมัติ อนุญาตบางเรื่องถ้าไม่ถูกต้อง หรือไม่สามารถให้ได้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องสั่งเลยว่าไม่อนุมัติ ไม่อนุญาตเพราะอะไร ซึ่งเขาก็ชอบธรรมด้วยการใช้สิทธิทางศาลปกครองได้ เพราะศาลปกครองเปิดโอกาสให้กรณีพิพาทระหว่างนิติบุคคลกับหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ก็พ้นผิด ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ก็จะมีการกล่าวหาว่ามีการตุกติกกักเรื่องไว้เพื่อที่จะไปเรียกร้องผลประโยชน์ เพราะฉะนั้น อันไหนที่ไม่อนุญาตให้ได้ สั่งไปเลยว่าไม่อนุญาตเพราะอะไร กระบวนทางปกครองมีไว้ชัดเจน และเราต้องชัดเจนด้วย อันนี้คือสิ่งที่เราได้มอบแนวทางในการทำงานของรัฐ บอกว่าอย่าไปอึมครึม และนำมาสู่ประเด็นในการร้องเรียนได้” นายนรภัทร กล่าว