“วัดใต้”เน่าให้ทัวร์จีนเช่า ทำสัญญาผิดไม่ผ่านพคป. “พระนางสร้าง”ปลดเจ้าอาวาส
บิ๊กเจี้ยบ สั่งพศ. ส่งทีมสอบวัดในภูเก็ต สร้างโบสถ์ปลอม หลอกทัวร์จีน ขายพระเลี่ยมทอง-น้ำมะพร้าว แพงหูฉี่ ผอ.สำนักพุทธฯภูเก็ต ร่วมเจ้าคณะอำเภอเมืองภูเก็ต อดีตเจ้าอาวาสวัดใต้ ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีโบสถ์-พระเครื่องปลอม ยันไม่มีของปลอมมีแต่ของจริง ด้านผอ.สำนักพุทธฯเผย ไวยาวัจกรวัด เป็นคนทำสัญญาเช่าผิดระเบียบ เพราะให้เช่าเชิงแสวงหาผลประโยชน์ติดต่อกันหลายปี ต้องผ่าน พคป. ส่วนคนเช่าบอกทัวร์จีนต้องการไหว้พระ เช่าวัตถุมงคลเพื่อเสริมสิริมงคล รายได้ทุกอย่างมอบให้วัดหมด ยกเว้นค่าเช่าวัตถุมงคล
ส่วนที่ถลาง เจ้าอาวาสวัดพระนางสร้าง คิดอุตริสร้างยักษ์ถือปืนเฝ้าวัด กับสร้างองค์หลวงพ่อแช่ม ผิดสัดส่วน ผิดรูปผิดร่าง สร้างความไม่พอใจให้ผู้มีจิตศรัทธา ก็ถูกสั่งพักงานไม่มีกำหนด และได้เดินทางออกจากวัดไปแล้ว
จากกรณีผู้ใช้เฟสบุ๊ก “Chulcherm Yugala” โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการสร้างโบสถ์ปลอม ในพื้นที่วัดลัฎฐิวนาราม (วัดใต้) จ.ภูเก็ต เพื่อรองรับทัวร์จีนเข้าไปสักการะ รวมทั้งภายในโบสถ์ยังมีพระสงฆ์นั่งสวดมนต์ให้พรประพรมน้ำพระพุทธมนต์ มีมัคทายกทำหน้าที่เล่าสรรพคุณของพระเครื่อง เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวจีน เช่าไปบูชาพระปลอมเลี่ยมทองในราคาที่แพงกว่าท้องตลาดถึง 4 เท่า พร้อมระบุว่าในภูเก็ตมีถึง 3 วัดด้วยกัน เรียกร้องให้สำนักพระพุธศาสนาเข้ามาตรวจสอบการดำเนินก่อสร้าง และนำนักท่องเที่ยวเข้ามาสักการะบูชาดังกล่าว
เรื่องนี้ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ถึงกรณีที่มีการวิจารณ์ ว่าวัดลัฏฐิวนาราม จ.ภูเก็ต มีการเปิดให้เฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าชมโดยมีการขายพระปลอมเลี่ยมทอง ธูปเทียน ไอศกรีม และมะพร้าวอ่อน ในราคาที่แพงเกินจริงหลายเท่านั้น เรื่องนี้ทราบแล้ว และได้มอบหมายให้พศ.ตั้งคณะทำงาน นำโดยผู้ตรวจราชการของพศ. ประกอบด้วยจังหวัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ลงพื้นที่ไปตรวจสอบโดยเร็ว รวมถึงให้ตรวจสอบจังหวัดอื่นๆ ด้วยว่ามีเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้ เท่าที่ทราบ วัดดังกล่าวเป็นวัดจริง แต่มีคนมาเช่าสถานที่ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ชัดเจน ขอให้รอผลการตรวจสอบก่อน หากตรวจพบว่าไม่ถูกต้อง ก็ให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย
“ถ้าจะว่าตามจริงแล้ว เรื่องนี้ยังไม่มีใครมาร้องเรียน แต่เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์หรือมีรายงานเข้ามา ก็ต้องรีบไปดำเนินการตรวจสอบ อะไรที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย ก็ต้องว่าตามกฎหมาย หรืออะไรที่พระที่อยู่ที่นั่นต้องรับผิดชอบ ก็ต้องทำไปตามกติกาของพระสงฆ์ ผมกำชับคณะทำงานไปแล้ว และถ้าพบว่าเป็นปัญหาจริง ก็ต้องดูว่าผิดกฎหมายข้อไหน ตอนนี้ต้องดูว่าผิดหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ แต่เท่าที่ฟัง ก็เห็นว่าไม่เหมาะสมแน่อยู่แล้ว ส่วนจะผิดกติกา ระเบียบ หรือกฎหมายข้อไหน ก็ต้องดูก่อน และว่าไปตามกฎหมาย เชื่อว่าภายใน 2-3 วันนี้ เมื่อคณะทำงานไปตรวจสอบประชุมแล้ว ก็คงจะรู้ผล” พล.อ.ธนะศักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นกล่าว
จะอย่างไรก็ตาม เมื่อเช้าของวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 เวลา 09.0 น.เศษ ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่วัดลัฎฐิวนาราม หรือ วัดใต้ ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต พบว่า มีการก่อสร้างตามที่มีการโพสต์กันจริง โดยที่ลานจอดรถก็มีรถบัสรับ-ส่งนักท่องเที่ยวชาวจีนจอดเรียงรายอยู่จำนวนหลายคัน ถัดไปที่กำแพงประตูวัดฝั่งด้านซ้ายมือ มีการตั้งโต๊ะขายน้ำดื่ม และน้ำมะพร้าวอ่อนใกล้กันเห็นเสนาสนะ หรือ สิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ จำนวน 2 หลังคือ อาคารคล้ายโบสถ์ ที่มีการระบุว่าเป็นโบสถ์ และอาคารที่ประดิษฐานพระพรหม โดยนักท่องเที่ยวเมื่อลงจากรถทัวร์ก็จะถูกจัดให้เดินไปซื้อดอกไม้ ธูป-เทียนในจุดจำหน่ายบริเวณดังกล่าว หลังจากนั้นก็จะมีไกด์ชาวจีนให้ความรู้เรื่องพระพรหม ก่อนที่จะให้นักท่องเที่ยวเดินไปไหว้สักการะ
หลังจากสักการะพระพรหมเสร็จแล้ว ไกด์ชาวจีนจะให้นักท่องเที่ยวกราบไหว้-ลูบต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ มีดอกไม้ปลอมสีเหลืองไปพันรอบลำต้น คล้ายกับเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ หลังไหว้บูชาต้นโพธิ์เสร็จแล้ว นักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าไปยังเสนาสนะขนาดใหญ่ที่สร้างคล้ายโบสถ์ซึ่งอยู่ติดกันกับจุดที่ไหว้พระพรหม
จากการสังเกตดูภายในเสนาสนะที่คล้ายโบสถ์ดังกล่าว มีพระพุทธประดิษฐานอยู่ 3 องค์ องค์ใหญ่ 1 องค์ และองค์ขนาดกลาง 2 องค์ มีตู้รับบริจาค ใกล้กันเห็นพระสงฆ์ 1 รูป นั่งเพื่อให้พรและประพรหมน้ำมนต์แก่นักท่องเที่ยวที่เข้าไปภายในเสนาสนะ นอกจากนั้นบริเวณด้านซ้ายและด้านขวาของประตูทางเข้า จะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคนจีนทั้งชาย-หญิง สวมเสื้อสีเหลืองทุกคน ยืนประจำตู้ขายพระเครื่อง ทำหน้าที่ให้นักท่องเที่ยวเช่าไปสักการะ จากการสังเกตเห็นพระเครื่องทุกองค์จะหุ้มด้วยทอง และมีการพูดจาในลักษณะเชิญชวน นำเสนอให้เช่าพระเครื่องดังกล่าว
ขณะที่ผู้สื่อข่าวไปสังเกตการณ์นั้น จะเห็นว่ามีรถทัวร์รับนักท่องเที่ยวเข้ามาภายในวัด ทีใช้เป็นสถานที่ประกอบการอยู่ตลอดเวลา โดยที่นักท่องเที่ยวเหล่านั้น ไม่ได้ไปสัมผัสกับโบสถ์ และสักการะพระประธานภายในโบสถ์ และส่วนอื่นๆ ของวัดแต่อย่างใด ทุกคนจะใช้เวลา และทำกิจกรรมอยู่เฉพาะในส่วนที่จัดไว้ให้เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเรื่องดังกล่าวไปยัง นายวิญญา ปลัดขวา ผอ.สำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต ได้รับคำตอบว่า หลังจากที่มีการโพสต์และแชร์เรื่องดังกล่าวออกไปอย่างกว้างขวาง ทางสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีคำสั่งให้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน ซึ่งจากการตรวจสอบในเบื้องต้น อาคารดังกล่าวไม่ใช่โบสถ์ปลอม เป็นเพียงเสนาสนะสิ่งก่อสร้างภายในวัด ที่จะต้องก่อสร้างให้มีอัตลักษณ์ความเป็นวัด ทั้งในส่วนของรูปแบบอาคาร และลาดลายไทย เท่านั้น โบสถ์จริงของวัดมีอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
ส่วนการจัดทัวร์จีน เข้าไปไหว้พระ และให้เช่าบูชาวัตถุมงคลกับนักท่องเที่ยวจีนนั้น เป็นการบริหารจัดการของวัดกับคนเช่าพื้นที่ จากการตรวจสอบเบื้องต้นกับเจ้าอาวาสนั้น ทางวัดให้เอกชนที่เป็นคนไทยเช่าพื้นที่วัดเพื่อการพาณิชย์ ก่อสร้างอาคารดังกล่าว และพระพรหม สัญญาปีต่อปี ค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท หรือปีละ 600,000 บาท เพราะการเช่าที่วัดนั้น หากเช่าไม่เกิน 3 ปี เจ้าอาวาสมีสิทธิที่จะทำสัญญาเช่าได้ แต่ถ้าเช่าตั้งแต่ 3 ปี เป็นต้นไปจนถึง 20 ปี จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาศาสนะสมบัติกลางประจำ (พศป.)
ผอ.สำนักพุทธภูเก็ต กล่าวต่อว่า การดำเนินการในลักษณะนำทัวร์จีนมาไหว้พระ และเช่าวัตถุมงคลภายในวัดที่ก่อสร้างขึ้นมานั้น ทางวัดและผู้เช่าสามารถดำเนินการได้ เพราะตามสัญญาที่ทำกันนั้นเช่าเพื่อพาณิชย์ ซึ่งไม่ขัดกับศีลธรรม และประเพณีอันดีงาม ส่วนข้อสังเกตที่ว่าสามารถให้เช่าวัตถุมงคล และพระเครื่องภายในวัดได้หรือไม่นั้น หากวัตถุมงคลและเพราะเครื่องที่นำมาให้เช่า มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน ก็สามารถที่จะดำเนินการได้ ส่วนราคาที่บอกว่าสูงกว่าความเป็นจริงหลายเท่าตัว เข้าขายหลอกลวงนักท่องเที่ยวนั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อ ความศรัทธา และความพึงพอใจของของผู้เช่าบูชาแต่ละคน เป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่สามารถบอกได้ว่าราคาสูงหรือต่ำ แต่ยอมรับว่ามีการนำเสนอวัตถุมงคลให้นักท่องเที่ยวเช่าจริงๆ
ส่วนกรณีที่ระบุว่า มีพระสงฆ์มาทำพิธีกรรมต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวนั้น เท่าที่ตรวจสอบและเคยลงไปในพื้นที่จริง ไม่ได้มีการทำพิธีกรรมอะไร มีเพียงพระสงฆ์มาให้พร และประพรหมน้ำพระพุทธมนต์เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของชาวพุทธที่เวลาไปทำบุญแล้วพระสงฆ์ประพรหมน้ำพระพุทธมนต์ ส่วนพิธีกรรมอื่นๆ นั้น ยืนยันว่าไม่มี
นายวิญญา กล่าวอีกว่า สำหรับวัดในภูเก็ต ที่ดำเนินการให้เช่าพื้นที่วัดเพื่อนำนักท่องเที่ยวชาวจีนเช่าไหว้พระ และเช่าวัตถุมงคลภายในวัดในลักษณะของกรุ๊ปทัวร์ มีอยู่ 3 วัด ด้วยกัน คือ วัดลัฎฐิวนาราม (วัดใต้) ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต วัดสว่างอารมณ์ หรือ วัดราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต และวัดกะทู้ ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ตดำเนินการในลักษณะแบบนี้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3-4 ปี ทั้งนี้ทางวัดมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้รับจากค่าเช่ามาพัฒนาวัดต่อไป
จะอย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา เวลา 08.30 น. นายวิญญา ปลัดขวา ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย พระครูเมตตาภิรมย์ เจ้าคณะอำเภอเมืองภูเก็ต พระครูลัฎฐิธรรมรัต เจ้าอาวาสวัดลัฎฐิวนาราม ได้ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในประเด็นที่เป็นข้อสงสัยของคนทั่วไป ทั้งในเรื่องของโบสถ์ปลอม พระเครื่องปลอม การจำหน่ายดอกไม้ ธูปเทียน สูงเกินจริง การให้พระสงฆ์ไม่นั่งทำพิธีประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้นักท่องเที่ยวจีน การบรรยายให้นักท่องเที่ยวฟัง สัญญาเช่าที่ดินวัด และการหาประโยชน์ของบริษัททัวร์จีน
ปรากฏว่า ในวันดังกล่าว ยังคงมีทัวร์จีนเดินทางมาสักการะบูชาพระพรหม และกราบไหว้พระพุทธรูปภายในเสนาสนะที่สร้างขึ้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ภายในอาคารเสนาสนะนั้น ไม่มีพระสงฆ์มานั่งทำพิธีประพรมน้ำพระพุทธมนต์เหมือนทุกวันที่ผ่านมา รวมไปถึงในช่วงที่มีการตรวจสอบภายในอาคารดังกล่าว กลับมีคนไทยกลุ่มหนึ่งประมาณ 6 – 7 คน ทำทีเดินเข้ามาสนใจที่จะเช่าวัตถุมงคลภายในอาคาร ซึ่งปกติแล้วไม่มีคนไทยเข้าในบริเวณดังกล่าว เพราะทราบดีกว่าเป็นสถานที่ที่สร้างขึ้นมา เพื่อนำทัวร์จีนมาเช่าพระเครื่องเท่านั้น
พระครูเมตตาภิรมย์ เจ้าคณะอำเภอเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดลัฏฐิวนาราม และเป็นผู้ริเริ่มให้เอกชนเช่าที่ดินวัดสร้างเสนาสนะนำทัวร์จีนเข้ามาในวัดใต้ กล่าวว่า ข่าวที่เกิดขึ้นว่ามีการสร้างโบสถ์ปลอมภายในวัดใต้นั้น ได้สร้างความเสียหายให้กับวัดเป็นอย่างมาก ภายในวัดมีแต่โบสถ์จริงเท่านั้น ไม่มีโบสถ์ปลอม อาคารที่สร้างนั้นคนข้างนอกอาจจะนึกคิดว่าเป็นโบสถ์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาให้มีลักษณะของอาคารภายในวัดเพื่อจำหน่ายวัตถุมงคลเท่านั้น และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภายในวัดก็ทราบ ว่าสิ่งที่เขาเข้าไปไหว้พระนั้นไม่ใช่โบสถ์ของวัด แต่เป็นพระพุทธรูปสามารถตั้งให้กราบไหว้บูชาได้ ส่วนวัตถุมงคลที่นำมาให้เช่าภายในอาคารดังกล่าว ทางวัดไม่ได้เป็นผู้สร้าง วัดไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเรื่องของผู้เช่าที่วัดดำเนินการให้เช่าวัตถุมงคล ส่วนการบรรยายให้นักท่องเที่ยวฟังหลังจากลงจากรถทัวร์ ก็เป็นเรื่องของบริษัททัวร์ ทางวัดไม่ทราบว่าบรรยายเรื่องอะไรบ้าง เพราะบรรยายเป็นภาษาจีนฟังไม่ออก รู้แต่ว่าคนต่างชาติเข้ามาทำบุญไหว้พระเป็นสิ่งที่ดีที่สุด มีการถวายปัจจัยบำรุงวัด มีการแต่งกายที่สุภาพเรียบ ร้อยหากแต่งกายไม่เรียบร้อย จะไม่อนุญาตให้เข้าไปไหว้พระภายในอาคารดังกล่าว
ส่วนกรณีที่มีพระสงฆ์เข้าไปนั่งภายในอาคาร ค่อยให้พรและประพรมน้ำพระพุทธมนต์นั้น ทางผู้เช่าที่ดินวัดเป็นผู้นิมนต์ไป เพื่อให้พรและประน้ำพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลของนักท่องเที่ยวที่มาไหว้พระ ไม่ได้มีผลประโยชน์อันใด ไม่มีการถวายปัจจัยแต่อย่างใด หากนักท่องเที่ยวต้องการถวายปัจจัยจะบริจาคลงในกล่องที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว และรายได้ที่เกิดขึ้นจากการให้เช่าที่วัด เงินจากการบริจาคของนักท่องเที่ยวจะนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และบำรุงวัด
ด้านนายวิญญา ปลัดขวา ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการตรวจสอบการให้เช่าที่วัดใต้พบว่า ทางวัดได้มอบหมายให้นายไพโรจน์ นกบรรจง ไวยาวัจกรวัด เป็นคนทำสัญญาเช่ากับเอกชน คือ นายสมเกียรติ แก้วสกุล เช่าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ สัญญาเช่ามีระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 – 31 ธ.ค.2560 ค่าเช่าเดือนละ50,000 บาท โดยมีการต่อสัญญากันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2556 จากการตรวจสอบพบว่า การทำสัญญาเช่าดังกล่าวผิดระเบียบ การเช่าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์นั้น ตามระเบียบการเช่าเพื่อแสวงหากำไรจะทำสัญญาปีต่อปีก็ต้องผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาศาสนะสมบัติกลางประจำ (พศป.) ซึ่งในเรื่องนี้จะแจ้งให้ทางวัดรับทราบเพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง และเสนอขอความเห็นไปยังสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรในช่วงที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายจะให้ดำเนินการต่อ หรือหยุดดำเนินการ
นายวิญญา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม จะมีการตรวจสอบในเชิงลึกทั้งในเรื่องของการให้เช่าที่วัด การนำวัตถุมงคลมาจำหน่ายภายในวัดว่ามีแหล่งที่มาหรือไม่อย่างไร การให้พระสงฆ์มานั่งให้พรและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ในสถานที่ที่สร้างขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของคณะสงฆ์ และพระธรรมวินัย ทั้งนี้เพื่อให้ การดำเนินการของวัดใต้เป็นกรณีศึกษาในการนำไปดำเนินการในวัดอื่นๆ ต่อไป หากเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการจำหน่ายวัตถุมงคลนั้นได้มอบหมายให้ทางวัดเข้าไปดำเนินการตรวจสอบ ว่าเป็นวัตถุมงคลปลอมตามที่เป็นข่าวหรือไม่ เพราะการตรวจสอบวัตถุมงคลนั้นไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักพระพุทธฯ ผู้ที่ให้เช่าพื้นที่จะต้องเข้าไปควบคุมดูแล ว่าคนเช่าดำเนินการอะไรที่ผิดกฎระเบียบหรือไม่ ในส่วนของการจำหน่ายดอกไม้ ธูปเทียน และเงินจากตู้รับบริจาค ทางผู้เช่าได้มอบให้กับวัดทั้งหมด
ด้านนายสมเกียรติ แก้วสกุล ผู้เช่าที่วัดและเจ้าของ บริษัท พุทธธรรม จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้เข้ามาเช่าที่ดินวัดใต้ และก่อสร้างเสนาสนะถวายให้กับวัด พร้อมกับนำนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาไหว้พระที่วัดดังกล่าวมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปี จากความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนที่มาภูเก็ตแล้วอยากจะไหว้พระ แต่ทางบริษัททัวร์ไม่สามารถที่จะนำไปไหว้พระในวัดได้ เนื่องจากวัฒนธรรมของคนจีนไม่เหมือนกับคนไทยในหลายๆเรื่อง จึงได้มาคุยกับทางวัดใต้ และขอเช่าที่ดินวัด สร้างเสนาสนะหลังดังกล่าวขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาไหว้พระ โดยดูแลให้เป็นไปตามวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นการแนะนำวัฒนธรรมไทยให้นักท่องเที่ยวรู้จัก และซึมซับถึงวัฒนธรรมไทยอีกด้วย จึงได้สร้างอาคารให้มีความคล้ายคลึงและใกล้เคียงวัดมากที่สุด
“ในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยวันละ 60 – 80 คัน การดำเนินธุรกิจดังกล่าว ได้ร่วมลงทุนกับนักลงทุนคนไทยเชื้อสายจีนในการส่งนักท่องเที่ยวเข้ามายังวัดใต้ ซึ่งรายได้ที่เกิดจากนักท่องเที่ยวจีนนั้น ทางบริษัทได้เฉพาะในส่วนของการให้เช่าบูชาวัตถุมงคลเท่านั้น ส่วนอื่นๆไม่ว่าจะเป็นการจำ หน่ายดอกไม้ ธูปเทียน และเงินจากกล่องรับบริจาคจะมอบให้วัดทั้งหมด”
นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า เมื่อนักท่องเที่ยวลงจากรถบัส ไกด์ก็จะแนะนำว่า ที่นี้เป็นวัดซึ่งก็เป็นวัดจริงๆ เพราะอาคารที่สร้างขึ้นมานั้นอยู่ในวัด แต่โดยทั่วไปแล้วคนจีนจะนับถือและศรัทธาพระพรหมมาก คนจีนที่มาวัดไหว้พระอยากได้ความเป็นสิริมงคล จึงมาไหว้พระขอพร และหาเช่าวัตถุมงคลในสร้างโชคลาภ แต่ไม่ได้หมายความว่า คนจีนทั้งหมดที่มากับรถบัสจะลงไปไหว้พระและเช่าบูชาวัตถุมงคล บางคนก็ไม่ลงจากรถก็มี
สำหรับวัตถุมงคลที่ระบุว่า เป็นพระปลอมนั้น นายสมเกียรติ ชี้แจงว่า ขอยืนยันว่าวัตถุมงคลที่นำมาให้นักท่องเที่ยวจีนเช่าบูชานั้น เป็นวัตถุมงคลที่เป็นของจริงทั้งหมด ที่ผ่านการปลุกเสกมาแล้วทั้งนั้น โดยทางบริษัทไม่ได้เป็นคนจัดหาวัตถุมงคลเอง แต่จะมีเซียนพระจากที่ต่างๆ นำมาให้อีกทอดหนึ่ง ซึ่งจะมีใบอนุโมทนาจากวัดต้นทางต่างๆ มาด้วย สามารถตรวจสอบได้
ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวเปิดเผยว่า เมื่อเวลา 13.00 น.ของวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่วัดท่าเรือ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้มีการประชุมคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่1/2560 ซึ่งมีพระราชสิริมุนี เจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมฯ และมีนายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายวิญญา ปลัดขวา ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต นายธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีและอนุรักษ์โบราณสถาน สาขาภูเก็ต สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและคณะสงฆ์ เข้าร่วม โดยมีวาระการประชุม อาทิโครงการวัดสีขาว การจัดทำแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 การเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี 2560 เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งนี้ได้มีการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของ 2 วัด หนึ่งในนั้นคือ วัดพระนางสร้าง อ.ถลาง ซึ่งมีการร้องเรียนถึงการสร้างวัตถุต่างๆ ภายในวัดที่ไม่เหมาะสม เช่น การสร้างรูปปั้นหลวงพ่อแช่มวัดฉลองหรือวัดไชยธาราราม พระเกจิดังซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก มีการสร้างไม่ได้สัดส่วน, การสร้างรูปปั้นยักษีและยักษาถือปืน เป็นต้น สร้างความไม่พอใจให้กับพุทธศาสนิกชนบางส่วน
พระครูเมตตาภิรมย์ เจ้าคณะอำเภอเมืองภูเก็ต เป็นตัวแทนคณะสงฆ์ ชี้แจงว่า หลังรับการร้องเรียนคณะผู้ปกครองสงฆ์ประกอบด้วย เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะจังหวัด เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่ามีความไม่เหมาะสมตามที่มีการร้องเรียนจริง จึงได้มีมติออกเป็น 2 ส่วน คือ ในส่วนของพระครูวิจิต ศุภการ เจ้าอาวาสวัดพระนางสร้าง ซึ่งทางคณะผู้ปกครองฯ ได้มีมติสั่งพักตำแหน่งเจ้าอาวาสของพระครูวิจิต ศุภการ โดยไม่มีกำหนด และห้ามไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการใดๆ ภายในวัดพระนางสร้างอีก และมอบหมายให้พระครูพรหมประภัสสร เจ้าคณะอำเภอถลางรักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระนางสร้างแทน กับในส่วนของการจัดการสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ภายในวัดพระนางสร้าง ซึ่งก็ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างส่วนราชการ ฆราวาสและคณะสงฆ์ เพื่อเข้ามาทำการปฏิรูปสิ่งต่างๆ ภายในวัดทั้งหมด สิ่งปลูกสร้างใดที่จะต้องทุบทิ้งก็ต้องทุบทิ้ง โดยจะต้องเข้ามูกันอีกครั้ง เนื่องจากมีบางส่วนที่มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ส่วนไหนที่สามารถปรับปรุงได้ก็ให้ทางคณะกรรมการฯ มาพิจารณาร่วมกัน
สำหรับพระครูวิจิต ศุภการนั้น ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าการ(ตำแหน่งหน้าที่ที่ชาวบ้านภูเก็ตเรียกกัน) อยู่ที่วัดขจรรังสรรค์ ต.ตลาดเหนือ อ.เมือง ภูเก็ต ชาวบ้านขาวัดขจรฯหรือวัดเหนือศรัทธากันมาก ว่ากันว่า เป็นพระนักพัฒนาที่ขยันท่านหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต ชอบจัดทัวร์กฐิน – ผ้าป่า พาโยมอุปถาก อุปถัมภ์ ออกต่างจังหวัดไปทางเหนือ อีสานทุกปี เคยพาทัวร์ไปประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บกันหลายคน ล่าสุดมีรายงานข่าวแจ้งว่า ได้เดินทางออกจากวัดพระนางสร้างไปแล้ว ด้วยรถกระบะ บน 403 มีสัมภาระเต็มกระบะ