วิธีทำแป้งร่ำ เครื่องประทินโฉมและเคล็ดลับความหอมของหญิงไทยแต่โบราณ
หากใครที่ได้ดูละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่ออกอากาศในคืนวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา จะเห็นว่าคุณหญิงจำปา มีการสอน แม่หญิงการะเกด ให้ทำ “แป้งร่ำ” หรือเครื่องประทินโฉมของหญิงไทยในสมัยก่อน ซึ่งเชื่อว่าหลังจากที่ได้ชมแล้วหลายคนคงจะอยากรู้ว่า แป้งร่ำ คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร และมีวิธีการทำอย่างไรกันบ้าง ?
วันนี้กระปุกดอทคอมจึงได้นำวิธีทำแป้งร่ำกระแจะจันทร์ เครื่องหอมตำรับชาววัง โดยอาจารย์คมสัน ทินกร ณ อยุธยา จากเพจ วิชชาลัยแพทย์แผนไทย พิพิธเภสัชบริษัท มาสอนให้สาว ๆ ได้ลองศึกษาและทำตามกันดูค่ะ นอกจากจะได้เรียนรู้ว่าในสมัยก่อนหญิงไทยมีเคล็ดลับทำให้ตัวหอมอย่างไรแล้ว ยังได้เป็นการอนุรักษ์สูตรการทำแป้งร่ำแต่โบราณให้อยู่สืบไปอีกด้วย ^^
เริ่มต้นจักกล่าวถึงภูมิรู้ในการปรุงเครื่องหอมแลเวชปฏิบัติเพื่อความสบาย อันนำมาซึ่งความงามทั้งภายนอกกายทั้งภายในกาย คือใจให้สบายแลบำรุงราศีให้ปรากฎขึ้นกรรมวิธี แลสูตรตำรับเหล่านี้ประดิษฐ์ขึ้นมาจากองค์ความรู้ทางเวชกรรมและเภสัชกรรมในราชสกุลแพทย์หลวง “ทินกร” แต่ครั้งสำนักหมอหลวงในพระบรมมหาราชวังหลวงที่กรุงเทพฯ สิ่งของหอม กายหอม ใจหอม นำมาซึ่งสุขภาพกายที่งามใจที่สบายทั้งสิ้นเพื่อความไม่ป่วยในผู้ไม่เจ็บเทียบได้กับคำว่า Wellness ในปัจจุบันนี้
โดยจะกล่าวนำถึงการปรุงเครื่องหอมเพื่อใช้ในการเวชปฏิบัติ ของหอมนั้นทำให้หัวใจชุ่มชื่นเป็นองค์ความรู้ทางนามโดยการใช้สุคนธบำบัดเข้ามาช่วย การอบแป้งร่ำเพื่อใช้ในการขัดผิว การตกแต่งผิวกายให้ผ่อง น้ำลอยดอกไม้หอมเพื่อใช้เข้าสำรับปรุง การอบร่ำผ้าผ่อนเพื่อให้มีกลิ่นจรุงใจ กลิ่นหอมเหล่านี้จักเข้าไปในใจให้ใจสบาย เป็นเผดิมก่อนจะเวชปฏิบัติในขั้นตอนต่าง ๆ เริ่มที่เส้นผม ไปผิวกาย ท้ายที่ผิวหน้า ให้ความผ่องใสราศีจักบังเกิด ผิวภายนอกกายจะงาม เส้นผมจะสลวยหอมรัญจวน ผิวหน้าจะงามใสไร้ราคีมาแปดเปื้อน ใจก็จักสบาย กายก็จักงาม ใจสบาย ความป่วยไข้ถ้ามีก็บรรเทาลงด้วยใจ แต่ถ้าไม่ป่วยไข้ความสบายนั้นย่อมทำให้ห่างหายเพราะกายใจแข็งแรงพร้อม ถ้าไม่ป่วยควรจะงามพร้อม ป่วยไข้แล้วก็พึ่งจะงามใจจากงามกาย การปรุงสำรับและขั้นตอนการเวชปฏิบัติที่จะบรรยายต่อไปนี้ผู้ปรุงผู้กระทำเวชต้องทำให้ครบตามสำรับ ปฏิบัติให้ครบทุกขั้นตอน ห้ามขาด ห้ามข้าม ห้ามเกิน !
ทั้งนี้ แป้งร่ำ นั้นหมายถึง แป้งที่มีน้ำหอมเจือแทรก นำมาร่ำตามเนื้อตัวให้หอมกรุ่นติดผิวเนื้อผิวกายจะย่างจะเยื้องเป็นได้กลิ่นติดจมูกกับผู้อยู่ใกล้ ใช้ผัดหน้าผัดผิวให้ขาวผ่องหอมละไม ชาววังแต่นานมาท่านปรุงแป้งร่ำไว้ใช้เองแลจำเป็นต้องใช้ ด้วยจะขึ้นเฝ้าเจ้านายจำต้องมีกลิ่นสะอาดแลผิวต้องหมดจดสดชื่น แม้เมื่อลุกออกจากที่ไปแล้ว แผ่นกระดานพื้นที่สาวชาววังนั่งอยู่นั้นยังติดกลิ่นหอมไปจนถึงเนื้อกระดานดั่งที่มาของคำว่า “หอมติดกระดาน” นั่นเอง
ตกมาถึงยุคนี้มีรองพื้นขายกันเกลื่อนกลาด แป้งร่ำค่อย ๆ สูญหายหมดสิ้นไปตามกาลเวลาที่ผันผ่าน หากมีผู้ค้นคิดต่อยอดของโบราณนำแป้งร่ำมาขยับใส่ตลับเติมสีสันให้เข้ากับผิวด้วยสมุนไพรธรรมชาติ เช่น ฝางเสนทำให้สีออกอมแดง ก้านดอกกรรณิการ์ทำให้มีสีออกอมเหลือง กลิ่นแบบไทย ๆ สุขุมนุ่มลึกไม่ฉุนเฉียวไป อาจขายได้ขายดิบขายดีก็เป็นได้
จึ่งขอคัดวิธีทำแป้งร่ำไว้เผื่อมีผู้ค้นคิดพัฒนาต่อยอด เป็นการช่วยผดุงรักษาสมบัติของชาติไว้ได้อีกชิ้นดั่งจักแจ้งนี้
วิธีอบ “แป้งร่ำกระแจะจันทร์”
เครื่องปรุงที่ต้องตระเตรียม
1. แป้งหินหรือแป้งนวล ทำมาจากดินขาว เป็นเม็ดสีขาวไม่มีกลิ่น แนะนำให้ซื้อที่ร้านถาวรธนสาร แถวสำเพ็ง
2. น้ำอบไทย เครื่องหอมที่เป็นน้ำ แนะนำให้ใช้น้ำอบแท้ตรานางลอยดีที่สุด
3. น้ำดอกไม้ น้ำที่ผ่านการลอยดอกไม้หอมมาชั่วคืน ผ่านการอบต่อด้วยเทียนหอมแล้ว จึ่งได้น้ำดอกไม้
4. ชะมดเช็ด ไขของตัวชะมดราคาแพงมากต้องนำมาสะตุให้สิ้นฤทธิ์เสียก่อน จึ่งนำมาใช้ได้ ซื้อได้ที่ บริษัท ภูลประสิทธิ์ จำกัด
5. พิมเสนอย่างดี ต้องเป็นพิมเสนจากต้นพิมเสนมิใช่พิมเสนสังเคราะห์ ซื้อได้ที่ ร้านโพธิ์ประดิษฐ์ แถววัดสระเกศ
6. ผิวกำยาน เป็นยางไม้จากต้นกำยานมีกลิ่นหอมมาก ซื้อได้ที่เดียวกันกับพิมเสน
7. ผิวมะกรูด ด้วยต้องการน้ำมันหอมระเหยที่แทรกอยู่ในเนื้อผิวมะกรูด
8. น้ำตาลทรายแดง ด้วยต้องการความหอมหวานของอ้อยแลเป็นเชื้อให้เกิดความร้อนเวลาอบเครื่องกระแจะ
9. หัวน้ำดอกไม้เทศ ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดอกกุหลาบมอญ ซื้อได้ที่ร้านถาวรธนสาร
10. สี สีเหลืองส้ม จากก้านดอกกรรณิการ์, สีอมแดง จากฝางเสนต้มเคี่ยว, สีเขียว จากใบเนียมหอมคั้นน้ำ
เครื่องใช้สำหรับอบกระแจะจันทร์
1. โถเคลือบ
2. เชิงตะคันแลตะคัน
3. โกร่งบดยา
4. เตาอั้งโล่
วิธีปรุงแป้งร่ำ รอบที่ 1 การอบควันเทียน
1. นำแป้งนวลออกผึ่งแดดให้จางกลิ่นสาบดินเสียก่อน
2. วางเชิงตะคันกลางโถเคลือบ
3. ติดเทียนอบใต้ฝาโถเคลือบ
4. โรยแป้งนวลลงในโถเคลือบให้กระจายทั่วกันรอบ ๆ เชิงตะคัน
5. ติดเชื้อไฟที่เทียนอบแล้วดับปิดฝาให้ควันเทียนคลุ้งกระจายภายในโถ ทำแบบนี้ 3 รอบจึ่งแล้ว
6. นำเทียนอบออกจากฝาแลปิดฝาให้สนิทใช้ผ้าชุบน้ำปิดรอบโถกันกลิ่นออก
วิธีปรุงแป้งร่ำ รอบที่ 2 การอบกระแจะหอม
1. ผสมเครื่องอบเข้าด้วยกันมี น้ำตาลทรายแดง 1 ส่วน/ผิวกำยานตำละเอียดกึ่งส่วน/ผิวมะกรูดหั่นฝอยหนึ่งในสามส่วน
2. เผาตะคันในเตาอั้งโล่จนร้อนจัด
3. นำวางบนเชิงตะคัน แล้วหยอดเครื่องอบ ปิดฝาให้ดีใช้ผ้าชุบน้ำปิดรอยต่อฝาโถกับตัวโถ
4. นำตะคันใหม่ไปเผาไฟจนร้อนจัดเพื่อสับเปลี่ยนกับตะคันเก่าในโถ
5. แล้ววนทำกลับดุจเดิมให้ได้ถึงห้ารอบอบจึ่งแล้ว
วิธีปรุงแป้งร่ำ รอบที่ 3 การอบค้างดอกไมัหอม
1. เมื่อโถอบเย็นตัวลงเข้าพลบค่ำนำดอกไม้หอมประดามีหาได้โปรยลงในโถแต่พองาม
2. ปิดฝาให้สนิททิ้งไว้ชั่วหนึ่งคืน พอตะวันเริ่มแจ้งให้รีบนำดอกไม้ออกจากโถเสีย
วิธึปรุงแป้งร่ำ รอบที่ 4 การเข้าเครื่องหอม
1. นำพิมเสนดีแลหญ้าฝรั่นแยกกันยีให้ละเอียดแล้วนำมาผสมเป็นเนื้อเดียวกัน
2. นำชะมดเช็ดที่สะตุแล้วแทรกผสมในข้อที่ 1 แล้วยีจนเข้ากัน
3. นำแป้งร่ำที่อบค้างแล้วมาบดละเอียดในโกร่งบดยา
4. นำเครื่องหอมดั่งข้อสองผสมลงไปในเนื้อแป้งเติมน้ำอบไทยเติมน้ำดอกไม้เทศลงไป
5. ยีผสมจนเข้ากันเป็นเนื้อเดียวออกเหลว ๆ จึ่งแล้วเสร็จ
วิธีปรุงแป้งร่ำ รอบที่ 5 การอบหอมซ้ำ
1. นำเชิงตะคันวางในโถเคลือบแล้วเทแป้งเหลวที่ได้รอบ ๆ เชิงตะคัน
2. ทำซ้ำดั่งรอบที่ 2 อีกห้ารอบ
3. ทำซ้ำดั่งรอบที่ 3 ปิดฝาโถทิ้งไว้ กึ่งชั่วยาม (ประมาณ 2 ชั่วโมง) ให้เสร็จในกาลเช้า
วิธีหยอดแป้งร่ำเหลว
1. ตักแป้งร่ำเหลวที่อบซ้ำแล้วในกรวยทองแดง
2. หยอดแป้งร่ำลงบนผ้าต่วนเนื้อมันละเอียดเป็นจุด ๆ
3. นำผึ่งลมไว้ในที่อับ เช่น กำปั่นเหล็ก จนแห้งสนิท
4. เมื่อแห้งแล้วเพียงพลิกผ้าต่วนอย่างเบามือ แป้งร่ำจักร่วงหล่นลงมาเอง
วิธีเก็บความหอมของแป้งที่ร่ำแล้วให้หอมยิ่ง
1. นำแป้งที่ร่ำแล้วใส่โถแก้วใสที่มีฝาปิดมิดชิด
2. ยามพลบค่ำนำดอกไม้หอม (แนะนำให้ใช้เพียงกลีบกุหลาบ) วางไว้ในโถ พอเริ่มแจ้งนำออก
3. ทำดั่งนี้ทุกคืนไป
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก วิชชาลัยแพทย์แผนไทย พิพิธเภสัชบริษัท
ภาพจาก : Instagram bellacampen, broadcastthaitv, mello.me