สงขลานครินทร์ เชิญสื่อส่วนกลางและสื่อท้องถิ่น 5 จังหวัด เยี่ยมชมวิทยาเขตหาดใหญ่และปัตตานี และเสริมระบบ PSU System
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดโครงการเครือข่ายสัมพันธ์สงขลานครินทร์ ปี 2561 นำสื่อมวลชนในพื้นที่ของ 5 วิทยาเขตและส่วนกลาง รวมถึงประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย 5 วิทยาเขต กว่า 60 คน ชมผลงานและนวัตกรรมของวิทยาเขตหาดใหญ่และปัตตานี เพื่อสานสัมพันธ์เครือข่ายและความร่วมมือในการเผยแพร่ผลงานของมหาวิทยาลัยทางสื่อมวลชน เสริมความเป็นหนึ่งเดียวของระบบ PSU System ระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา
ผศ. วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวเปิดโครงการ สำหรับกิจกรรมในโครงการเครือข่ายสัมพันธ์สงขลานครินทร์ เป็นหนึ่งในภาระหน้าที่ของประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย ที่จะสร้างเครือข่ายการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างนักประชาสัมพันธ์และสื่อมวลชน โดยครั้งนี้เป็นที่น่ายินดีที่ว่ามีทั้งสื่อส่วนกลางที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา และสื่อท้องถิ่น 5 จังหวัดที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะทำให้ข่าวสารมหาวิทยาลัยจะได้มีโอกาสเผยแพร่และมีการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้นด้วย
ภายใต้การบริหารงานของ ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีและคณะผู้บริหารชุดใหม่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 ได้มีการเสนอแผนพัฒนามหาวิทยาลัยระยะ 4 ปี ระหว่างปี 2561 – 2565 ต่อสภามหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนให้การบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัย สามารถยืนหยัดและก้าวข้ามความท้าทายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยยึดหลักการสานพลังปัญญาเพื่อขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้กำหนดเป้าหมายความสำเร็จใน 5 ประเด็น คือ ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการระดับโลก การขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน วิจัยและนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ สร้างแบบการเรียนรู้ใหม่และสู่ความเป็นนานาชาติ และ ประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการ
อีกทั้ง หนี่งในประเด็นยุทธศาสตร์ซึ่งถือเป็นแนวทางการดำเนินงาน คือการจัดระบบนิเวศเพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบมหาวิทยาลัย ซึ่งในประเด็นหลังได้กล่าวถึง การออกแบบการสื่อสารมหาวิทยาลัยกับประชาคม ทั้งในและระหว่างวิทยาเขต รวมถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและการประสานกันระหว่างประชาสัมพันธ์ทุกวิทยาเขต และสื่อมวลชนทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง
นอกจากนี้ “การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะทำให้สื่อมวลชนได้มีโอกาสเข้ามารู้จักกับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะวิทยาเขตอื่นๆ นอกจากจังหวัดที่สื่อรับผิดชอบอยู่ จะทำให้ได้รู้จักและเข้าใจบทบาทของมหาวิทยาลัย รวมถึงมีโอกาสรู้จักบุคลากรของวิทยาเขตอื่นๆ เพื่อความสะดวกหากจะต้องมีโอกาสประสานงานกันในครั้งต่อไป ถือเป็นการนำสื่อมวลชนมามีส่วนร่วมในระบบ PSU System หรือ ความเป็นหนึ่งเดียวใน 5 วิทยาเขต ของมหาวิทยาลัยด้วย”
สำหรับ กิจกรรมในโครงการเครือข่ายสัมพันธ์สงขลานครินทร์ ปี 2561 มีการนำชมผลงานนวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของคณะแพทยศาสตร์ อาทิ Hybrid Operating Room ห้องผ่าตัดแบบพิเศษ ที่ช่วยให้กระบวนการวินิจฉัยและรักษาทั้งการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือด และการผ่าตัด ให้สามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่เดียวกัน, Minii Scan นวัตกรรมเครื่องตรวจหาหินปูนในชิ้นเนื้อจากเต้านมเครื่องแรกของโลก และPSU- CTC ศูนย์ฝึกทักษะทางคลินิก แห่งแรกในภาคใต้ รวมถึงการเยี่ยมชมหอประวัติมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวมเอาประวัติของมหาวิทยาลัย และประวัติของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ไว้อย่างครบถ้วนที่วิทยาเขตหาดใหญ่
ผศ. วศิน ยังได้กล่าวต่ออีกว่า การชมงานวิจัยและผลงานบริการวิชาการชุมชน อาทิ ผลงานของนักศึกษาสาขาวิชาพัฒนาสังคม ในนามกลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ชายแดนใต้ ซึ่งได้รับรางวัล “บุคคลต้นแบบแห่งปี”, การผลิตสื่อและการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อชุมชน, นวัตกรรมการดูแลผู้ป่วย, พลังงานไฟฟ้าโซลาเซลล์, ผลงานจักรยานไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์, โครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบ อ.ระแง จ.นราธิวาส และ โครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากกาบกล้วย รวมถึง ผลงานผ้าลีมาบาติก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีพิพิธภัณฑ์ของสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ซึ่งจัดแสดงวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีตที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ 3 มิติ ซึ่งเป็นภาพวาดแสดงถึงประเพณี วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่วาดได้เสมือนภาพจริง ที่วิทยาเขตปัตตานี และสถานที่สำคัญๆในตัวเมืองปัตตานี เริ่มที่จาก ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ,ชุมชนจีนหัวตลาดกือดาจีนอ, ชมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกลือหวานบานา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้การสนับสนุน โดยโครงการ 1 วิทยาเขต 1 ชุมชนเข้มแข็ง ของ ม.อ. และแวะเยี่ยมชมฮวงซุ้ยเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มัสยิดกรือเซะ และมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยเด่นๆ จากวิทยาต่างๆ อาทิ Fish X-Change นวัตกรรมของอุปกรณ์การเปลี่ยนเพศปลานิลชุดแรกในโลกและชุดตรวจปริมาณฟอร์มาลินในอาหารราคาประหยัด ของวิทยาเขตภูเก็ต ผลงานวิจัยนวัตกรรมถนนยางพาราแอสฟัลต์ (Natural Rubberized Road : NRR) ที่ช่วยเพิ่มระยะเวลาการใช้งานของถนนได้ของวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และโครงการพัฒนาการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกลุ่มวัฒนธรรมอันดามันเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดตรัง กิจกรรมอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมผ่านลายเส้นและสีสัน (Trang Vernadoc) รวมถึงกิจกรรมจัดตั้งศูนย์ตรังศึกษาของวิทยาเขตตรัง มาวางแสดงที่วิทยาเขตหาดใหญ่ในวันเปิดโครงการในครั้งนี้