สภาการศึกษาตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ตามพระราโชบาย

         เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ผศ.ดร.ธวัชชัย ทุมทอง รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ม.ราชภัฏภูเก็ต พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษา ให้การต้อนรับ คณะอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านประเมินผลการศึกษา นำโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ และคณะ ในโอกาสติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ณ ห้องคอนเฟอร์เรนท์ อาคารคณะวิทยาการจัดการ ม.ราชภัฏภูเก็ต

         ผศ.ดร.ธวัชชัย ทุมทอง รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เป็นสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดภูเก็ต จัดตั้งขึ้นเป็นเวลา 47 ปี ปัจจุบันเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา  และบัณฑิตศึกษา สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางบริบท สังคม และวัฒนธรรมของท้องถิ่น ตามปรัชญาในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ปฏิบัติภารกิจบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีวิสัยทัศน์สำคัญ คือ เป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาที่หลากหลายอย่างมีคุณภาพ ปฏิบัติภารกิจด้านต่างๆ ตอบสนองความต้องการของบุคคลและสังคม เสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเน้นคุณภาพชีวิต การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรม

         การมาติดตามผลการทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ซึ่งสอดคล้องตามพระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ของคณะอนุกรรมการฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจ และชี้แนวทางอันเป็นประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเป็นอย่างดียิ่ง ทั้งนี้ จากพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้เป็นสิริมงคลแก่ชาวราชภัฏทั่วประเทศ ความว่า ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นประโยชน์กับประชาชน ต่อภูมิภาคและท้องถิ่นอย่างจริงจัง ในเรื่องการดำรงชีวิต ความรู้ทั่วไป และที่สำคัญคือ ผลิตคนดีที่เห็นแก่ประโยชน์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสังคม ตลอดจนส่งเสริมให้ราชภัฏเป็นสถาบันที่เป็นประโยชน์ และเป็นกลไกที่พัฒนาประเทศ ถ้าหากตั้งใจร่วมกัน ก็จะเป็นสถาบันหลักที่พัฒนาประเทศและประชาชนได้อย่างมาก

         จากพระราชดำรัสดังกล่าว มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้สนองพระราโชบายด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยระยะอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตมีความมุ่งมั่นในพันธกิจหลักเพื่อการศึกษา สร้างบัณฑิตที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่นในการผลิตครู ผลิตบุคลากรด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม รวมทั้งทรัพยากรบุคคลในองค์ความรู้ที่หลากหลาย ให้มีทั้งคุณภาพและคุณธรรมควบคู่กันไป สมดังพระราโชบายที่ทรงมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นที่พึ่งของท้องถิ่นอย่างแท้จริง เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็น คนของพระราชา แห่งแห่งแผ่นดิน อย่างสมภาคภูมิ”