สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดการแข่งขันดาราศาสตร์ฯ

          มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิควิชาการฯ จัดการแข่งขันดาราศาสตร์ และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 ที่จังหวัดภูเก็ตโดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ เป็นประธานเปิด มีเยาวชนจากทั่วโลกจาก 46 ประเทศ รวมทั้งผู้ควบคุมทีม และผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมกว่า 500 คน ว่าเยาวชนไทยเคยคว้าเหรียญมาแล้วในอดีต

          เมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2560 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11  จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

           ทั้งนี้มี นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางสุดาวรรณ ปลอดทอง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ เฝ้ารับเสด็จฯ ณ โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ทแอนด์สปา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต

          รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ประธานคณะกรรมการฝ่ายวิชาการ การแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 กราบบังคมทูลถวายรายงานการจัดการแข่งขันว่าการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ หรือ IOAA จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา และในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา

          ดังนั้นในปีนี้ ซึ่งเป็นวาระครบ 90 ปี แห่งการพระราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คณะผู้จัดการแข่งขัน จึงจัดให้มีการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 (IOAA 2017) ขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 12-21 พฤศจิกายน 2560 โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ผู้ควบคุมทีม และผู้สังเกตการณ์ ประมาณ 500 คน จาก 46 ประเทศเข้าร่วมโดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนทุนในการจัดงาน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ และสถานที่ในการจัดงานจากหลายสถาบันและองค์กรเอกชน

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระราชดำรัส เปิดการแข่งขันความว่า การแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ เป็นกิจกรรมสำคัญประจำปีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจากทั่วโลกได้มาร่วมกันแสดงความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่รวมผู้เข้าร่วมแข่งขัน เจ้าหน้าที่ นักวิชาการ คณาจารย์ และผู้กำลังศึกษาด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากเกือบ 50 ประเทศทั่วโลก จึงถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งของประเทศไทยที่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งนี้ การได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของวิชาการด้านนี้ โดยจะมีส่วนกระตุ้นและสนับสนุนให้ชาวไทยหันมาให้ความสนใจกับสาขาวิชาด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เช่นเดียวกับสาขาที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่จะสร้างความก้าวหน้าในการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย นอกจากนั้นยังเป็นโอกาสให้นักศึกษาและนักวิชาการซึ่งเป็นตัวแทนของชาติต่างๆ ทั่วโลก ได้มีการสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน สร้างความคุ้นเคยและความเข้าใจทางวัฒนธรรมระหว่างกัน เพื่อการทำงานร่วมกันในอนาคต

          ทั้งนี้วิธีการคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าแข่งขันระดับนานาชาติในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน โดยในประเทศไทย มูลนิธิ สอวน. ซึ่งมีศูนย์ดาราศาสตร์อยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ จำนวน 13 ศูนย์ จะเป็นผู้รับผิดชอบในการคัดเลือก โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นหนึ่งในศูนย์ภาคใต้ ซึ่งจะมีการนำผู้ได้รับการคัดเลือกจากแต่ละศูนย์มาเข้าอบรม และคัดเลือกให้เหลือศูนย์ละ 5-6 คน จากนั้น จะมีการเข้าแข่งขันระดับประเทศโดยคัดเลือกจากทั้งหมด ให้เหลือ 5 คนเพื่อเข้าแข่งขันระดับนานาชาติกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการแข่งขัน ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ หรือ IOAA จะมีการทดสอบทั้ง ภาคทฤษฎี และ ภาคปฏิบัติการ จะแบ่งคะแนนเป็นการทดสอบภาคทฤษฎี ร้อยละ 60 การวิเคราะห์ข้อมูลด้านดาราศาสตร์ร้อยละ 20 และภาคสังเกตการณ์ ทั้งกลางวันและกลางคืน ร้อยละ 20 ซึ่งรวมการใช้เครื่องมืออุปกรณ์และการสังเกตดวงดาวบนท้องฟ้านอกจากนั้นยังมีการสอบเป็นทีมโดยคละประเทศในท้องฟ้าจำลองที่ติดตั้งไว้ชั่วคราวที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ซึ่งจะไม่มีการนำคะแนนมารวมเพื่อผลแพ้ชนะ แต่เพื่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมการแข่งขัน หลายปีที่ผ่านมาประเทศที่สามารถทำคะแนนได้ดีและได้รับรางวัลส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียเช่น จีน อินเดีย อิหร่าน โดยเยาวชนไทยเคยแสดงความสามารถและคว้าเหรียญในการแข่งขันมาแล้วเช่นกัน