สัมมนาการขับเคลื่อนศักยภาพแรงงาน สถานประกอบการ จ.ภูเก็ต ภายใต้สถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด- 19
สัมมนาการขับเคลื่อนศักยภาพแรงงาน
สถานประกอบการ จ.ภูเก็ต
ภายใต้สถานการณ์
การแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด- 19
จังหวัดภูเก็ต จัดสัมมนา ” การดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 “ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ และให้มีการส่งเสริมมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้ความสำคัญในคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะจากการทำงาน เพื่อการพัฒนาสถานประกอบกิจการให้มีประสิทธิภาพ
วันที่ 19 มีนาคม 2564 (วันนี้) เวลา 09.30 น. ณ โรงแรมเพิร์ล อ.เมือง จ.ภูเก็ต นำโดย นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนา “การดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557” พร้อมบรรยายพิเศษหัวข้อ “การขับเคลื่อนศักยภาพแรงงาน ของสถานประกอบกิจการในจังหวัดภูเก็ต ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 “ โดยมี นายเจษฎา จันทร์อุไร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนามือแรงงาน 21 ภูเก็ต พร้อมด้วย นางสาวจิราภรณ์ วงศ์ภาคำ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาฝีมือแรงงาน , นางสาวเนาวรัตน์ คำดา ผู้อำนวยการกลุ่มงานแผนงานและประเมินผล, นายประพาส คงเงิน นักวิชาการพัฒนาฝีมือแรงงานชำนาญการ, นางสาวนภัสกนก สัณฐาน นักวิชาการพัฒนาฝีมือแรงงานชำนาญการ, นางสาวปิยนุช ณะรักษา นักตรวจสอบภาษีชำนาญการพิเศษ รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สื่อมวลชน เข้าร่วม
นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ ตั้งเป้าหมายให้ “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” พัฒนาคนให้มีความเป็นคนที่สมบูรณ์มีวินัย ใฝ่รู้ มีความรู้ มีทักษะ มีความคิดสร้างสรรค์ มีทัศนคติที่ดี รับผิดชอบต่อสังคม มีจริยธรรม และคุณธรรม พัฒนาคนทุกช่วงวัยและเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ
การสัมมนาโครงการ เป็นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 กำหนดในเรื่องการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การทดสอบ มาตรฐานฝีมือแรงงาน การรับรองความรู้ความสามารถ
นอกจากนี้ นายพิเชษฐ์ กล่าวถึง มีการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการ เช่น การให้ความเห็นชอบหลักสูตร การประเมินเงินสมทบ การขออนุมัติ/อนุญาตสถานประกอบกิจการ การจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความชัดเจน อีกทั้ง ยัง กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อจูงใจให้สถานประกอบกิจการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายภาคีในการยกระดับกำลังแรงงานของประเทศอีกด้วย
ทางด้าน นายเจษฎา จันทร์อุไร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต กล่าวถึง การจัดการสัมมนาในครั้งนี้ว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของประเทศ โดยมีมาตรการจูงใจด้านภาษีอากรและสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆในการสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงาน นอกจากนี้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ได้บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน สำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยในปีงบประมาณพ.ศ. 2564 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีเป้าหมายในการนำเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน มาใช้ในการช่วยเหลือหรืออุดหนุนกิจการใดๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และให้ผู้ประกอบกิจการกู้ยืมเงิน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาบุคลากร
นายเจษฎา ได้กล่าวต่ออีกว่า นอกจากพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ได้มีการปรับปรุงสิทธิและประโยชน์ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพ มีความรู้ ความสามารถ ในการประกอบอาชีพ และการพัฒนาประสิทธิภาพของสถานประกอบกิจการ รวมทั้งให้ความคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะ จากการทำงาน และให้มีการส่งเสริมมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบกิจการเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ถูกต้อง
ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต จึงได้จัดสัมมนาโครงการสัมมนา “การดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557” ขึ้น เพื่อชี้แจงให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในข่ายบังคับกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมประชาสัมพันธ์สถานประกอบกิจการที่ยังไม่อยู่ในข่ายบังคับ ได้รับทราบถึงสาระสำคัญ ขั้นตอน วิธีปฏิบัติ ที่ถูกต้อง ซึ่งมีสถานประกอบกิจการเข้าร่วมอบรมสัมมนาในครั้งนี้ รวมทั้งหมด 125 แห่ง และมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ทั้งหมด150 คน อีกทั้ง ยังได้รับเกียรติจากสรรพากรพื้นที่ภูเก็ตเป็นวิทยากรบรรยายความรู้ในครั้งนี้