อบจ.ภูเก็ต ร่วมกับสภากาชาดไทย ทำกิจกรรมรณรงค์ลดการเกิดเบาหวานเชิงรุก ด้วยคำสั่งการออกกำลังกาย และแอปพลิเคชัน META REVERSES

อบจ.ภูเก็ต ร่วมกับสภากาชาดไทย ทำกิจกรรมรณรงค์ลดการเกิดเบาหวานเชิงรุก ด้วยคำสั่งการออกกำลังกาย และแอปพลิเคชัน META REVERSES
                เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 เวลา 11.00 น. นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนการรณรงค์ลดอุบัติการณ์โรคเบาหวานในผู้มีน้ำหนักเกินและผู้ที่เคยติดโควิด ลงนามจดหมายบันทึกความเข้าใจ (LOU) การรณรงค์ลดอุบัติการณ์โรคเบาหวานจากกลุ่มที่เคยติดโรคโควิดและกลุ่มที่มีน้ำหนักเกินในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และคณะกรรมการบริหารจัดการระบบศึกษาและวิจัยสภากาชาดไทย โดยมี นางพรจิต สุขสมบูรณ์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต รศ.ดร.นพ.พิชิต สุวรรณประกร ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการระบบศึกษาและวิจัยของสภากาชาดไทย และ นพ.บัญชา ค้าของ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสาธารณสุข อบจ.ภูเก็ต ร่วมแถลงข่าว ซึ่งมีคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้อำนวยการ สอน. และ รพ.สต. สังกัด อบจ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมคอซิมบี้ อาคาร 2 อบจ.ภูเก็ต

                   สภากาชาดไทยได้เลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่องในการทำกิจกรรมการรณรงค์ลดอุบัติการณ์โรคเบาหวานจากกลุ่มที่เคยติดโรคโควิดและกลุ่มที่มีน้ำหนักเกินในภาคใต้ โดยสภากาชาดไทย จะถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งมอบระบบปฏิบัติการ และแอปพลิเคชั่น META REVERSES ให้ อบจ.ภูเก็ต สอน. และ รพ.สต. ทั้ง 21 แห่ง นำไปใช้งานเพื่อลดการเกิดเบาหวานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พร้อมประสานเครือข่ายของเหล่ากาชาดในพื้นที่ให้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมร่วมกับ อบจ.ภูเก็ต และมีสภากาชาดไทยเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่

                  อบจ.ภูเก็ต มีการเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติการณ์โรคเบาหวานฯ ในรูปแบบของใบสั่งสุขภาพ โดยคัดกรองหาประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ คนที่เคยติดโควิด หรือคนท้วมมีน้ำหนักเกิน ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย ให้มาพบแพทย์ และรับใบสั่งสุขภาพ พร้อมทั้งให้ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องโดยใช้ แอปพลิเคชั่น META REVERSES ติดต่อกัน 12 สัปดาห์ อบจ.ภูเก็ต และสภากาชาดไทยมีเป้าหมายในการหากลุ่มเสี่ยง เข้ามาออกกำลังกายจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 ราย ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยเริ่มจาก วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2568 ทั้งนี้ จะมีการประเมินผลการดำเนินการทุก 6 เดือน