อบจ.ภูเก็ต ร่วมติดตามความก้าวหน้าโครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ
อบจ.ภูเก็ต ร่วมติดตามความก้าวหน้าโครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.30 น. นายอานุภาพ เวชวนิชสนอง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายไพฑูลย์ ศิลปวิสุทธิ์ ที่ปรึกษานายก อบจ.ภูเก็ต เข้าร่วมการประชุมติดตามความก้าวหน้าของโครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ โดยมี นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน ณ ห้องประชุมคอมซิมบี้ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
ตามที่จังหวัดภูเก็ต ยื่นข้อเสนอ “โครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ” เพื่อขอรับการพิจารณาการเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งกระบวนการพิจารณามอบตราสัญลักษณ์รับรองเป็นเมืองอัจฉริยะจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน และบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะและคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ตามลำดับ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นประธานคณะทำงานประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน โดยข้อเสนอ “โครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ” ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานฯ ในการประชุม เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 ดังนั้น เพื่อเป็นการติดตามความก้าวหน้าและพิจารณาทบทวนรายละเอียดข้อเสนอโครงการฯ จึงได้มีการประชุมในครั้งนี้ เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานโครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ ตามแนวทางที่ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจังหวัดภูเก็ตได้มีการปรับปรุงแผน Phuket Smart City และได้จัดทำข้อเสนอ “โครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ” จำนวน 46 โครงการ
พร้อมกันนี้ มีการพิจารณาเพิ่มเติมโครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ ดังนี้ 1.โครงการระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ จังหวัดภูเก็ต 2.โครงการระบบเตือนภัย (แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ตามโรงแรม และโรงเรียน) แจ้งเตือนไปที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.โครงการติดตามประมวลผลเรื่องราวร้องทุกข์ของศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดภูเก็ต 4.โครงการจัดตั้ง Startup สู่เส้นทางธุรกิจแบบใหม่ จังหวัดภูเก็ต 5.โครงการพัฒนาโครงข่าย 5G เพื่อรองรับการแจ้งเหตุฉุกเฉิน 6.โครงการพัฒนาศูนย์ควบคุมและบริหารจัดการคอมพิวเตอร์ส่วนกลางของจังหวัดภูเก็ต รวมถึงพิจารณาตามข้อเสนอของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ เสนอแนะทบทวนกำหนดวิสัยทัศน์ที่สะท้อนถึงจุดเด่นและเป้าหมายระยะยาวที่จังหวัดต้องการ พิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินงานของแผนระยะยาว เพื่อให้การดำเนินโครงการครอบคลุมพื้นที่ส่วนอื่นของจังหวัดภูเก็ต และพิจารณาทบทวนกลไลการมีส่วนร่วมระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน รวมถึงการพัฒนากระบวนการติดตามผลการดำเนินงานของจังหวัด เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ยั่งยืนต่อไป