อบจ.ภูเก็ต ร่วมสนับสนุน “คลินิกอุ่นใจ” ศูนย์บริหารจัดการผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบครบวงจร
อบจ.ภูเก็ต ร่วมสนับสนุน “คลินิกอุ่นใจ” ศูนย์บริหารจัดการผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบครบวงจร
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 เวลา 15.00 น. นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และ นพ.พิทักษ์พล บุญยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 11 ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพิชิตโควิด-19 “คลินิกอุ่นใจ” ณ หอประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ตหลังใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายอานุภาพ เวชวนิชสนอง และนายทิวัตถ์ สีดอกบวบ รองนายก อบจ.ภูเก็ต นายนิวิฐ อุ๋ยชินกรรม ที่ปรึกษานายก อบจ.ภูเก็ต นายไพโรจน์ รวมพรรณพงศ์ สมาชิกสภา อบจ.ภูเก็ต อำเภอเมือง เขต 1 นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ และว่าที่ ร.ต. วิกรม จากที่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดภูเก็ตขณะนี้ มีการแพร่ระบาดที่รวดเร็วมากจากเชื้อเดลตา ซึ่งเหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ใน 7 พื้นที่ภาคใต้ตอนบน การแพร่ระบาดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ทำให้จังหวัดภูเก็ตในวันนี้มีการติดเชื้อไม่ต่ำกว่าวันละ 200 คน แต่อย่างไรก็ตามพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวมากกว่าร้อยละ 85 ที่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดงที่มีอาการหนักเป็นส่วนน้อยมาก อีกทั้งอัตราการเสียชีวิตก็อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมากด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนในจังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการบูสเตอร์เข็มที่ 3 ส่วนกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่ม 608 จากการสำรวจพบว่ามีเหลืออยู่ประมาณร้อยละ 20 ซึ่งทีมงานจะต้องเร่งให้คนกลุ่มนี้ฉีดวัคซีนทั้งหมดเพื่อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต รวมไปถึงการบริหารจัดการให้คำปรึกษาปัญหาโควิด-19 แก่ผู้ที่มีความกังวลใจ
สำหรับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดภูเก็ตนั้น จำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์หรือปลายเดือนกันยายนนี้ กระทรวงสาธารณสุขโดยผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 11 ได้เสนอมาตรการ 3 แนวทางคือ 1.จัดทีมปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว 2.จัดทีมควบคุมไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ 3.จัดตั้งคลินิกอุ่นใจ ซึ่งคลินิกอุ่นใจ เป็นศูนย์บริหารจัดการผู้ติดเชื้อโควิดแบบครบวงจร ทั้งที่มีผลการตรวจ ATK เป็นบวกหรือจากคลินิกแพทย์ คลินิกแลบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการไม่ให้มีผู้ติดเชื้อในชุมชนตกค้าง รวมถึงการขยายโอกาสให้ผู้ติดเชื้อทุกรายเข้าถึงบริการที่รวดเร็วและสะดวก โดยพิจารณาตามระดับความรุนแรงของอาการและปัจจัยเสี่ยงตามความเหมาะสม พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้เป็นศูนย์พักคอยแก่ผู้ติดเชื้อ จนสามารถจัดหาที่พักได้ โดยเปิดให้บริการติดต่อ สอบถาม ประสานงานแบบจุดเดียวจบ (One stop service call center จำนวน 20 คู่สาย ที่หมายเลข 0-7625-4200 ผู้ที่มีผล ATK เป็นบวกจะได้รับการตรวจยืนยัน ให้บริการตรวจ/วินิจฉัย/รักษา ตรวจทางห้องปฏิบัติการและตรวจทางรังสีเบื้องต้นโดยบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขา ในรายที่สามารถกักตัวที่บ้าน ที่ชุมชน หรือที่โรงแรม จะมีทีมงานดูแลรักษาตามอาการเบื้องต้น รวมถึงให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในรายที่จำเป็นพร้อมติดตามอาการและให้คำปรึกษาทุกวัน
โดยการดำเนินการครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือแบบบูรณาการของหลายภาคส่วน ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตที่ได้ให้การสนับสนุนการจัดคลินิกอุ่นใจเป็นเงิน 1,200,000 บาท บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) สนับสนุนคู่สายโทรศัพท์ จำนวน 20 คู่สาย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจังหวัดภูเก็ต ทีมงานควบคุมโรคจากเขตสุขภาพที่ 11 หน่วยงานภาครัฐ/เอกชนในจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนจิตอาสาทุกท่าน
#เราจะผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
#อบจ.ภูเก็ต ดูแลประชาชน