อบจ.ภูเก็ต เปิดตัว “Phuket Health Sandbox ปีที่ 3” พร้อมก้าวสู่ “ภูเก็ตโมเดล: สุขภาพดิจิทัลเพื่ออนาคตไทย”
อบจ.ภูเก็ต เปิดตัว “Phuket Health Sandbox ปีที่ 3” พร้อมก้าวสู่ “ภูเก็ตโมเดล: สุขภาพดิจิทัลเพื่ออนาคตไทย”
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 เวลา 16.00 น. ณ บ้านชาร์เตอร์แบงก์ จังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวรายงานในพิธีเปิดตัวโครงการ “Phuket Health Sandbox ปีที่ 3” และประกาศก้าวสู่ “ภูเก็ตโมเดล: สุขภาพดิจิทัลเพื่ออนาคตไทย” (Phuket Model: Digital Health for Thailand’s Future) โดยนายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน และนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวต้อนรับ ซึ่งมีคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา อบจ.ภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ อบจ.ภูเก็ต รวมถึงผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วม
โครงการ Phuket Health Sandbox ดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 ได้รับการยอมรับในระดับประเทศในฐานะต้นแบบด้าน Digital Healthcare ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข โดยได้รับรางวัล Smart City Solutions Awards 2024 ชนะเลิศด้าน การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้านสุขภาพ
โครงการ “ภูเก็ตโมเดล” เป็นการต่อยอดความสำเร็จของ Phuket Health Sandbox โดยมุ่งเน้นการขยายศักยภาพด้านการดูแลสุขภาพผ่าน เทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยองค์ประกอบหลัก ได้แก่: ขยาย Smart รพ.สต. ทั้ง 21 แห่ง และ Digital Health Platform ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแพทย์ผ่าน TeleHealth และ Health Monitoring ได้ทุกที่ เทคโนโลยีเชิงรุกเพื่อสุขภาพประชาชน จัดบริการ รถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ และกระเป๋าตรวจสุขภาพเยี่ยมบ้าน พัฒนาระบบ ปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เชื่อมโยงข้อมูลโรงพยาบาลรัฐและเอกชน พัฒนาระบบ Health Data Exchange เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ใช้เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EHR) เพื่อให้การรักษาต่อเนื่องมีประสิทธิภาพ รองรับทุกสิทธิ์การรักษา ปรับระบบให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ อย่างเท่าเทียม บริการด้านสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยว พัฒนาระบบ Medical Tourist Support รองรับการให้บริการ หลายภาษา เพิ่มความมั่นใจในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
นอกจากนี้ โครงการยังเน้นการติดตามผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ด้วยเทคโนโลยีเฉพาะทาง และตั้งเป้าตรวจสุขภาพประชาชน 250,000 คนต่อปี โดยใช้ AI วิเคราะห์ความเสี่ยงรายบุคคล และสร้าง Big Data ด้านสุขภาพ ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากโครงการ “ภูเก็ตโมเดล” ส่งผลให้ GDP ของภูเก็ตเติบโตขึ้น 2-3% ต่อปี ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข 3,000-5,000 ล้านบาทต่อปี ลดภาระโรงพยาบาลรัฐ 30-40% ลดอัตราการลาป่วยของแรงงาน 20-30% ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจภูเก็ตเติบโตเร็วกว่าจังหวัดอื่นๆ 2-3 เท่า ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ Smart City Showcase ซึ่งนำเสนอนวัตกรรมตรวจสุขภาพเชิงรุกจาก รพ.สต.ต้นแบบ 3 แห่ง ได้แก่รพ.สต.บ้านแหลมชั่น รพ.สต.กะทู้ และรพ.สต.เชิงทะเล พร้อมบริการตรวจสุขภาพเบื้องต้นด้วย อุปกรณ์ตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ และรถตรวจสุขภาพ