อสังหาฯ ท้วงทางหลวง หวั่น“เกือกม้า”สะดุดตอ
สมาคมอสังหาฯภูเก็ต ยื่นหนังสือให้กรมทางหลวงพิจารณาแยกเล่มศึกษา ยูเทิร์น เป็น 2 จุด หวั่นที่เกาะแก้วสะดุดตอ EIA จะทำให้โครงการชะงักหมดทั้งขาเข้า ขาออก ด้านแขวงฯเผยแยกไม่ได้ ว่าใช้งบก้อนเดียวกัน 200 ล้าน แจงที่เกาะแก้วคราวที่ผ่านมาสรุปเลือกสร้างทางราบแทน เพราะใกล้แหล่งประวัติศาสตร์ ส่วนเกือกม้ามุดดอกขาวก็ได้แค่ตอกเสาเข็ม ยังไม่คืบเพราะติดรอเวนคืนที่ 2 ข้างทาง ด้านอุโมงค์ฉลองจะให้ทดลองมุดกันได้เมษายนนี้
เมื่อเวลา 11.00 น.ของวันที่ 25 มกราคม 2562 นายพัทธนันท์ พิสุทธิ์วิมล เลขานุการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต พร้อมด้วย นายไตรรัตน์ สันตอรรณพ อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต ยื่นหนังสือถึง นายสมหวัง โลหณุต ผอ.แขวงการทางภูเก็ต เพื่อให้แยกเล่มรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการก่อสร้างสะพานกลับรถต่างระดับ บนถนนเทพกระษัตรี ตอนหมากปรก-เมืองภูเก็ต หรือบ้านมุดดอกขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยมีนายพิจักษณ์ ศรชนะ รอง ผอ.แขวงการทางภูเก็ต ฝ่ายวิศวกรรม เข้าร่วม ณ ห้องประชุมแขวงการทางภูเก็ต
นายพัทธนันท์ พิสุทธิ์วิมล เลขานุการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต กล่าวว่า จากการที่สมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ตได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือรูปแบบโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างสะพานกลับรถต่างระดับ บนทางหลวงหมายเลข 402 ตอนหมากปรก-เมืองภูเก็ต (บ้านมุดดอกขาว) อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2562 ที่ผ่านมา พบว่าการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ดำเนินการโดยนำโครงการในอนาคตมารวมกับโครงการก่อสร้างที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ศึกษาเหมือนเป็นโครงการเดียวกัน
สมาคมฯจึงเห็นควรให้แยกกลุ่มการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกเป็น 2 เล่ม คือ เล่มที่ 1 โครงการสะพานกลับรถต่างระดับ ขาเข้าเมือง เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 4.35% และเล่มที่ 2 โครงการก่อสร้างสะพานกลับรถต่างระดับ ขาออกนอกเมือง ปัจจุบันยังไม่มีการตั้งงบประมาณแต่อย่างใด (ที่บริเวณหยี่เต้ง)
นายพัทธนันท์ กล่าวต่อว่า หากไม่แยกการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน ในกรณีมีความล่าช้าเนื่องจากเหตุอันหนึ่งอันใดของที่กลับรถอันหนึ่ง จะส่งผลทำให้การก่อสร้างของอีกจุดหนึ่งกระทบตามไปด้วย โดยเฉพาะหากที่กลับรถขาออกนอกเมืองไม่ได้รับความเห็นชอบ EIA จะทำให้ที่กลับรถขากลับเข้าเมืองพลอยไม่ได้รับความเห็นชอบตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายในหลายฝ่ายต่อไป
ด้านนายสมหวัง โลหณุต ผอ.แขวงการทางภูเก็ต กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการก่อสร้างทางกลับรถยกระดับนั้น ไม่สามารถที่จะแยกศึกษา EIA ได้ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณร่วมกันทั้งการก่อสร้างและการศึกษา EIA จำนวน 200 ล้านบาท และในส่วนของจุดกลับรถหรือเกือกม้าบริเวณหยี่เต้งนั้น จากการรับฟังความคิดเห็นการศึกษา EIA ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เลือกให้มีการก่อสร้างทางกลับรถระดับแนวราบ และการศึกษามีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 30% หากให้แยกศึกษาก็จะต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจุดกลับรถทั้งสองจุด ที่กรมทางหลวงดำเนินการในพื้นที่ภูเก็ต คือ ที่บ้านมุดดอกขาว อ.ถลาง นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ แต่ขณะการก่อสร้างได้หยุดลงและสิ้นสุดสัญญาจ้างแล้วด้วย โดยโครงการมีความคืบหน้าเพียงการตอกเสาเข็มไปบางส่วน ไม่สามารถก่อสร้างต่อได้ เนื่องจากไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ทั้งสองข้างของทางยกระดับให้กับผู้รับจ้างได้ เนื่องจากกรมทางหลวงยังไม่สามารถเวนคืนที่ดินข้างละ 4 เมตร เป็นระยะทางกว่า 500 เมตรได้ ซึ่งขณะนี้ได้ออก พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น หรือ พ.ร.ฎ.แล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อบังคับใช้กับเจ้าของที่ดินทั้ง 16 ราย หลังจากดำเนินการในขั้นตอนนี้แล้วเสร็จ ทางผู้รับจ้างก็จะใช้เวลาในการก่อสร้างต่อ 2 ปี
ส่วนที่เกาะแก้ว (หยี่เต้ง) นั้น ก่อนหน้านี้สร้างเป็นโครงการสะพานยกระดับ (เกือกม้า) เช่นเดียวกับที่บ้านมุดดอกขาว แต่เนื่องจากถูกคัดค้านจากเจ้าของที่ดิน จึงได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นควรให้สร้างเป็นที่กลับรถระดับแนวราบ เนื่องจากอยู่ใกล้กับโบราณสถานไม่เกิน 1 กิโลเมตร ซึ่งในจุดนี้ได้มีการศึกษา EIA ควบคู่ไปกับการเวนคืนที่ดินทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 15 เมตร ขณะนี้ได้มีการออก พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดินแล้วด้วย และการประชุมล่าสุดก็ยังมีเสียงคัดค้านจากเจ้าของที่ดิน
นายสมหวัง ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ฉลอง ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้วกว่า 70% คาดว่าจะเปิดให้ทดลองใช้ได้ในช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ ในขณะนี้ทางลอดจุดทางเข้าสนามบินภูเก็ตก็มีความคืบหน้าไปมากแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.นี้