อัดฉีดจิตอาสาตาสับปะรดฯ เข้มเฝ้าระวังขยะและน้ำเสีย
จังหวัดภูเก็ต อบรมการจัดการขยะมูลฝอยฯ และการเฝ้าระวังขยะมูลฝอยและน้ำเสีย ให้จิตอาสาฯ กับเครือข่ายตาสับปะรด ร่วม 100 คน ผู้ว่าฯบอกภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่โตเร็ว ปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะมูลฝอย และการปล่อยน้ำเสียของสถานประกอบการลงทะเล ก็ตามมาทำลายภาพลักษณ์ จึงต้องเข้มข้นในการเฝ้าระวัง ว่าเครือข่ายตาสับปะรด ขณะนี้มี 300 คนเศษ ที่ช่วยแจ้งข่าวปัญหาทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ส่วนกลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์อันดามันก็เปิดประชุมรับฟังปัญหาจากเครือข่ายจิตอาสา Go-Eco Phuket เรื่องทรัพยากรในทะเลถูกทำลาย จากกลุ่มนักดำน้ำที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ที่ห้องสุพิชฌาย์ ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์ สุพิชฌาย์ ซิตี้ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในการเปิดประชุม เรื่องการจัดการขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของจิตอาสาเฝ้าระวังขยะมูลฝอยและน้ำเสียจังหวัดภูเก็ต โดยมีเครือข่ายตาสับปะรดเฝ้าระวังขยะมูลฝอยและน้ำเสียจังหวัดภูเก็ต จำนวนกว่า 90 คน เข้าร่วม
นายนรภัทร กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองที่มีการ เจริญเติบโต และมีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องมีแนวทางในการพัฒนาเมืองเพื่อรับรองการเติบโตในด้านสาธารณูปโภค รวมถึงประชากรหลักและประชากรแฝงในรูปแบบของแรงงานหรือนักท่องเที่ยว ที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่แล้ว แต่ก็มีปัญหาที่ตามมากำลังจะก่อให้เกิดวิกฤติส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด คือ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาขยะมูลฝอยล้นเมือง และปัญหาเรื่องการ ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงทะเลของสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยว และทำลายทัศนียภาพของเมืองภูเก็ตที่งดงามให้หมดไป และจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวรวมถึงรายได้ของประชากรในจังหวัดลดลงด้วย
ด้านนายณฐวรรณ จำลองกาศ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติและศักยภาพของจังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่เหมาะสมต่อการท่องเที่ยว และรัฐบาลได้มีนโยบายการส่งเสริมให้จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมี ประมาณ 13 ล้านคน ส่งผลให้มีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว มีการอพยพย้ายถิ่นของประชาชนเข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมาก จึงก่อให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทางจังหวัดภูเก็ตจึงได้จัดโครงการตาสับปะรด เฝ้าระวังขยะมูลฝอยและน้ำเสียฯ โดยได้มีการจัดตั้งเครือข่ายตาสับปะรดเฝ้าระวังขยะมูลฝอยและน้ำเสียจังหวัดภูเก็ต เพื่อที่จะได้มีการสื่อสารแจ้งข่าวปัญหาด้านขยะมูลฝอย และน้ำเสียรวมถึงกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายจำนวนทั้งสิ้น 353 คน
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมในวันนี้ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และรับทราบถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งเข้ามามีบทบาทในการร่วมดูแลรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อมของบ้านเมือง ทำหน้าที่เฝ้าระวังและกำกับติดตามปัญหาขยะ มูลฝอย และน้ำเสียรวมถึงสิ่งแวดล้อมอื่นๆในพื้นที่ของตนเอง เพื่อให้เครือข่ายภาคประชาชนได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐในการดูแลรักษาความสะอาดของบ้านเมืองและนำไปสู่ความเป็นภูเก็ตเมืองสะอาดต่อไป
จะอย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น เมื่อเมื่อบ่ายวันที่ 13 ธันวาคม 2560 เวลา 13.00 น.เศษ กลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์อันดามันภาคใต้ ได้จัดให้มีการประชุมรับฟัง และร่วมบูรณาการ ความร่วมมือกับเครือข่ายจิตอาสา Go-Eco Phuket ที่ห้องประชุม poc ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดย นายสุริยัน เดชรักษา ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์อันดามันฯ เป็นประธาน และมี นายอิทธิ ชัตท์ เลขาธิการ Go-Eco Phuket, ชมรมอนุรักษ์, และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายสุริยัน กล่าวว่า ในส่วนของภาคส่วนอันดามัน จังหวัดภูเก็ตได้ติดอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ ในเรื่องของการท่องเที่ยวซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งหมดจำนวน 436,000 ล้านคน เป็นผลทำให้การท่องเที่ยวในภาคส่วนอันดามันมีอัตรานักท่องเที่ยวที่สูงมาก ทำให้มีศักยภาพในการท่องเที่ยวที่ดี เพราะเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการทางด้านการท่องเที่ยวและการเกษตรในเรื่องของยางพารา ปาล์มน้ำมัน ประมง ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการท่องเที่ยว เนื่องจากไม่ได้สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆขึ้น ล้วนแต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดจากธรรมชาติ อาทิ ภูเขา น้ำตก ทะเล
ด้าน นายอิทธิพัทธ์ ชัตท์ เลขาธิการ Go-Eco Phuket กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวและมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง จึงเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวทั่วไปที่อยากมาชมความงามของเกาะภูเก็ต มีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติมากมายที่ควรดำรงรักษาไว้ แต่ในปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติค่อยๆ เสียหายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากขาดความระมัดระวัง ส่งผลให้ระบบนิเวศเสียหาย โดยเฉพาะทางทะเลที่เกิดจากนักดำน้ำ ที่เหยียบย่ำปะการัง
นายอิทธิพัทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความห่วงใยทรัพยากรใต้ทะเลที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงซึ่งเกิดจากการเข้าใช้พื้นที่ดำน้ำลึก และดำผิวน้ำโดยขาดความระมัดระวังทำให้แหล่งธรรมชาติทางทะเลเสียหาย โดยเฉพาะปะการังที่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก จากสถานการณ์ปะการังโดนทำลายทำให้ปลาสวยงามย้ายถิ่นฐาน ซึ่งสาเหตุเกิดจากกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ของมนุษย์ที่ไม่ช่วยกันรักษาทรัพยากรใต้ทะเล ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลจึงขอความร่วมมือนักดำน้ำและนักท่องเที่ยว รวมถึงประชาชนให้ช่วยกันอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้คงอยู่ เนื่องจากธุรกิจการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้สำคัญของจังหวัดภูเก็ต