อิทธิพลทหารนอกแถวคับฟ้า เก็บค่าหัวเที่ยว“หาดนุ้ย”กะรน

         อธิบดีป่าไม้ยกโขยงลงตรวจสอบ “หาดนุ้ย” กะรน ที่ชาวบ้านร้องถูกอิทธิพลในเครื่องแบบ ข่มขู่ขับไล่ให้ออกนอกพื้นที่ และตั้งวินแท็กซี่เถื่อนปากซอย พร้อมเก็บค่าหัวเข้าเที่ยวหาด กับนำพื้นที่ป่าให้บริษัททัวร์จีนเช่า หลังศปป.4 กอ.รมน.และศปก.พป.เข้าตรวจพบเก็บเงินเข้าหาดตำตา กับมีสิ่งปลูกสร้างบริการนักท่องเที่ยวเกลื่อน ยึดคืนพื้นที่ดำเนินคดี ส่วนอิทธิพลทหารนอกแถวให้กอ.รมน.จังหวัดจัดการ คุยอีกจะใช้ ม. 25 ป่าสงวนแห่งชาติ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หาดนุ้ย – ฟรีดอมใน 2 เดือน นำพื้นที่กลับมาให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน กำนันท้องที่ยอมรับถูกอิทธิพลครอบงำมานาน ทั้งยิงปืนขู่ ทำร้ายร่างกาย จนชาวบ้านขยาด

         เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติการที่ 4 (ศปป.4) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) เปิดเผยว่า ศปป.4 กอ.รมน ได้ร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า(ศปก.พป.) ภายใต้การอำนวยการของ นายอรรถ พลเจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ พล.ท.เรืองสิทธิ์ มิตรภานนท์ ผู้อำนวนการการ ศปป.4 ได้สั่งการให้ตนร่วมกับนายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพรกับพวกในสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ และ นายสมชาย ฉิมแย้ม เจ้าพนักงานป่าไม้ ชำนาญงานนำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่12 สาขากระบี่ เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ภก.2 (ภูเก็ต), กอ.รมน.จังหวัดภูเก็ต., สปก.จ.ภูเก็ต, ตร.กก.5 บก.ปทส., และเทศบาลตำบลกะรน รวมประมาณ 30 คนร่วมกันเข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณแหล่งท่องเที่ยวหาดนุ้ย ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต

         พ.อ. พงษ์เพชร กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการร้านอาหารและบริการร่มชายหาดบริเวณหาดนุ้ย ม.2 ซอยแหลมมุมนอก ต.กะรน ถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลในเครื่องแบบคือ พ.จ.อ. สิงหา เพ็งแก้ว ข่มขู่ขับไล่ออกจากพื้นที่หาดนุ้ย รวมทั้งมีการตั้งวินแท็กซี่เถื่อนหน้าปากซอยแหลมมุมนอก และบังคับเก็บเงินนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติในการเข้า-ออกพื้นที่หาดนุ้ย ซึ่งเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขานาคเกิด โดย พ.จ.อ.สิงหา ได้นำพื้นที่บริเวณหน้าหาดนุ้ย ม.2 ดังกล่าวไปให้กลุ่มทัวร์จีนคือ บริษัท ภูเก็ตสวิง และบริษัท วอเตอร์บีชเช่า

         เมื่อคณะเจ้าหน้าที่เดินทางถึงบริเวณทางเข้าหาดนุ้ย พบมีการเก็บค่าเข้าสถานที่จริง และเมื่อเข้าไปตรวจสอบพื้นที่บริเวณหาดนุ้ย พบบริเวณเส้นทางสาธารณะประโยชน์เข้าไปถึงหาดนุ้ย มีที่พักชั่วคราวจำนวน 5 หลัง โดย 2 หลังแรกไม่มีผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของที่พัก ตรวจสอบพิกัดที่ตั้งด้วยเครื่องมือหาพิกัดด้วยสัญญาณดาวเทียม(GPS) พบอยู่ในเขตทางสาธารณะประโยชน์ อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลกะรน และตรวจสอบที่พักชั่วคราวอีก 3 หลังที่อยู่บริเวณใกล้เคียง พบ นายอาทิตย์ ศรีวิจิตร อายุ 33 ปี ให้การว่าบ้านพักชั่วคราวทั้ง 3 หลังเป็นของบริษัท ภูเก็ตสวิง จำกัด โดยนายอาทิตย์เป็นผู้รับจ้างจากบริษัท เพื่อจัดรถขนส่งนักท่องเที่ยวที่ลงไปเที่ยวหาดนุ้ย ส่วนบริเวณที่ตั้งที่พักชั่วคราว บริษัทได้เช่าที่ดินจากลุงชิตไม่ทราบนามสกุลค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพิกัดที่ตั้งบ้านพักชั่วคราวทั้ง 3 หลังปรากฏว่า อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งได้มีการรังวัดออกเอกสารรับรองสิทธิให้กับนางยุรัตน์ เชื้อญวน ซึ่งเป็นภรรยาของนายชิต

          พ.อ.พงษ์เพชร กล่าว่า บริเวณเส้นทางเข้าหาดนุ้ยระยะทางประมาณ 5 กม.มีสภาพเป็นทางดิน และเทคอนกรีตเสริมบางส่วน ซึ่งนายพิสุทธิ์ ปัญจเดโช ปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ตแจ้งว่าเส้นทางส่วนหนึ่งเป็นทางสาธารณะในความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลกะรน และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต ตลอดเส้นทางไม่พบว่า มีการปิดกั้น แต่ในเขตรับผิดชอบของ ส.ป.ก. บางจุดปรากฏมีร่องรอยการสร้างเหล็กกั้นปิด-เปิดการเข้าออก ปัจจุบันได้รื้อถอนออกไปแล้ว

         ทั้งนี้ หาดนุ้ยมีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ขณะนี้พบมีสิ่งปลูกสร้างจำนวนมาก สร้างเป็นร้านค้า ห้องน้ำห้องสุขา บริการนักท่องเที่ยว มีบ้านพักรวมทั้งการตกแต่งพื้นที่ในลักษณะแหล่งท่องเที่ยว และมีชาวต่างชาติบางส่วนกำลังท่องเที่ยวพักผ่อนในบริเวณดังกล่าว

         พ.อ.พงษ์เพชร กล่าวว่า คณะเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่ และสภาพบริเวณโดยรอบหาดนุ้ย พบว่า นอกจากสิ่งปลูกสร้างสำหรับบริการนักท่องเที่ยว ยังมีพื้นที่บางส่วนทำการเกษตร แต่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่า และเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชัน ตรวจสอบสถานภาพทางกฎหมายอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขานาคเกิด ตามกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 621 ปี พ.ศ. 2516 ทับซ้อนป่าไม้ถาวรฯป่าควนเขานาคเกิด โดยในปี2537 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินประกาศครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณหาดนุ้ย และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ทำการรังวัด และมอบเอกสารส.ป.ก.4-01 ให้กับราษฎรแล้ว และพื้นที่บริเวณหาดนุ้ย และโดยรอบได้จำแนกเป็นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2

         ในการตรวจสอบสภาพพื้นที่จากข้อมูล และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นคณะเจ้าหน้าที่มีความเห็นร่วมกันว่า บริเวณพื้นที่ทางสาธารณะประโยชน์ในความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลกะรน ได้มอบให้เทศบาลตำบลกะรนกับหน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูลการก่อสร้างที่พักชั่วคราวทั้ง 2 หลัง และพื้นที่บางส่วนอยู่ระหว่างการตรวจยึดดำเนินคดี สมควรติดตามสนับสนุนเพื่อให้มีการพิจารณาตัดสินคดีโดยเร็ว และในระหว่างพิจารณาคดี สมควรที่จะให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ ส่วนกรณีผู้มีอิทธิพลข่มขู่ชาวบ้านได้มอบให้กอ.รมน. จังหวัดภูเก็ตรับไปดำเนินการ

อธิบดีป่าไม้คุยโขมงอีก

จะยึดคืนให้ประชาชน

         ต่อมา วันที่ 26 พฤษภาคม 2562 ที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ภก. 2 (ภูเก็ต) ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วย นายวีระพงษ์ พลธิรักษา ผู้ตรวจราชการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.), พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดศูนย์ประสานการปฏิบัติการที่ 4 (ศปป.4) กอ.รมน., นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้, นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร, น.อ.บวร พรมแก้วงาม รองผอ.รมน.ภูเก็ต, นายวินัย ชิดเชี่ยว กำนันตำบลกะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต, ชุดปฏิบัติการศูนย์ประสานการปฏิบัติการที่ 4 (ศปป.4), กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.), เจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม่ที่ 12 สาขากระบี่, เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ภก.2 (ภูเก็ต) กอ.กรมน.ภูเก็ต, สปก.ภูเก็ต, ตำรวจ กก.5 บก.ปทส., เจ้าหน้าที่ทหารเรือ, ทหารบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าประชุมก่อนลงตรวจสอบในพื้นที่

         ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้ให้เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงาน รายงานข้อมูลการตรวจสอบ หลังจากที่ได้ลงพื้นที่ไปล่วงหน้ารอบหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมเสนอแนวทางที่จะดำเนินการ โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชม.ก่อนออกเดินทางด้วยรถขับเคลื่อน 4 ล้อเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 7 กม.

         โดยในวันดังกล่าว ได้มีการลงตรวจสอบพื้นที่ทั้งหมด 3 จุด ซึ่งสองจุดแรกเป็นจุดที่ สปก.ภูเก็ตได้มีการพิจารณายกเลิกสิทธิทำกินในที่ดินดังกล่าวไปแล้ว เนื่องจากพบว่าไม่ได้มีการทำประโยชน์และผู้แจ้งสิทธิสปก.ขาดคุณสมบัติ  โดยบริเวณนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ผาหินดำ และจุดที่ 3 คือ บริเวณที่เรียกว่า Dragon cape  ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 142 ไร่ มีการปลูกพืช อาทิเช่น ปาล์มน้ำมัน กล้วย และเลี้ยงกวาง ซึ่งจุดดังกล่าว อยู่ระหว่างการดำเนินคดี และเตรียมบังคับใช้มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ

         อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวภายหลังการลงตรวจสอบพื้นที่ว่า กรมป่าไม้ได้รับการร้องเรียนจากกำนัน ว่ามีผู้บุกรุกเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่เขานาคเกิด ซึ่งค่อนข้างมีความสลับซับซ้อนนับแต่มีการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และประกาศเขตพื้นที่ ส.ป.ก. กระทั่งมีการประกาศเพิกถอน รวมถึงการครอบครองพื้นที่ต่อเนื่องมา ก่อนที่จะลงมาตรวจสอบในครั้งนี้ได้มีการ จับกุมรถแบ็คโฮที่เข้ามาปรับที่ดินในเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ แต่ในรายละเอียดของการยึดถือครอบครองจะมีจำนวนมากกว่านั้น และได้มีการร้องเรียนไปยังศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ส่งชุดพยัคฆ์ไพรลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งทหารบก ทหารเรือ และตำรวจ รวมถึง สปก.ภูเก็ต

         “ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ทั้งฝ่ายปกครอง กำนัน หน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฝ่ายทหารและตำรวจที่ได้มาช่วยกันตรวจสอบ เป็นการทวงคืนพื้นที่ป่าอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นป่าที่มีมูลค่ามหาศาล และทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน ในอนาคตจะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ในการประกาศเป็นพื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการเป็นป่าอนุรักษ์โดยชุมชนเอง มีระเบียบแบบแผน และไม่เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าจะเกิดความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่” นายอรรถพล กล่าว พร้อมกล่าวต่อว่า

         เบื้องต้นในส่วนที่เป็นคดีแล้วจะเร่งรัดติดตาม และขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาช่วยตรวจสอบ เพราะถือเป็นคดีใหญ่ เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก ส่วนที่เหลือที่จะต้องมีการขยายผลในส่วนที่เป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ได้มีการพูดคุยกับทางผู้ตรวจฯ ส.ป.ก.ว่า จะต้องมีการคัดกรองและตรวจสอบคุณสมบัติเพิ่มเติม ในเรื่องการใช้ประโยชน์ รวมไปถึงการพิสูจน์การครอบครองตามสิทธิของส.ป.ก. ในแต่ละแปลง โดยมีคณะทำงานสำคัญ ทั้งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน ก็จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมในเรื่องของแนวทางการคัดกรองและแก้ไขปัญหา รวมถึงแนวทางในการกำหนดพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นป่าชุมชนในอนาคต

         ขณะที่ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ชุดพยัคฆ์ไพร กล่าวว่า พื้นที่ที่มีปัญหาบุกรุกครอบครองและข้อพิพาทมีประมาณ 600-700 ไร่ ซึ่งเป็นจุดที่มีความสมบูรณ์ของธรรมชาติและมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามมาก มีประวัติการแย่งชิงกันมานาน โดยเฉพาะเรื่องของการร้องเรียน ซึ่งการทำงานในครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จในการบูรณาการความร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะใครก็แล้วแต่ที่จะมายึดถือครอบครองโดยไม่มีอะไรรองรับ หรือผิดก็ต้องถอยออกไป โดยมีคดีที่เกี่ยวข้องตั้งแต่คลับเฮ้าส์ บริเวณหาดนุ้ย จำนวน 1 คดี, คดีบุกรุก 2 ไร่ และสามารถจับกุมรถแบ็คโฮได้ และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประมาณ 140 ไร่ ซึ่งต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด และมีการขยายผลถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เพราะไม่เช่นนั้นปัญหาก็ไม่จบ เนื่องจากที่ดินบริเวณนี้มีมูลค่าค่อนข้างมากนับเป็นหมื่นล้านบาท จึงไม่ควรตกเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง

         นายชีวะภาพ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการในพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทในบริเวณนี้ที่จะเห็นผลในเร็วๆ นี้ มี 2 พื้นที่ ซึ่งอธิบดีฯ ได้สั่งการให้ดำเนินการให้จบ คือ หาดฟรีด้อมกับหาดนุ้ย โดยอธิบดีฯ จะมีการลงนามในมาตรา 25 ตามระเบียบป่าสงวนแห่งชาติ รื้อถอนสิ่งปลูกที่อยู่ใน 2 พื้นที่ดังกล่าว และนำพื้นที่กลับมาให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ หรือมีการเรียกเก็บเงิน หรือมีการนำผู้มีอิทธิพลมาข่มขู่ เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากจะต้องเสียเงินก็ต้องมีระเบียบที่ถูกต้อง รอไม่เกิน 2 เดือนจะเห็นผลแน่นอน

         ด้าน นายวีระพงษ์ พลธิรักษา ผู้ตรวจราชการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) กล่าวว่า เลขา ส.ป.ก.ได้ให้นโยบายมาแล้วว่า ให้มาร่วมตรวจสอบ และหากพบว่า พื้นที่ใดไม่ปฏิบัติตามระเบียบ มีคุณสมบัติไม่ถูกต้อง หรือให้สิทธิไปแล้วไม่ทำประโยชน์ จะมีการนำเสนอคณะกรรมการฯ จังหวัด เพื่อพิจารณา และหากพบว่า ยังมีพื้นที่เป็นป่าก็จะกันคืนให้กับกรมป่าไม้ ซึ่งในส่วนของ ส.ป.ก.ในบริเวณนี้ที่เกี่ยวข้องมีประมาณ 43 ไร่ มีบางส่วนที่มีการถอน ส.ป.ก.ไปบ้างแล้ว

         ส่วน นายวินัย ชิดเชี่ยว กำนันตำบลกะรน เจ้าของพื้นที่กล่าวเพิ่มเติมว่า  ด้วยเป็นคนในพื้นที่ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน และจากการร้องเรียนที่ผ่านมาการปฏิบัติงานของคนในพื้นที่ก็ค่อนข้างหนักใจ ถือว่าโชคดีที่อธิบดีกรมป่าไม้ลงพื้นที่ด้วยตนเอง เป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในการรักษาพื้นที่ป่า การให้แนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน รวมถึงแนวทางในอนาคตที่จะให้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามแนวทางของป่าชุมชนตามระเบียบกฎหมาย โดยพื้นที่ทั้งหมดถูกบุกรุกจากคนภายในและภายนอก โดยเฉพาะพื้นที่หาดนุ้ย นับเป็นพื้นที่ที่มีปัญหามานาน ทั้งการยิงข่มขู่ การทำร้ายร่างกาย การเรียกเก็บเงิน จนเป็นที่หวาดกลัวของคนในพื้นที่ ซึ่งการบูรณาการความร่วมมือกันในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการคืนพื้นที่ให้กับประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้เราต้องการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ก็ต้องใช้เวลา เพราะมีเรื่องของข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง หากสำเร็จก็จะเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวของภูเก็ตให้สูงยิ่งๆ ขึ้น

ยึดคืนพื้นที่ป่ากะรน

ปลูกปาล์ม142ไร่อีก

         วันที่ 26 พฤษภาคม 2562 นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร พร้อมด้วย พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน.พร้อมกำลัง, และเจ้าหน้าที่พยัคฆ์ไพร สนธิกำลังร่วมกับ ศปภ.4 กอ.รมน.ภูเก็ต, ตร. กก.5 บก.ปทส., เจ้าหน้าที่ป่าไม้, เจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดภูเก็ต และฝ่ายปกครองเข้าตรวจสอบบริเวณป่าท้ายหมู่บ้านกะตะติดต่อกับหาดนุ้ยหลังจากชาวบ้านร้องเรียนว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าเป็นบริเวณกว้างซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกปาล์มน้ำมันอายุประมาณ 5 ปี พื้นที่บางส่วนปลูกกล้วยมีการปรับพื้นที่บางส่วนเป็นถนนรวมทั้งสร้างบ้านพักขนาดเล็ก 3 หลังโดยบริเวณทางเข้าพื้นที่บุกรุกมีการปิดกั้นทางเข้าออก

          ขณะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ไม่พบบุคคลใดในพื้นที่ และเมื่อเข้าตรวจตรวจสอบบริเวณบ้านพักได้พบเอกสารสำเนาบัตรประชาชนรวมทั้งสำเนาหนังสือมอบอำนาจแต่ไม่ระบุว่าเพื่อดำเนินการสิ่งใด เจ้าหน้าที่จึงเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน

         จากนั้นได้ตรวจสอบโดยรอบพบโรงเรือน 1 หลังมีการเลี้ยงหมูป่า 4 ตัวกวาง 7 ตัวและติดป้ายว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้ครอบครอง เจ้าหน้าที่ได้รังวัดขอบเขตพื้นที่และตรวจสอบพิกัดด้วยเครื่องมือวัดค่าพิกัดจากดาวเทียม ปรากฏว่า อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิดบางส่วนเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิและบางส่วนเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ไม่ได้ให้ผู้ใดครอบครองและพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่นอกเขต ส.ป.ก. โดยพื้นที่ทั้งหมดยังมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติและเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2

         จากการตรวจสอบการใช้พื้นที่โดยเปรียบเทียบกับภาพถ่ายอากาศปี 2545 ปรากฏว่าพื้นที่ทั้งหมดมีสภาพเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์ ตรวจสอบข้อมูลการสำรวจขึ้นทะเบียนราษฎรในเขตป่าตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ปรากฏว่าไม่มีการสำรวจขึ้นทะเบียนบุคคลในบริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันตรวจยึดพื้นที่ทั้งหมด 142  ไร่คิดเป็นค่าเสียหายภาครัฐกว่า 21 ล้านบาท และจัดทำบันทึกการตรวจยึดส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองภูเก็ต เพื่อให้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป


#Phuket
#Thailand
#กินไหนดีภูเก็ต
#มีเดียภูเก็ต
#ข่าวภูเก็ต
#ท่องเที่ยวภูเก็ต
#อาหารภูเก็ต
#ช้อปปิ้งภูเก็ต​
#โรงแรมภูเก็ต​
#อสังหาฯภูเก็ต​
#เศรษฐกิจ​ภูเก็ต​
#www.phuketprice.com
#ภูเก็ตไพรซ์