เตือนภัย“สึนามิ”ฝั่งอันดามันล่ม ผลทดสอบสัญญาณ3จังหวัดไม่พร้อม
จากกรณีเกิดแผ่นดินไหว ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศไทยทางมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากฝั่งอันดามันไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 384 กิโลเมตร ส่วนใหญ่แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงบริเวณ 5 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะ ภูเก็ต พังงา กระบี่ และบริเวณดังกล่าวเคยได้รับผลกระทบจากการเกิด “คลื่นยักษ์สึนามิ” ซัดถล่มจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก และรุนแรง สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมาแล้ว เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 หลังจากนั้น ได้มีการติดตั้งระบบเตือนภัย เฝ้าระวัง และป้องกันภัยอย่างเต็มที่ทั้งในทะเล และบนฝั่ง มีการซักซ้อมความพร้อม การหนีภัยกันอยู่เสมอ แต่จนกระทั่งบัดนั้น ถึงบัดนี้ เป็นเวลา 14 ปี ระบบเตือนภัยต่างๆ เสื่อมโทรม โดยเฉพาะบนฝั่งใน 5 จังหวัดดังกล่าว บางส่วนใช้การไม่ได้ ไม่สมประกอบ ไม่มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ ดูแลอย่างจริงจัง น่าจะเป็นเพราะขาดงบประมาณบำรุง รักษาให้เป็นรูปธรรม
แผ่นดินไหวที่อินโดฯ
หวั่นเกิดสึนามิซ้ำรอย
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงความพร้อมในการรับมือหากเกิดเหตุสีนามิถล่มว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดภูเก็ตที่ให้ความสำคัญ แต่ในส่วนของประเทศไทยก็ให้ความสำคัญสูงสุด พร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชน และนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ โดยแบ่งระบบการทำงานออกเป็น 2 ช่วง คือช่วง ของการเฝ้าระวัง ซึ่งมีการติดตั้งระบบตรวจจับแผ่นดินไหว 2 จุด จุดแรกอยู่ที่มหาสมุทรอินเดีย ถ้ามีเหตุการณ์ แผ่นดินไหวเกิดขึ้นจะสามารถแจ้งเตือนได้ภายใน 1.45 ชั่วโมง ส่วนจุดที่ 2 อยู่ห่างจากจังหวัดภูเก็ตประมาณ 29 กิโลเมตร ถ้าเกิดสินามิ สามารถแจ้งเตือนได้ภายใน 50 นาทีเท่านั้น
ส่วนการแจ้งเตือนหากเกิดสึนามิจริงๆ ก็จะมีการแจ้งเตือนมายังภูเก็ต ในส่วนของภูเก็ตเองก็มีความพร้อมในการแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ ตามระบบ ซึ่งในส่วนของหอเตือนภัยที่มีอยู่ ก็มีการทดสอบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งป้ายหนีภัย ซึ่งต้องยอมรับว่ามีบ้างที่ชำรุด แต่ขณะนี้เชื่อว่ามีมากกว่า 80 % ที่ยังสามารถใช้งานได้ดี
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ตนได้สั่งการให้ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ และปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามปกติแล้ว รวมถึงเส้นทางหนีภัยบางจุดที่อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสม เนื่องจากสภาพการก่อสร้าง การจราจรที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเรื่องนี้จะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า ตนขอยืนยันว่าทุกหน่วยงานในจังหวัดภูเก็ตพร้อมที่จะดูแลความพร้อมภัยให้กับประชาชนและพร้อมที่จะรับมือหากเกิดสินามิขึ้น
นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า สอบถามชาวบ้านหลายคนก็ไม่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้ ซึ่งหลังจากที่มีการแจ้งเตือนทางศูนย์เตือนภัยแห่งชาติได้ส่งแฟกซ์มาให้ทางเทศบาลเมืองป่าตอง ให้เฝ้าระวังติดตาม โดยตนสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบระดับน้ำบริเวณชายหาด แต่ก็ไม่พบสิ่งผิดปกติ นอกจากนั้นหอเตือนภัยสึนามิ ที่ตั้งอยู่ที่หาดป่าตองทั้ง 3 จุด ขณะนี้ก็สามารถใช้งานได้อย่างดี โดยศูนย์เตือนภัยแห่งชาติได้ทดสอบสัญญาณเดือนละ 2 ครั้ง ระหว่างวันที่ 1 และ 15 ของทุกเดือน เพื่อทดสอบระบบของหอเตือนภัย ว่าอยู่ในความพร้อมการใช้งานหรือไม่ ล่าสุดวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา มีการทดสอบ ก็ยังสามารถใช้ทั้ง 3 หอเตือนภัยได้
ด้าน นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่ได้รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวครั้งนี้ แต่ก็ได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด สำหรับหอเตือนภัยพื้นที่ราไวย์ มีทั้งหมด 4 จุด คือ หาดราไวย์ 1 จุด บ้านเกาะโหลน 1 จุด บ้านบางคณฑี 1 จุด และหาดในหาน 1 จุด ทุกจุดมีการซ้อมระบบทุกเดือน ล่าสุดพบว่ายังใช้การได้ทุกจุด
ส่วน นายวินัย ชิดเชี่ยว กำนันตำบลกะรน กล่าวว่า ไม่รับสู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้ แต่เมื่อทราบข่าว ก็ได้สั่งการให้ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ออกตรวจสอบระดับน้ำที่ชายหาดกะตะ- หาดกะรนทันที แต่ก็ไม่อะไรเปลี่ยนแปลง วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับการแจ้งเตือนดังกล่าว ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด และทราบว่าขณะนี้มีการประกาศยกเลิกการแจ้งเตือนแล้ว.
ว่าระบบเตือนภัยไทย
เชื่อมั่นได้ทุกขั้นตอน
นายศุภภิมิตร เปาริก ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ว่าระบบเตือนภัยคลื่นสึนามิของไทยนั้นอยู่ในสภาพพร้อม และมีการตรวจสอบประสิทธิภาพอยู่เสมอ ซึ่งระบบประกอบไปด้วยฐานเก็บบันทึกข้อมูลใต้ทะเลลึก และทุ่นลอยส่งสัญญาณผิวทะเล 2 แห่ง และมีการใช้คอมพิวเตอร์จำลองรูปแบบเพื่อทำนายแนวโน้มของการเกิดคลื่นสึนามิจากข้อมูลที่ได้มา แล้วแจ้งให้ศูนย์เตือนภัยตามชายฝั่งทะเลต่าง ๆ ทราบ เพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยให้ประชาชนในท้องถิ่นเตรียมตัวอพยพหนีภัยได้ทันเวลา
“ทุ่นลอย 2 แห่งนี้ ตัวแรกอยู่ห่างจากเกาะภูเก็ตราว 1,000 กม. ตัวที่ 2 อยู่ห่างจากเกาะภูเก็ตราว 300 กม. ถ้ามีการเตือนภัยจากทุ่นลอยตัวแรก คนบนฝั่งจะมีเวลาราว 2 ชั่วโมงครึ่งสำหรับการอพยพ และหากมีสัญญาณเตือนมาจากทุ่นตัวที่ 2 จะมีเวลาอพยพราว 45 นาที” นายศุภภิมิตร กล่าว
นอกจากทุ่น 2 ตัวนี้แล้วก็ยังมีเครือข่ายทุ่นตรวจจับของประเทศต่าง ๆ ที่วางในมหาสมุทรแปซิฟิกอีกด้วย ซึ่งสามารถให้ข้อมูลแรงสะเทือนที่เกิดตามที่ต่าง ๆ ได้ และก็มียังมีสถานีวัดระดับน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งจะสามารถวัดได้เมื่อระดับน้ำทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว และส่งข้อมูลมายืนยันว่า จะเกิดสึนามิอย่างแท้จริง และหากเกิดทางฝั่งอันดามัน ก็มีสถานีวัดระดับน้ำที่เกาะเมียง จ.พังงา ที่จะส่งสัญญาณเตือนเข้ามาในระบบเตือนภัยสึนามิ ซึ่งจะช่วยยืนยันด้วย
ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกส่งไปยังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ก่อนที่จะถูกส่งออกไปยังศูนย์เตือนภัยชายฝั่งต่างๆ ที่เตือนคนที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง ทั้งเป็นเสียงสัญญาณ และคำพูดที่เป็นภาษาต่างๆ 5 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ เยอรมัน จีน และญี่ปุ่น เพื่อให้อพยพไปอยู่ที่สูงได้ทันท่วงที
เครือข่ายเพื่อนเตือนภัย
ด้านการสื่อสารพร้อม
น.ส.ศรัญพักตร์ ตันติวงศ์ไพศาล เครือข่ายเพื่อนเตือนภัยจังหวัดภูเก็ต (วิทยุสมัครเล่น) กล่าวว่าประชาชนที่อยู่ชายหาดในจังหวัดที่เคยได้รับผลกระทบจากสึนามิ อย่างเช่น ภูเก็ต พังงา กระบี่ ฯ ต่างก็รวมตัวกันขึ้นเป็นเครือข่ายเพื่อนเตือนภัยอันดามัน ซึ่งสื่อสารกันโดยใช้แอพพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงกับสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวโดยตรง
“หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมาจะมีคำเตือนส่งมาทางไลน์ของกลุ่ม ว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ไหน ความลึกเท่าไร จะมีผลกระทบหรือไม่ กรณีที่มีผลกระทบ มีความเป็นไปได้ที่จะมีสึนามิ ก็จะมีเครือข่ายของเราที่เป็นประชาชนตามชายหาดอย่างเช่น กมลา ป่าตอง ราไวย์ ไปแจ้งเตือนสมาชิกคนอื่นๆ และสมาชิกก็จะไปแจ้งเตือนบ้านข้าง ๆ อีกทีหนึ่ง”
นอกจากนี้ก็ยังมีการใช้วิทยุสื่อสาร โดยสมาชิกที่เป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นจะได้รับการอบรมจากหน่วยงานราชการ โดยใช้คลื่น 145.00 เมกกะเฮิร์ซ เพื่อรายงานสถานการณ์ รวมทั้งประสานงานกับ หน่วยงานราชการในกรณีที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ ขึ้นไม่เฉพาะแต่สึนามิเท่านั้น
“ตามชายหาดต่าง ๆ ของภูเก็ต ก็จะมีป้ายต่าง ๆ อย่างเช่นระบุว่าเป็นสถานที่หลบภัยสึนามิ แต่ก็อาจมีป้ายที่ชำรุดไม่ชัดเจนได้บ้างเหมือนกัน ซึ่งถ้าเป็นคนในพื้นที่ก็น่าจะทราบว่าควรจะไปทางไหนเพื่อจะปลอดภัย และน่าจะบอกกับนักท่องเที่ยวได้ และคนที่ทำงานด้านบริการท่องเที่ยวในภูเก็ตก็คิดว่าจะได้รับการอบรมมาบ้าง และสามารถสื่อสารช่วยเหลือนักท่องเที่ยวได้หากเกิดเหตุ”
อย่างไรก็ตาม น.ส.ศรัญพักตร์ ให้ความห็นว่า ปัจจุบันภูเก็ต มีจำนวนประชาชน อาคาร และรถยนต์มากกว่าในปี 2547 มาก ดังนั้นจึงจะต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย หากว่าจะต้องมีการอพยพขึ้นมา เราต้องมีความพร้อม มีความตื่นตัว แต่ไม่ตระหนก
หอเตือนภัยหมดสภาพ
ผู้ว่าฯภูเก็ตสั่งเช็คด่วน
นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิที่ประเทศอินโดนีเซียส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน ดังนั้นเพื่อ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตนได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ตร่วมกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย และเป็นผู้วางระบบหอเตือนภัย ในกลุ่มจังหวัดอันดามัน เร่งตรวจสอบหอเตือนภัยทั้ง 19 หอหลัก ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมใช้งานได้ทันท่วงที
ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้วางระบบหอเตือนภัย ในจังหวัดกลุ่มอันดามัน ตั้งแต่ปี 2548 หลังเกิดภัยพิบัติสึนามิขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 กล่าวว่า ระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นเวลากว่า 13 ปี สภาพพื้นที่ความเจริญ ต่างๆ วิถีชีวิตของผู้คน และบริบทโดยรอบ เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้ง สภาพของอุปกรณ์ ที่อาจชำรุด เสื่อมสภาพ การดูแลรักษา ที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ อาจมีผลทำให้ ระบบเสียงสัญญาณจากหอเตือนภัย ขาดความชัดเจน ระดับของเสียงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงได้เสนอให้ทางจังหวัด จัดให้มีกระบวนการทบทวนเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่ ในฐานะที่ตนเป็นผู้วางระบบ หอเตือนภัยใน-กลุ่มจังหวัดอันดามัน
ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า หอเตือนภัยทุกหอต้องพร้อมใช้งานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีการทดสอบ ระบบเตือนภัย ทุกวันพุธ จึงต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในพื้นที่หากพบความผิดปกติของเสียงสัญญาณจากหอเตือนภัยที่ไม่ชัดเจนหรือทดสอบแล้วไม่เต็มประสิทธิภาพให้รีบแจ้งหน่วยงานภาครัฐองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่หรือจังหวัดทันที เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล และจะได้ประสานงานกับบริษัทที่รับผิดชอบมาดำเนินการแก้ไขต่อไป
ทั้งนี้เมื่อหอเตือนภัยแจ้งเตือนแล้วกรณีที่เกิดภัยพิบัติ จะทำให้พี่น้องประชาชนมีเวลาในการเตรียมพร้อมสำหรับการอพยพ รับมือกับภัยพิบัติได้ จุดนี้ก็จะสามารถป้องกันการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินได้เป็นจำนวนมาก ประเด็นเหล่านี้จังหวัดภูเก็ตจะได้ระมัดระวัง และทบทวน เรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อให้เกิดการตื่นตัวในทุกภาคส่วน และจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว เพราะหากมีระบบสัญญาณเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเชื่อมั่นและเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น
“หอเตือนภัย ไม่ใช่เครื่องมือสิ่งเดียวที่จะแจ้งเตือนภัย แต่จะมีระบบเตือนภัยที่มีการแจ้งเตือน เมื่อเกิดภัยพิบัติ อาทิ การแจ้งเตือนจากศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติ แจ้งมายังจังหวัด แจ้งไปยัง สื่อ วิทยุ โทรทัศน์ หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน เชื่อมโยงกับภาคเอกชน สมาคมโรงแรมต่างๆ ในพื้นที่ ที่จะช่วยกัน สิ่อสารแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน และ นักท่องเที่ยว ทราบ” ผศ.ดร.ทวิดา กล่าว
ผลทดสอบหอเตือนภัย
19 หอ บางจุดต้องแก้ไข
ด้าน นายประพันธ์ ขันพระเเสง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตมีหอเตือนภัยทั้งหมด 19 หอ แบ่งเป็นพื้นที่ อ.เมืองจำนวน 11 หอประกอบด้วย ท่าเทียบเรือหาดราไวย์ หาดในหาน โรงเรียนบ้านเกาะโหลน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลรัษฎา (แหลมตุ๊กแก) สวนสาธารณะสะพานหิน ทางขึ้นจุดชมวิวเขาขาดท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง หาดกะตะบริเวณข้างโรงแรมกะตะธานี ข้างศูนย์อปพร.หาดกะรน และที่ประปาเกาะราชาใหญ่
ในส่วนที่ อ.กะทู้ มีจำนวน 4 หอ ประกอบด้วย หอเตือนภัยข้างโรงแรมกมลาบีชฮานีลากูน่าภูเก็ต ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวหาดป่าตอง โรงแรมซีวิวหาดป่าตอง และโรงแรมซันเซ็ทหาดป่าตอง ที่อ.ถลาง มีจำนวน 4 หอ ประกอบด้วย โรงเรียนวัดมงคลวรารามตำบลสาคู หน้าชายหาดไม้ขาว บ้านอ่าวปอ และหาดบางเทา-เลพัง
นายประพันธ์ กล่าวต่ออีกว่า หอเตือนภัยทั้งหมด 19 หอ จะมีการทดสอบสัญญาณโดยการเปิดเพลงชาติในทุกวันพุธเวลา 08.00 น.เเละผลการทดสอบด้วยการเปิดเพลงชาติล่าสุดในช่วงเช้าวันที่ 3 ตุลาคม 2561 พบว่า มีเสียงดังทุกหอ เเต่มีบางหอดังประมาณ 5 นาทีก่อนจะเงียบไป เช่นที่ หน้าสภ.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เเละที่หอเตือนภัยหาดในหาน ต.ราไวย์ที่ได้รับเเจ้งว่า ช่วงเเรกดังชัดเจนก่อนค่อยๆ เบาเสียงลง ซึ่งจะต้องตรวจสอบหาสาเหตุเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขต่อไป
หอฯกมลาหมดแรง
เพลงชาติเบามาก
นายอภิชัย โมหะหมัด อดีตสาธารณสุขอำเภอกะทู้ ซึ่งเป็นชาวตำบลกมลา และเป็นผู้ที่ติดตามการทดสอบสัญญาณเตือนภัยในพื้นที่กมลา 1 ใน 19 หอของจังหวัดภูเก็ต มาโดยตลอด กล่าวว่า เสาสัญญาณเตือนภัยในพื้นที่ตำบลกมลานั้นได้ติดตั้งมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ในระยะแรกมีการทดสอบเปิดสัญญาณโดยใช้เพลงชาติไทยทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือน เวลา 08.00 น. ซึ่งไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และเสียงก็ได้ยินครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน แต่มาระยะหลังๆ ดังบ้างไม่ดังบ้าง และบางครั้งครั้งเสียงก็จะเงียบไปเลย หรือมีเพลงชาติเพียงท่อนเดียว และล่าสุดได้มีการปรับเปลี่ยนทดสอบสัญญาณเป็นทุกวันพุธ ซึ่งชาวบ้านก็ดีใจเพราะช่วงระยะเวลาสั้นเข้ามาอีก แต่เมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเพลงชาติดังไม่จบเพลง และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม เสียงเพลงชาติดังเบามาก
จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยต้องขอขอบคุณทางหน่วยงายที่รับผิดชอบที่ได้จัดให้มีการทดสอบเสียงสัญญาณทุกสัปดาห์ สร้างความอุ่นใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก แต่ทำอย่างไรที่จะให้มีเสียงดังตลอด เพราะขณะนี้ความดังของเสียงจาก 100% ดังแค่เพียง 10% หากตรวจสอบแล้วพบว่าเหตุที่เสียงดังขาดๆ หายๆ เพราะเสาติดตั้งใกล้ทะเลเกินไปก็สามารถที่จะขยับเสาเข้ามาในใจกลางหมู่บ้านก็ได้ เพราะเสียงสัญญาณหากไม่มีปัญหาสามารถส่งสัญญาณได้ไกล
อย่างน้อยที่สุดเมื่อมีการทดสอบทุกครั้งสัญญาณเสียงดังทุกครั้ง และเต็มขีดความสามารถ เพื่อความอุ่นใจของชาวบ้าน และนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในยามค่ำคืน เนื่องจากพื้นที่นี้เคยได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิเมื่อปี 2547 มีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเสียชีวิตไปประมาณ 30 คน เนื่องจากไม่สามารถหนีได้ทัน แต่ปัจจุบันเมื่อมีระบบการเตือนภัยเชื่อว่าทุกคนสามารถอพยพได้ทัน ” นายอภิชัย กล่าว
ที่พังงาผู้ว่าฯยอมรับ
หอเตือนภัยไม่พร้อม
นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เร่งแก้ไข พัฒนาระบบเตือนภัย รวมถึงหอหลบภัย ที่อาจยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง ทั้งนี้ ยอมรับว่าทั้งหอเตือนภัย และหอหลบภัย ยังเป็นปัญหา และไม่มีความพร้อมร้อยเปอร์เซนต์ทั้งหมด แต่ก็ยืนยันว่าได้มีการตรวจสอบทั่วทั้งจังหวัดทุกจุด ที่มีหอเตือนภัย และอาคารหลบภัย เพื่อให้พร้อมใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ โดยมีสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ
ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงากล่าวว่า หอเตือนภัย และอาคารหลบภัย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบป้องกันภัยที่มีอยู่ จังหวัดพังงาได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนด้วยเฉพาะผู้นำท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหา และปรับปรุงระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ทั้งหมดในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์ มิสเตอร์เตือนภัยที่มีประจำอยู่ทุกหมู่บ้าน ตำบล รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร ซึ่งจะคอยกระจายข่าวแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เพื่อลดความสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินประชาชนทุกพื้นที่ ในยามที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน นอกจากนี้ยังมีแผนสำรองที่จะอพยพประชาชนไปยังจุดที่ปลอดภัย อาทิ วัด โรงเรียน หรือสถานที่อื่นๆ ที่เหมาะสม
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของทีมข่าวพบว่าหอเตือนภัยทั้ง 19 แห่ง ยังใช้งานได้ ตรงตามที่ราษฎรในพื้นที่ และผู้นำท้องถิ่นตรวจสอบไว้ก่อนหน้านี้ สำหรับอาคารหลบภัยทั้ง 9 แห่งที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ที่เสี่ยงภัยคลื่นยักษ์สึนามินั้น ส่วนใหญ่โครงสร้างแข็งแรง แต่มีบางส่วนไม่พร้อมใช้งาน ทั้งตัวอาคารที่ชำรุด ระบบไฟฟ้าแสงสว่างได้รับความเสียหาย บางจุดกลายเป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่น ห้องน้ำห้องส้วมส่วนใหญ่ใช้การไม่ได้ ระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า ชำรุดเสียหาย แม้ว่าจะมีการปรับปรุงซ่อมบำรุงไปแล้วก็ตาม
หอเตือนภัยเกาะพีพี
ชำรุดใช้ไม่ได้2หอ
วันที่ 3 ตุลาคม 2561 ที่จังหวัดกระบี่ หลังจากได้มีการทดสอบสัญญาณเปิดเพลงชาติเช่นเดียวกับที่ภูเก็ต และพังงา นายไพศาล ขุนศรี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสัญญาณ เตือนภัยสึนามิ เมื่อเวลา 08 .00 น.ประจำวันพุธ แรกของเดือนตุลาคมนี้โดยจังหวัดกระบี่ดำเนินการทดสอบพร้อมกันจำนวน 32 หอ ในพื้นที่เสี่ยงชายทะเล 5 อำเภอ อำเภอเมืองจำนวน 14 หอ อำเภอเหนือคลอง6 หอ อำเภอเกาะลันตา 8 หอ อำเภอคลองท่อม 2 หอ อำเภออ่าวลึก 2 หอ
ผลของการทดสอบนายประเสริฐ วงษ์นา รองนายกอบต.อ่าวนาง อ.เมือง รายงานว่า บนเกาะพีพี มีจำนวน 4 หอ มีเพียงจำนวน 2 หอ ที่ติดตั้งอยู่ ที่เกาะพีพี หมู่ที่ 7 ตำบลอ่าวนาง บริเวณอ่าวต้นไทรและบริเวณโรงเรียนบ้านเกาะพีพี ไม่สามารถรับสัญญาณได้ จึงได้รายงานไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ตามโครงการพัฒนาระบบเตือนภัย ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเร่งด่วนแล้ว
ส่วนที่ เกาะห้อง เขตอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลชื่อดัง อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ หอเตือนภัยสึนามิ รับเสียงสัณญาณเตือนภัยจาก ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้เป็นอย่างดี
ตื่นแชร์ว่อนเน็ตข่าวปี 58
ภูเขาไฟระเบิดอินโดฯ
หลังจากโลกออนไลน์มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปะทุของภูเขาไฟบนเกาะบาร์เรน ในมหาสมุทรอินเดีย ใกล้กับจังหวัดระนอง ของประเทศไทย ที่เอาโพสต์ เอามาแชร์กันล่าสุด หลังแผ่นดินไหว และเกิดสึนามิ ที่อินโดนีเซียนั้น หลังการตรวจสอบปรากฏว่า เป็นข่าวเก่าที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22-28 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา โดยมีควันและขี้เถ้า พุ่งขึ้นมาสูง 3 กิโลเมตร ทำให้คนส่วนใหญ่กังวลว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดระเบิดรุนแรงในอนาคต และเกิดสึนามิมากระทบชายฝั่งไทยทางตะวันตกของไทย
ขณะนั้น 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2558 รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ หัวหน้าหน่วยวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหว และธรณีแปรสัณฐานผืนแผ่นดินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการติดตามภูเขาไฟบนเกาะบาร์เรน พบว่ามีการปะทุจริง แต่ไม่น่าจะเกิดสึนามิ เนื่องจากปัจจัยการเกิดจะต้องมีการปะทุของภูเขาไฟรุนแรง การเขย่ารุนแรง ซึ่งการระเบิดรุนแรงก็ไม่ได้เกิดสึนามิเสมอไป จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตูม และไม่อยากให้เป็นวัวหายล้อมคอก จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมตัว ดูแลเครื่องมือวัดกระแสน้ำให้ทำงานได้ปกติ
ทั้งนี้ หากเกิดระเบิดแผ่นดินไหวจริง ประเทศไทยจะมีเวลา 45 นาทีในการไหวตัว และอพยพคนไปในที่ปลอดภัย ซึ่งพื้นที่ที่จะเกิดสึนามิก็คือพื้นที่เดิมที่เคยเกิดสึนามิ เช่น พังงา กระบี่ ภูเก็ต ฯลฯ และไม่สามารถตอบได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลหรือไม่ แต่ต้องบอกว่าทั้งสองพื้นที่อยู่ในแผ่นเปลือกโลกเดียวกัน ดังนั้นมีโอกาสได้ทั้งนั้น
ส่วน รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวในเวลาเดียวกัน (พ.ค.58)ว่า เกาะบาร์เรนอยู่ในหมู่เกาะอันดามัน ห่างจากประเทศไทยประมาณ 700-800 กิโลเมตร ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 มีนักวิชาการให้ผลสรุปเกี่ยวกับการเกิดสึนามิ คือการเกิดสึนามิทางฝั่งทะเลอันดามันจะเกิดในลักษณะเดิม คือการที่แนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกเลื่อน โดยกลไกมีการขยับตัวของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Indian Plate) ที่มุดใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย (Eurasian Plate) แบบเดียวกับเมื่อครั้งที่แล้ว ทั้งนี้รอยต่อของเปลือกโลก 2 แผ่นนี้ยาว ความเสี่ยงจะเกิดสึนามิ คือการเกิดการไถลตัวของแผ่นเปลือกโลกบริเวณหมู่เกาะอันดามันจนถึงบริเวณฝั่งตะวันตกของพม่า แต่ไม่มีการพูดถึงภูเขาไฟระเบิด เพราะไม่ใช่แหล่งกำเนิดและทำให้เกิดสึนามิได้ยาก เพราะต้องเกิดการระเบิดรุนแรงมาก
สรุป 4 วัน การตรวจสอบอุปกรณ์เตือนภัย
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ปภ. สรุปการส่งเจ้าหน้าที่จำนวน 4 ทีม เพื่อตรวจสอบอุปกรณ์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย รวม 4 วัน ดำเนินการแล้ว 10 จังหวัด (ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ตรัง สตูล และภูเก็ต) สรุปดังนี้
1.หอเตือนภัย จำนวน 64 หอ
2.เครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม จำนวน 24 เครื่อง
3.สถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย จำนวน 30 เครื่อง
4.ชุดควบคุมประจำจังหวัด (เฉพาะจังหวัดอันดามัน) จำนวน 4 เครื่อง
5.หอกระจายข่าว จำนวน 36 หอ
6.ป้ายเตือนอพยพสึนามิ จำนวน 27 แห่ง
7.อาคาร/จุดอพยพสึนามิ จำนวน 4 แห่ง
สำหรับอุปกรณ์เตือนภัยมีความสำคัญต่อการแจ้งสัญญาณเตือนภัยไปสู่ประชาชน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตเป็นหลัก หากพบเห็นอุปกรณ์เตือนภัยชำรุด เสียหาย หรือไม่สมบูรณ์ โปรดแจ้ง ปภ.ทราบโดยด่วนต่อไป “ภัยพิบัติ รู้ทัน รับมือได้” สายด่วนนิรภัย 1784 สายด่วนเตือนภัย 192 Facebook:ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ Website:http://www.disaster.go.th/ (หน่วยงานภายใน: ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ)