เบรกแรงงานเถื่อนกลับบ้าน เปิดโอกาสทองให้ขออนุญาต
จัดหางานจังหวัดภูเก็ตขอให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารใดใด หรือ “แรงงานเถื่อน” ที่ยังต้องการจะทำงานต่อกับนายจ้างเดิมในจังหวัดภูเก็ตให้ชะลอการกลับประเทศไว้ก่อนพร้อมกับให้นายจ้างไปแสดงตัว และขออนุญาตที่จัดหางานฯได้ สงสัยสอบถามได้ ล่าสุด สำนักกฎหมายวิชาการศาลได้ตีความ “พ.ร.ก.ต่างด้าว60-คำสั่งคสช.”โละโทษ4มาตราก่อนมกราคมปี 61
นายขัตติยะ แพนเดช จัดหางานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงแรงงานลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงานและการขออนุญาตให้ทำงานตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ. 2560 ให้ดำเนินการได้โดยสะดวกและมีประสิทธิภาพดังนี้
กรณีลูกจ้างต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงานแต่ผิดนายจ้าง นายจ้างสามารถพาลูกจ้างไปเปลี่ยนนายจ้างได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต, กรณีลูกจ้างต่างด้าวผ่านการตรวจสัญชาติและได้รับหนังสือเดินทางหรือหนังสือรับรองตัวบุคคลและตีวีซ่าแล้วแต่ไม่ได้ขอรับอนุญาตทำงานภายใน 15 วัน นายจ้างสามารถพาลูกจ้างไปขอใบอนุญาตทำงานได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต และกรณีลูกจ้างต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานและไม่มีเอกสารใดใดสามารถดำเนินการได้ดังนี้ นายจ้างยื่นคำขอจ้างลูกจ้างต่างด้าว ได้ที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวใกล้บ้าน โดยไม่ต้องพาลูกจ้างไป ดำเนินการยื่นคำขอจ้างลูกจ้างต่างด้าวได้ระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคมถึง 7 สิงหาคม 2560 โดยการยื่นคำขอต้องแนบรูปถ่ายของลูกจ้างขนาด 2 นิ้วคนละ 3 รูป จากนั้นพาลูกจ้างไปพิสูจน์ความเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างตามวันที่ระบุในเอกสารที่เจ้าหน้าที่ออกให้ เพื่อพิสูจน์ได้ว่าเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างกันจริง เจ้าหน้าที่จะออกเอกสารให้ลูกจ้างเดินทางไปขอหนังสือเดินทางหรือเอกสารรับรองตัวบุคคลจากประเทศต้นทาง ทั้งนี้เมื่อลูกจ้างได้เอกสารจากประเทศต้นทางแล้วจะเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตทำงานคือต้องไปตีวีซ่าตรวจโรคและยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานตามขั้นตอน
นายขัตติยะ กล่าวอีกว่า ดังนั้นแรงงาน “เถื่อน” คือไม่มีเอกสารใดเลย วีซ่าหมดอายุ บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหมดอายุ ให้ชะลอการเดินทางกลับประเทศไว้ก่อน เนื่องจากรัฐบาลจะเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 พิสูจน์ความสัมพันธ์ตัวบุคคล และออกหนังสือรับรองให้กลับประเทศไปทำหนังสือรับรองสถานะ (CI) หนังสือเดินทางชั่วคราว(Passport) แล้วประทับตรวจลงตราและขอใบอนุญาตทำงานสามารถทำงานกับนายจ้างเดินต่อไปได้
ทั้งนี้นายจ้างและคนต่างด้าวติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต หมายเลขโทรศัพท์ 0-7621-9660 ถึง 1 ต่อ 17 หรือสอบถามสายด่วน 1694
อนึ่ง มีรายงานจาก สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม แจ้งว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการวิชาการสำนักงานศาลยุติธรรมมีการประชุมเกี่ยวกับข้อสังเกตการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 33/2560 เรื่องมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ดังนี้
1.พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับวันที่ 23 มิถุนายน 2560 โดยมาตรา 3 กำหนดให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551
2.ความผิดเดิมตาม พ.ร.บ.มาตรา 9, 51 ฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตรงกับ พ.ร.ก.มาตรา 8, 101, ความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรา 27, 54 ฐานห้ามรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่กำหนด ตรงกับ พ.ร.ก.มาตรา 9, 102, ความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรา 9, 52 ฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้มีหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียน ตรงกับ พ.ร.ก.มาตรา 59, 119 และความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรา 27, 54 ฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน ตรงกับ พ.ร.ก.มาตรา 72, 122
3.การที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 33/2560 ข้อ 1 ให้มาตรา 101, 102, 119 และ 122 ของ พ.ร.ก.มีผลใช้บังคับวันที่ 1 มกราคม 2561 โดยข้อ 6 ให้คำสั่ง คสช.นี้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ตรงกับวันที่ พ.ร.ก.มีผลใช้บังคับนั้น ส่งผลให้เฉพาะมาตรา 101, 102, 119 และ 122 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษยังไม่มีผลใช้บังคับ จึงเกิดปัญหาทางปฏิบัติว่า การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อน พ.ร.ก.มีผลใช้บังคับในวันที่ 23 มิถุนายน 2560 และความผิดที่เกิดขึ้นหลัง พ.ร.ก.มีผลใช้บังคับในวันที่ 23 มิถุนายน-31 ธันวาคม 2560 จะมีผลทางกฎหมายอย่างไรนั้น
คณะกรรมการวิชาการสำนักงานศาลยุติธรรมได้ประชุมปรึกษาหารือแล้ว เสียงข้างมากมีความเห็นว่า การที่คำสั่ง คสช.ที่ 33/2560 บัญญัติให้มาตรา 101, 102, 119 และ 122 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไปนั้น มีผลว่าการกระทำความผิดที่กระทำลงในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ จึงไม่เป็นความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง
ส่วนการกระทำความผิดที่เกิดก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่ถูกยกเลิกไปโดย พ.ร.ก.มาตรา 3 แม้ พ.ร.ก.จะยังกำหนดให้เป็นความผิด แต่ไม่มีโทษ จึงต้องถือว่า พ.ร.ก.เป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง กำหนดให้การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ดังนั้นผู้กระทำความผิดก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดไป ไม่ว่าศาลจะพิพากษาคดีนี้เมื่อใดก็ตาม และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าได้รับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงด้วย
ส่วนแนวทางปฏิบัติตามความเห็นดังกล่าวมีข้อพิจารณา ดังนี้ 1. ความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560-31 ธันวาคม 2560
(1) กรณีที่มีการยื่นคำร้องขอหมายจับในความผิดข้อหาดังกล่าว เนื่องจากการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด จึงไม่มีเหตุออกหมายจับ
(2) กรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา จึงไม่อาจพิจารณาให้ฝากขังต่อไปได้ ส่วนผู้ต้องหาที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังไปก่อนแล้วจึงต้องพิจารณาออกหมายปล่อยผู้ต้องหา หรือมีคำสั่งว่าการปล่อยชั่วคราวสิ้นสุดลง แล้วแต่กรณี โดยถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ เพราะเหตุมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำความผิด ยกเลิกความผิด
(3) กรณีที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลย่อมถือเป็นเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 หากคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย และ
(4) คำสั่ง คสช.ที่ 33/2560 มีผลเป็นการยกเลิกความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เฉพาะมาตรา 101, 102, 119 และ 122 เท่านั้น ข้อหาความผิดอื่นตาม พ.ร.ก.นี้ หรือตามกฎหมายอื่น เช่น ความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็นต้น ไม่ได้รับผลกระทบตามคำสั่ง คสช.ดังกล่าว เเละความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ย่อมต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560-31 ธันวาคม 2560 ดังกล่าวข้างต้น และ
3.ความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ถือว่ามีความผิดและต้องรับโทษตาม พ.ร.ก.