เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์มองโกเลีย สานสัมพันธ์ไทย-มองโกเลีย ยาวนานสถาปนาด้านการทูตมากว่า 49 ปี ลุยกระตุ้นท่องเที่ยวภูเก็ต
เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์มองโกเลีย สานสัมพันธ์ไทย-มองโกเลีย
ยาวนานสถาปนาด้านการทูตมากว่า 49 ปี ลุยกระตุ้นท่องเที่ยวภูเก็ต
——————————————————————————
ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและกงสุลกิตติมศักดิ์ประเทศมองโกเลีย ร่วมเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่ภูเก็ต หลังได้รับโปรดเกล้าเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ ลุยงานกระตุ้นท่องเที่ยวทันที เผยสัมพันธ์ไทย-มองโกเลีย ยาวนาน สถาปนาด้านการทูตมากว่า 49 ปีแล้ว ปักหมุดดึงนักเที่ยวเข้าภูเก็ต พร้อมส่งเสริมคนไทยไปชมธรรมชาติมองโกเลีย
วันที่ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 น. นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล กงสุลกิตติมศักดิ์ประเทศมองโกเลีย ได้จัดพิธีเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์อย่างเป็นทางการ ณ ชั้น 1 โรงแรมเดอะกิ๊ก ป่าตอง ภูเก็ต ภายหลังจากได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม อนุมัติบัตรแต่งตั้งเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์มองโกเลีย ประจำจังหวัดภูเก็ต โดยมีเขตครอบคลุมจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2566 โดยมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองซึ่งได้รับเกียรติจาก นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สื่อมวลชนเข้าร่วม ที่ห้องแกรนด์ เอ็ม บอลรูม ชั้น 1 โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ภูเก็ต ป่าตอง
นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล กงสุลกิตติมศักดิ์ประเทศมองโกเลีย ประจำจังหวัดภูเก็ตและพังงา กล่าวว่า ประเทศไทยและมองโกเลีย มีความสัมพันธ์อันดีและเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกันมายาวนาน โดยมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมาเป็นเวลากว่า 49 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือในด้านต่าง ๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการค้า การลงทุน และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม
ทั้งในระดับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน “การจัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ ขึ้นในจังหวัดภูเก็ตครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศขึ้นอีกระดับหนึ่ง ถือเป็นโอกาสอันดีในการส่งเสริมและสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาในด้านต่าง ๆ ระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ”
นายณัฐพงศ์ กล่าวต่อว่า ประเทศมองโกเลียเป็นประเทศที่สวยงามน่าหลงใหล อีกทั้งยังมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และน่าสนใจ ตนในฐานะกงสุลกิตติมศักดิ์มองโกเลีย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศให้มากขึ้น ทั้งการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวมองโกเลีย เพื่อสัมผัสวัฒนธรรมและความสวยงามของธรรมชาติอันแปลกใหม่ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวมองโกเลีย ที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตและพังงา ซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ รัฐบาลมองโกเลียมีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง โดยได้ประกาศให้ปี 2023 และปี 2024 เป็นปีแห่งการเยือนมองโกเลีย (Years To Visit Mongolia) โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมองโกเลียจาก 250,000 คนเป็น 1,000,000 คนภายในปี 2024 สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 15% ต่อจีดีพี ภายใต้แคมเปญ “ปีแห่งการเยือนมองโกเลีย” จะมีพลเมืองจาก 34 ประเทศได้รับการยกเว้นวีซ่า ทำให้มีประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่าเข้ามองโกเลียทั้งสิ้น 61 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวมองโกเลีย
สำหรับข้อมูลด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยและมองโกเลีย พบว่า มองโกเลียมีความชื่นชอบและเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มมากขึ้น โดย ณ ปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยไปมองโกเลีย ประมาณ 6,000 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวมองโกเลียมาไทย ประมาณ 16,000 คน แต่สถานการณ์สะดุดลงเนื่องจากโควิด-19 โดยปี 2565 ตัวเลขเริ่มปรับตัวดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวไทยไปมองโกเลีย 1,118 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวมองโกเลียมาไทย 5,245 คน
ส่วนด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับมองโกเลีย มีโอกาสสูงในการร่วมกันพัฒนาความร่วมมือ โดยมองโกเลียมีจุดเด่นด้านเกษตร ปศุสัตว์ และแร่ธาตุต่าง ๆ ขณะที่ไทยมีความชำนาญด้านเทคโนโลยี มีทักษะในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างมองโกเลียและไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีนักลงทุนจากไทยสนใจเข้าไปลงทุนด้านอุตสาหกรรมเหมือง อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนในมองโกเลีย ขณะเดียวกัน นักลงทุนจากมองโกเลีย ได้แก่ APU ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชั้นนำของมองโกเลีย ได้เริ่มเข้าทำตลาดวอดก้าระดับพรีเมียมแบรนด์ Chinggis Khaan ในประเทศไทย
ทั้งนี้ ภายใต้แผนความร่วมมือระหว่างมองโกเลียและไทย ในระยะ 5 ปี (ปี2022-2027) ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าขายระหว่างมองโกเลียกับไทย รวม 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2027 จากปัจจุบันมีการลงทุนสะสมภาคเอกชนไทยในมองโกเลียประมาณ 1,035 ล้านเหรียญสหรัฐ