เปิดเงื่อนไข ลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ 2561 ใครบ้างมีสิทธิ์ร่วมโครงการ
ได้รับความสนใจอย่างมากกับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ลงทะเบียนคนจน” ที่แม้จะเปิดให้ร่วมโครงการลงทะเบียนคนจนถึง 2 รอบแล้ว ในปี 2559 และปี 2560 แต่ก็ยังพบผู้มีรายได้น้อยหลายคนที่พลาดโอกาสได้รับบัตรคนจน ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเห็นชอบให้เปิดลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมอีก 1 ล้านราย
กระปุกดอทคอม จึงรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของโครงการลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ มาฝากกัน จะได้ไม่พลาดโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้อีก ส่วนจะมีรายละเอียดสำคัญอะไรบ้างนั้น มาดูกัน
ลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ ใครเข้าร่วมได้บ้าง ?
ผู้ที่มีสิทธิ์ร่วมโครงการลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ จะต้องเป็นผู้มีรายได้น้อย ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนร่วมโครงการในครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนคนจนในรอบที่แล้วได้
ลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ?
สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ จะยังคงเหมือนกับโครงการบัตรคนจน 2560 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
2. เป็นผู้ว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท ในปี 2559 (รายได้ หมายถึง รายได้ของบุคคลที่ลงทะเบียนเท่านั้น แต่หากประกอบอาชีพร่วมกันทั้งครัวเรือน เช่น ทำการเกษตรร่วมกัน ทำให้ไม่สามารถแยกรายได้ออกมาเป็นรายบุคคลได้ ให้ถือว่ารายได้ของครัวเรือน เป็นรายได้ของหัวหน้าครอบครัวเพียงคนเดียว)
3. ไม่มีทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝากธนาคาร, สลากออมสิน, สลาก ธ.ก.ส., พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ หรือถ้ามีทรัพย์สินทางการเงินดังกล่าว จะต้องมีจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในปี 2559
4. ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย หรือถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
4.1) ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)
– กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว บ้านหรือทาวน์เฮ้าส์ต้องมีพื้นที่ ไม่เกิน 25 ตารางวา, ห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
– กรณีเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดิน เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่, เพื่อการอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่
4.2) ที่ดิน
– กรณีใช้ประโยชน์จากที่ดิน เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่, เพื่อการอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่
ลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ ต้องเปิดเผยข้อมูลอะไรบ้าง ?
ผู้เข้าร่วมโครงการต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่ เช่น
– รายได้ (เงินเดือน/เงินฝากธนาคาร/สลากออมทรัพย์/พันธบัตร/หุ้น ฯลฯ)
– การถือครองทรัพย์สิน (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง/รถยนต์/จักรยานยนต์ ฯลฯ)
– หนี้สินคงค้างทั้งหมด (เงินกู้ในระบบ/เงินกู้นอกระบบ/หนี้บัตรเครดิต/หนี้เพื่อการศึกษา/หนี้เพื่อการเกษตรหรือประกอบธุรกิจ/หนี้เพื่อการอุปโภค-บริโภค/หนี้เพื่อซื้อบ้านและที่ดิน ฯลฯ)
นอกจากนี้ ยังต้องยินยอมให้รัฐนำข้อมูลในบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมภาพถ่ายใบหน้าไปใช้ สำหรับการจัดทำสวัสดิการของรัฐต่อไป โดยข้อมูลต่าง ๆ จะต้องนำมากรอกในแบบฟอร์มลงทะเบียน
ลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ ใช้เอกสารหลักฐานอะไรบ้าง ?
– บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ลงทะเบียน
– สำเนาทะเบียนบ้าน
– สำเนาหน้าบัญชีเงินฝากธนาคารผู้ลงทะเบียน
– สำเนาหน้าบัญชีเงินฝากธนาคารผู้ดูแล (กรณีผู้สูงอายุ, ผู้พิการ, ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้)
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับอุปการะ (ถ้ามี)
– สำเนาเอกสารการลงทะเบียนว่าเป็นเกษตกร (ถ้ามี)
– สำเนาบัตรประจำตัวผู้พิการ (ถ้ามี)
– ใบรับรองแพทย์ กรณีเป็นผู้ป่วย
เคยลงทะเบียนคนจนไปแล้วแต่ไม่ผ่านคุณสมบัติ จะมาลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ ได้หรือไม่ ?
การเปิดลงทะเบียนคนจนครั้งนี้ เป็นรอบพิเศษที่ให้โอกาสเฉพาะผู้ที่พลาดลงทะเบียนในรอบที่ผ่านมาเท่านั้น ดังนั้น คนที่ไม่ผ่านคุณสมบัติได้รับบัตรคนจนในครั้งก่อน ๆ จะไม่สามารถมาลงทะเบียนเพิ่มเติมในครั้งนี้ได้
ลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ ได้เมื่อไหร่ อย่างไร
ผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ ให้ติดตามข่าวสารการลงทะเบียนไว้ดี ๆ เพราะการลงทะเบียนรอบนี้ จะมีเจ้าหน้าที่จากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เข้าไปรับลงทะเบียนกันถึงหมู่บ้าน ชุมชนที่อาศัยอยู่เลย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่มีรายชื่อตกหล่นในครั้งที่แล้วอย่างเต็มที่ โดยการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2561
จะได้รับบัตรคนจน รอบพิเศษ เมื่อไหร่
สำหรับคนที่ผ่านคุณสมบัติลงทะเบียนคนจน รอบใหม่นี้ คาดว่าจะได้รับบัตรคนจน หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณต้นเดือนตุลาคม 2561 ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ได้ทันทีที่ได้รับบัตร
บัตรคนจน รอบพิเศษ มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
การช่วยเหลือจะยังคงเหมือนกับบัตรคนจน 2560 คือ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ และช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทาง
1. ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ
สำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตรจากร้านธงฟ้าประชารัฐ โดยกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินจำนวน 300 บาทต่อเดือน ส่วนกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100,000 บาท จะได้รับเงินจำนวน 200 บาทต่อเดือน และทั้ง 2 กลุ่ม จะได้วงเงินส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนดอีกคนละ 45 บาทต่อ 3 เดือน
อย่างไรก็ดี การลงทะเบียนรอบนี้ เจ้าหน้าไทยนิยม ยั่งยืน จะทำการสอบถามเลยว่า ผู้มีรายได้น้อยต้องการที่เข้าร่วมการฝึกอาชีพหรือไม่ และหากเข้าร่วมก็จะได้รับวงเงินเพิ่มเติม ดังนี้
– รายได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี ได้วงเงินเพิ่มเป็น 500 บาทต่อเดือน
– รายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ได้วงเงินเพิ่มเป็น 300 บาทต่อเดือน
2. ช่วยลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง โดยเงินช่วยเหลือที่ได้รับ จะแบ่งออกเป็น
– ค่าโดยสารรถเมล์ รถไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อเดือน
– ค่าโดยสารรถ บขส. วงเงินไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน
– ค่าโดยสารรถไฟ วงเงินไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน
ใครที่พลาดโอกาสลงทะเบียนคนจนในรอบที่ผ่านมา และเห็นว่าตัวเองมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนด ก็อย่าลืมติดตามข่าวสารให้ดี ๆ แล้วรอไปลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษนี้ กับเจ้าหน้าที่โครงการไทยนิยม ยั่งยืน กันได้เลย