เลือกตั้งนายกเทศมนตรีท้องถิ่น พลิกโผ เก้าอี้นายกฯ…หลุดถูกโค่นหลายเขต ว่าที่นายกฯหน้าใหม่เดินหน้านั่งแท่นแทนคนเก่า
เลือกตั้งนายกเทศมนตรีท้องถิ่น
พลิกโผ เก้าอี้นายกฯ…หลุดถูกโค่นหลายเขต
ว่าที่นายกฯหน้าใหม่เดินหน้านั่งแท่นแทนคนเก่า
จากการประกาศผลการนับคะแนน เลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล 12 เขตเลือกตั้ง ที่ได้มีการนับคะแนนและประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ โดยข้อมูล ณ. วันที่ 28 มีนาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 23.00 น. ซึ่งจะมีท่านใดที่ได้ไปต่อและสามารถเข้ามานั่งครองเก้าอี้นายกฯเอาไว้ได้แบบเหนียวแน่น หรือจะมีท่านใดที่ถูกโค่นล้มหลุดพ้นจากเก้าอี้นายกบ้าง งานนี้บอกได้คำเดียวว่าเสียการทรงตัวกันเลยทีเดียวกับการเลือกตั้งในครั้งนี้
มาเริ่มกันที่เขตแรกในตัวเมืองภูเก็ตกับพื้นที่เขต “เทศบาลนครภูเก็ต” ซึ่งในพื้นที่เขตนี้จะเห็นได้ว่ามีผู้สมัครหน้าเก่าแชมป์ 2 สมัย นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา “กลุ่มคนหนุ่ม” เบอร์ 1 และผู้ท้าชิงเก้าอี้นายกหน้าใหม่ สจ.สาโรจน์ อังคณาพิลาส “ทีมรักภูเก็ต” เบอร์ 2 ที่กระโดดข้ามลงชิงเก้าอี้นายกเทศมนตรีนครภูเก็ตครั้งแรก ซึ่งทั้ง 2 ทีม บอกได้คำเดียวว่าเป็นการลงพื้นที่หาเสียงกันแบบชนิดฟาดฟันทั้งนโยบายและกลยุทธ์ต่างๆ ที่งัดมาชนกันแบบดุเดือดกันทีเดียว แต่งานนี้ผลปรากฎว่าแชมป์เก่า 2 สมัย นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา “กลุ่มคนหนุ่ม” เบอร์ 1 ได้พ่ายแพ้ คะแนน 9,690 ให้กับทางผู้สมัครหมายเลข 2 สจ.สาโรจน์ อังคณาพิลาส “ทีมรักภูเก็ต” ไปด้วยคะแนน 12,221 งานนี้เรียกว่าโค่นควีนย่านเมืองเก่าไปได้เกินคาดหมาย จึงทำให้ สจ.สาโรจน์ อังคณาพิลาส ได้มีโอกาสเข้าไปนั่งเก้าอี้ว่าที่นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต คนที่ 33 ส่วนนโยบายที่ได้ให้ไว้กับพี่น้องชาวภูเก็ตนั้น จะทำได้จริงหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไป
มาต่อกันที่ “เทศบาลตำบลฉลอง” พื้นที่นี้ต้องถือว่าเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ของการหาเสียงที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ทั้งผู้สมัครหน้าเก่า หน้าใหม่ การแข่งขันดุเดือดทีเดียว ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงจริงๆที่เปิดมิติใหม่ให้กับ “เทศบาลตำบลฉลอง” ให้มีว่าที่นายกหญิงมานั่งดำรงตำแหน่งแทนแชมป์เก่า 2 สมัย อดีตนายกอย่าง นายสำราญ จินดาพล “กลุ่มฉลองก้าวใหม่” เบอร์ 1 ที่เคยนั่งเก้าอี้ครองตำแหน่งนายกมานาน 10 ปี งานนี้สามารถเบียดชนะมาได้ โดยสรุปผลจากการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ นางธนพร องค์สันติภาพ เบอร์ 3 “กลุ่มร่วมพัฒนาฉลอง” ชนะขาดลอยไปด้วย 6,203 คะแนน คว้าเก้าอี้ว่าที่นายกเทศมนตรีตำบลฉลองคนใหม่ไปนั่งอย่างลอยลำ ส่วน นายสำราญ จินดาพล ได้รับคะแนนสนับสนุนเพียงแค่ 5,099 คะแนน งานนี้พลิกโผล้มช้างเจ้าถิ่นไปแบบไม่ทันตั้งตัวเลยทีเดียว
ส่วนในพื้นที่เขต “เทศบาลเมืองป่าตอง” การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ดุเดือดใช่ย่อยเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าจับตามอง เพราะในเขตพื้นที่นี้มีผู้ลงสมัครชิงเก้าอี้ถึง 3 กลุ่ม อาทิ แชมป์เก่าอดีตนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง “จี๋หยอย” น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ “ทีมป่าตองฟ้าใหม่” เบอร์ 3 ส่วน นายเฉลิมศักดิ์ มณีศรี “ทีมป่าตองพลังใหม่” เบอร์ 1 และ นายปกริช กี่สิ้น ทีมรักป่าตอง เบอร์ 2 ซึ่งพื้นที่นี้ก็ทำให้อดีตนายก น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ สอบไม่ผ่านเช่นกัน ได้รับคะแนนสนับสนุนเพียง 2,811 คะแนน งานนี้พลัดตกเก้าอี้ไปแบบเฉือดเฉือนทำให้ นายเฉลิมศักดิ์ มณีศรี มีโอกาสเข้ามานั่งเก้าอี้ว่าที่นายกเทศมนตรีเมืองป่าตองไป ด้วยคะแนน 2,924 บอกได้คำเดียวชนะแบบฉิวเฉียด
กลับมาที่เขต “เทศบาลตำบลรัษฎา” พื้นที่นี้ผู้สมัครว่าที่นายกเทศบาลตำบลรัษฎาที่จะเข้ามาคงจะต้องทำงานหนักหน่อยเพราะเป็นพื้นที่ที่ต้องแก้ปัญหา เร่งด่วนเรื่องหลักๆ อาทิ ขยะมูลฝอย และ ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ชาวบ้านประสบปัญหาเรื้อรังมายาวนานแล้ว แถมงานนี้นายกคนเก่าขอโบมืออำลาไม่ขอลงสนามต่อเนื่องจากประสบปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครหน้าใหม่พร้อมลงสนามแข่งชิงชัยเก้าอี้นายกถึง 2 ทีม ซึ่งผู้สมัครทีมแรกนำโดยอดีตที่ปรึกษานายกคนเก่าที่ขออาสาเข้ามารับใช้ประชาชนเข้ามาช่วยชาวบ้านแบบเต็มตัวมาในนาม “ทีมรัษฎากล้าเปลี่ยน” นายนครินทร์ ยอเเสงรัตน์ เบอร์ 1 และอีกทีมนำโดย นายสมคิด สุภาพ “ทีมรัษฎาหยัดได้” เบอร์ 2 ผลสรุปการนับคะแนนจากการเลือกตั้งอย่างไม่ทางการ นายนครินทร์ ยอเเสงรัตน์ หมายเลข 1 ก็สามารถคว้าตำแหน่งว่าที่นายกเทศบาลตำบลรัษฎาไปครอบครองได้ งานนี้ชนะขาดลอยด้วยเสียงสนับสนุน 12,401 คะแนน ส่วน นายสมคิด สุภาพ หมายเลข 2 ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงแค่ 5,325 คะแนน ทำให้พ่ายแพ้คะแนนทิ้งห่างเกินกว่าครึ่งกันทีเดียว
ในส่วนพื้นที่ “เทศบาลตำบลวิชิต” เขตนี้มีแต่อดีตนายกคนเก่าที่อาสาลงสนามแข่งต่อเนื่องอีกปี นำทีมโดย นายกรีฑา โชติวิชญ์พิพัฒน์ เบอร์ 1 “กลุ่มพัฒนาวิชิต” เขตนี้มีผู้สมัครเพียงแค่ทีมเดียวเท่านั้นไร้วี่แววคู่แข่ง จึงทำให้ นายกรีฑา โชติวิชญ์พิพัฒน์ ยังคงรักษาเก้าอี้นายกฯเอาไว้ได้ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 3 ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 12,827 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 71.17% จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 38,793 คน และจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 18,023 คน คิดเป็นร้อยละ 46.46%
มาต่อกันที่พื้นที่เขต “เทศบาลตำบลราไวย์” พื้นที่นี้ก็เช่นเดียวกัน นายอรุณ โสฬส เบอร์ 1 “กลุ่มพัฒนาราไวย์” อดีตนายกคนเก่าลงสนามชิงชัยแต่ไร้คู่แข่งขัน งานนี้ยังคงรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้ และยังได้นั่งเก้าอี้ว่าที่นายกเทศบาลตำบลราไวย์ต่ออีกสมัย จากคะแนนเสียงสนับสนุน 5,581 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 76.18% จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 12,646 คน และจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 7,327 คน คิดเป็นร้อยละ 57.94%
ส่วน “เทศบาลตำบลกะรน” ร.อ.เจด็จ วิชรศรณ์ เบอร์ 1 “ทีมกะตะ-กะรนคิดใหม่” งานนี้ทำให้เก้าอี้ของอดีตนายกของคนเก่าหลุดเช่นกัน ซึ่งได้รับคะแนนเสียงสนับสนุน 2,312 คะแนน ตามติดกันที่ “เทศบาลเมืองกะทู้” พื้นที่นี้ นายชัยอนันท์ สุทธิกุล เบอร์ 1 “ทีมรักษ์กะทู้” ที่ยังคงรักษาเก้าอี้นายกเอาไว้ได้ต่ออีกสมัย ด้วยผลการนับคะแนนสนับสนุน 6,319 คะแนน และอีกพื้นที่ในเขต “เทศบาลตำบลเชิงทะเล” นายสุนิรันดร์ รชตะพฤกษ์เบอร์ 1 “กลุ่มก้าวใหม่เชิงทะเล” ก็ยังคงรักษาเก้าอี้นายกไว้ได้อย่างเหนียวแน่นเช่นเดียวกัน ด้วยคะแนน 2,001 คะแนน สำหรับในเขต “เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี” นายประสงค์ ไตรรัตน์ เบอร์ 1 “กลุ่มพลังใหม่” ก็ได้คว้าตำแหน่งเก้าอี้นายกไปเช่นเดียวกัน จากผลสรุปการนับคะแนนให้การสนับสนุน 2,867 เสียง ส่วนเขตพื้นที่ “เทศบาลตำบลป่าคลอก” นำทีมโดย นายปัณยา สำเภารัตน์เบอร์ 2 “ป่าคลอกก้าวหน้า” ที่เข้ามานั่งเก้าอี้ว่าที่นายกเทศบาลตำบลป่าคลอก ด้วยเสียงสนับสนุน 4,472 คะแนน ปิดท้ายกันที่พื้นที่เขต “เทศบาลตำบลศรีสุนทร” เป็นพื้นที่ที่ไร้คู่แข่ง นำทีมโดย นายเฉลิมพล เกิดทรัพย์ เบอร์ 1 “ทีมศรีสุนทรเป็นหนึ่ง” ที่เข้าวินไปนั่งเก้าอี้ว่าที่นายกเทศบาลตำบลศรีสุนทร ไปได้แบบลอยลำ จากคะแนนเสียงสนับสนุน 8,410 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 80.40% จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 19,209 คน และจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 10,460 คน คิดเป็นร้อยละ 54.45%
เทศบาลตำบลกะรน
เทศบาลตำบลกะทู้
เทศบาลตำบลเชิงทะเล
เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี
เทศบาลตำบลป่าคลอก
เทศบาลตำบลศรีสุนทร
ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะดำเนินการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 30 วัน คือวันที่ 27 เมษายน 2564 ส่วนกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไป โดยสุจริตและเที่ยงธรรม กกต.จะดำเนินการสืบสวนไต่สวนและสามารถสั่งการเลือกตั้งใหม่ หรือดำเนินการอื่นที่จำเป็น แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วัน คือวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ต่อไป