“ไม้ขาว”ต้านโรงชำแหละหมู “ซีพีเอฟ”ยกธงขาวยอมถอย
ชาวบ้านด่านหยิก –ด่านหยุดพื้นที่ “ไม้ขาว” ฮือต้านบริษัทยักษ์ใหญ่ ซีพีเอฟ สร้างโรงงานชำแหละหมู อ้างส่งผลกระทบชาวบ้าน และ การท่องเที่ยว เผยการทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมา มุบมิบทำกัน ชาวบ้านไม่รู้ เลยต้องประชุมคุยกันใหม่ สุดท้ายยังยืนยันไม่ยอมเด็ดขาด จนบริษัทต้องพับโครงการ เดินแผนใหม่ยื่นต่อรองเป็นสร้างห้องเย็นแทน ยื่นขออนุญาตกันใหม่
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่ หมู่ 3 บ้านด่านหยุด และหมู่ 7 บ้านด่านหยิด ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างโรงงาน ชำแหละชิ้นส่วนสุกรในพื้นที่ หลังจากที่บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน ปิดประกาศจะดำเนินการก่อสร้างโรงงาน โดยขึ้นป้ายแสดงการคัดค้านหลายจุดด้วยกัน อ้างว่ามีผลกระทบต่อชาวบ้าน และไม้ขาวเป็นพื้นที่ ที่ไม่สามารถสร้างโรงงานได้ ทั้งเป็นแล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วย นอกจากนั้นยังมีการแชร์ภาพ และข้อความผ่านทั้งทางเฟชบุ๊กและกลุ่มไลน์ จนวิพากษ์วิจารณ์ กันอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามนายประวัติ พิมานพรหม หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้านกล่าวว่า กรณีทางบริษัทซีพีเอฟจะเข้ามาก่อสร้างโรงงานชำแหละชื้นส่วนสุกรนั้น ชาวบ้านบางส่วนไม่เห็นได้ และทราบว่าทางบริษัทได้ยื่นขออนุญาตเปิดโรงงานจากอุตสาหกรรมจังหวัด และขออนุญาตก่อสร้างจาก อบต.ไม้ขาวแล้ว แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริง และที่ว่ามีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นไปแล้ว แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ทราบ
“จุดที่จะก่อสร้างโรงงานอยู่ในชุมชน มีผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ ประกอบกับพื้นที่ ไม้ขาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมทั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียว ทางชาวบ้านจึงออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้”
ต่อมา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างโรงงานดังกล่าวต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ตไว้แล้ว ว่าชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการสร้างโรงงานในพื้นที่ไม้ขาวโดยเด็ดขาด
ขณะที่เจ้าหน้าที่จากบริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) ชี้แจงกรณีเรื่องดังกล่าวว่า ตามที่บริษัทจะทำการก่อสร้างโรงงานตัดแต่ง และแปรรูปสุกรภาคใต้ในพื้นที่ ม. 3 ต.ไม้ขาว ซึ่งเดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นฟาร์มเลี้ยงหมู ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบต่อชาวบ้านทางบริษัทจึงจะนำพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงสุกรเดิม มาทำเป็นโรงงานชำแหละชิ้นส่วนแทน และเป็นโรงงานปิด
โดยพื้นที่ฟาร์มเดิมมีประมาณ 40 กว่าไร่ แต่ทางบริษัทได้ขออนุญาตทำโรงงานประมาณ 10 ไร่ สำหรับตัวอาคารโรงงานที่จะมีการก่อสร้างจริง จะใช้พื้นที่ประมาณ 1,300 ตารางเมตร และเป็นโรงงานปิด มีระบบบำบัดน้ำเสียภายในโรงงาน และมีมาตรฐานGMP
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทจะเข้าพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจและชี้แจงกับประชาชนอีกครั้ง ในวันที่ 28 มิถุนายน ระหว่างเวลา 10 .00 -12 .00 น. ที่ศาลาประชาคม หมู่ที่ 3 ต.ไม้ขาว และขอยืนยันว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทได้ดำเนินการตามกฎหมายกำหนดทุกขั้นตอน
ต่อมาเมื่อบ่ายวันที่ 28 มิถุนายน 2561 เวลา 14.00 น. ที่ศาลาประชาคมหมู่ที่ 3 ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้จัดประชุมชี้แจงและทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ ต.ไม้ขาว กรณีที่ทางบริษัทฯ จะทำการก่อสร้างโรงงานตัดแต่ง และแปรรูปสุกรภาคใต้ ในพื้นที่ดังกล่าว แต่มีชาวบ้านยื่นหนังสือคัดค้านการตั้งโรงงานต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด รวมถึงมีการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านผ่านสื่อโซเซียลต่างๆ โดยให้เหตุผลว่า ไม่ทราบข้อเท็จจริงมาก่อนว่าจะมีโครงการดังกล่าว และแจ้งว่าจะกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากจุดที่จะก่อสร้างนั้นอยู่ในชุมชนประกอบกับพื้นที่ ต.ไม้ขาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเป็นพื้นที่สีเขียวด้วย โดยมีหน่วยงานจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ อำเภอถลาง ปศุสัตว์จังหวัดภูเก็ต สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาว เป็นต้น และชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวในพื้นที่หมู่ที่ 2, 3, 7 และใกล้เคียง จำนวนประมาณ 200 คน เข้าร่วม พร้อมแผ่นป้ายข้อความต่างๆ
สำหรับความเป็นมานั้น สืบเนื่องมาจาก บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ธุรกิจสุกร มีความประสงค์จะก่อสร้างโรงงานตัดแต่งและแปรรูสุกรภาคใต้ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยได้เข้าไปสำรวจและคัดกรองพื้นที่บริเวณฟาร์มเลี้ยงสุกรของบริษัทฯ ซึ่งมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง และด้วยตระหนักถึงความเดือดร้อนของชุมชน จึงมีแนวคิดเปลี่ยนมาเป็นโรงงานตัดแต่งและแปรรูปสุกรแทน ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้างน้อยกว่า โดยบริษัทฯ ได้ทำประชาคมหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2560 ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน หมู่ที่ 3 ต.ไม้ขาว อ.ถลาง พร้อมชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจเกี่ยวกับที่ดินและการก่อสร้างโรงงานตัดแต่งและแปรรูปสุกรไปแล้ว แต่มีชาวบ้านบางส่วนไม่ได้เข้าร่วมประชุมทำประชาคม และมีข้อสงสัยให้บริษัทฯ ชี้แจง โดยทางผู้แทนของบริษัท ระบุว่า โรงงานแปรรูปที่จะก่อสร้างนั้น จากพื้นที่ฟาร์มเดิมประมาณ 40 ไร่ แต่ได้ขออนุญาตใหม่ประมาณ 10 ไร่ ซึ่งก่อสร้างจริงจะใช้พื้นที่ประมาณ 1,300 ตารางเมตร และเป็นโรงงานปิด มีระบบบำบัดน้ำเสียภายในโรงงานและเป็นมาตรฐาน GMP
อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ได้ข้อยุติ ที่ประชุมจึงได้เสนอให้ผู้นำชุมชน, กำนันผู้ใหญ่บ้าน, ประธานสภา อบต.ไม้ขาว, สมาชิก อบต.ไม้ขาว, ตัวแทนอำเภอถลาง, สิ่งแวดล้อม, อุตสาหกรรมจังหวัด, ตัวแทน บ.ซีพีเอฟ. และแกนนำชาวบ้านส่วนหนึ่ง เข้าประชุม เพื่อหาแนวทาง โดยใช้เวลาอีกประมาณ 1 ชั่วโมง และได้ข้อยุติว่า ทางตัวแทน บ.ซีพีเอฟ.ฯ ได้ขอถอนไม่สร้างโรงงานชำแหละเนื้อสุกรแล้ว แต่จะขอสร้างเป็นห้องเย็น โดยที่ประชุมฯ ได้สรุปให้ไปเริ่มต้นกระบวนการยื่นขออนุญาตก่อสร้างใหม่ และดำเนินการตามขั้นตอนการทำประชาคมกับชาวบ้านใหม่อีกครั้ง
ด้าน นายสุลัยมารฑ์ แก้วงามดี ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันได้ข้อสรุปว่า ทางบริษัทขอถอนการสร้างตั้งโรงงานตัดแต่งและแปรรูปสุกร โดยขอปรับเปลี่ยนเป็นโรงงานชนิดอื่น ซึ่งชาวบ้านพอใจ แต่ก่อนที่จะดำเนินการ จะขอให้มารับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านก่อน โดยจะมีทาง อ.ถลาง เป็นผู้ประสานงานในการแจ้งผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้าน