5 ค่ายมือถือ ร่วม กสทช. ใช้แอป “กันกวน” พวกชอบตื้อขายตรง
กสทช. เปิดตัวแอป “กันกวน” ดึงโทรศัพท์มือถือ 5 ค่ายร่วมมือปิดกั้นเบอร์รบกวน จากผู้ประกอบการหรือกลุ่มธุรกิจด้านการติดต่อสื่อสาร ให้ความคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จัดทำเป็น 2 ส่วน “ ไวท์รีส” กับ “เบรกรีส” พวกตื้อขายตรง ขายประกัน กับทวงหนี้ หมดสิทธิจุ้นพร่ำเพรือ ให้รำคาญแล้ว
เมื่อบ่ายวันที่ 5 สิงหาคม 2560 เวลา 14.00 น.เศษ ที่ศูนย์การค้าไลมไลท์อเวนิว ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายวรรณะ เศรษฐพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กสทช. เขต 11 จังหวัดภูเก็ต นายสมโภชน์ พิทักษ์ธรรม ผู้จัดการฝ่ายขายและบริการลูกค้าภูมิภาคที่ 4.2 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นายชัยยุทธ โรจนพิทยากุล ผู้จัดการสำนักงานบริการลูกค้า กสท ภูเก็ต นายอิทธิพล ชัยสุภา ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส นายอภิวันท์ สิงห์ทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายช่องทางการขายซิมเติมเงิน บมจ. โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น และ นายกนกศักดิ์ นิ่มนวลรัตน์ ผู้ชำนาญการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วม แถลงข่าว เปิดตัวแอปพลิเคชัน “กันกวน” ครั้งแรกในประเทศไทย แอปพลิเคชัน ปิดกั้นโฆษณา ข้อความ เบอร์โทรศัพท์ ที่ไม่ประสงค์ การเชื่อมโยงโครงข่าย การปิดกั้นระบบป้องกันการโทรรบกวน พร้อมการพัฒนาระบบ ฐานข้อมูลการโทร เพื่อป้องกันสิทธ์ของผู้ใช้บริการแอปพลิเคชัน “กันกวน” ช่วยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และการเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นความร่วมมือ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช. และผู้ประกอบการ อาทิ DTAC, TRUE, TOT, CAT,และ AIS
นายวรรณะ เศรษฐพงศ์ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.ได้จัดทำแอปพลิเคชัน “กันกวน” เพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้วยวิธีการปิดกั้นเบอร์โทรศัพท์ที่โทรเข้ามารบกวนก่อให้เกิดความรำคาญ เช่น การกลั่นแกล้ง การขายตรง การขายประกัน และการติดตามทวงหนี้
สำหรับวิธีการใช้งาน ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้จาก App Store และ Play Store ผ่านการ Search “กันกวน” เมื่อทำการดาวน์โหลด และติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ระบบจะให้กรอกข้อมูลยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน เพื่อเป็นการป้องกันการกลั่นแกล้งกรณีแจ้งระงับเบอร์ และใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบข้อมูล ทั้งผู้แจ้งให้ปิดกั้นเบอร์ และผู้ถูกปิดกั้นเบอร์ แอปพลิเคชัน “กันกวน” เป็นการสร้างความร่วมมือจากผู้ใช้ ในการนำเสนอข้อมูลจากการโทรรบกวนร่วมกัน โดยประชาชนเสมือนตำรวจออนไลน์ในการตรวจสอบ แบ่งปันข้อมูล และปกป้องสิทธิจากการรบกวนดังกล่าว
แอปพลิเคชัน “กันกวน” จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยป้องกันความเป็นส่วนตัวของประชาชน กรณีมีการโทรศัพท์เข้ามาขายของ หรือขายประกัน หากมีการรายงานเบอร์เข้ามายังสำนักงาน กสทช. ผ่านระบบหน่วยตรวจสอบก็จะเช็คว่าหมายเลขนั้นมีผู้ร้องเรียนเข้ามามากจริงหรือไม่ ก่อนปิดกั้นเบอร์ เพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ
นายวรรณะ กล่าวอีกว่า แอปพลิเคชัน กันกวน จะแบ่งระบบการจัดการออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกเรียกว่า บัญชีสีขาว (White list) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ White list ที่สามารถปิดกั้นได้ เช่น การขายที่ไม่พึงประสงค์ การขายประกัน ขายสินเชื่อ และขายตรง ซึ่งต้องมีการลงทะเบียนเข้าระบบแอปพลิเคชันกันกวน เพื่อให้ประชาชนทราบถึงเลขหมายที่มีการโทรเข้า และเลือกรับสายได้ สำหรับ White list ที่ไม่สามารถปิดกั้นได้ แต่สามารถโทรได้ในช่วงเวลา วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น. เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนแก่ประชาชน เช่น การติดตามทวงหนี้ ทวงถามการชำระเงินจากผู้ประกอบการด้านการสื่อสาร หรือจากสถาบันการเงิน
ส่วนที่ 2 เรียกว่า บัญชีสีดำ (Black list) สำหรับเบอร์ที่สร้างการรบกวน เกินเวลาที่กำหนด โดยสำนักงาน กสทช. จะทำการรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ที่รบกวน ส่งไปให้ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม ทุกค่าย สำหรับบทลงโทษ จะมีการตักเตือน ปิดกั้นเบอร์เป็นเวลา 3 เดือน และยกเลิกเบอร์ในที่สุด
ทั้งนี้ แอปพลิเคชันกันกวน คือหนึ่งในแอปพลิเคชันของงานด้านกิจการโทรคมนาคม โดยจากนี้จะมีการทยอยเปิดตัวแอปพลิเคชัน เช่น แอปพลิเคชัน 3 ชั้น และ Speedcheckให้ประชาชนร่วมกำกับกิจการโทรคมนาคม