9 องค์กรใน จ.ภูเก็ต เรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมเรียกร้องเสนอ 6 มาตรการ ในการรับมือวิกฤติ Covid-19 จังหวัดภูเก็ต
เมื่อวันที่ 16 มี.ค.63 ที่ผ่าน นายสรายุทธ มัลลัม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต พร้อมคณะกรรมการร่วมองค์กรเอกชน จ.ภูเก็ต โดย นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ นางสาวเชิญพร กาญจนสาย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต นายอัฎฐ์ธณณ หวงธนะภัณฑ์ อุปนายกฝ่ายสารสนเทศและสื่อสารองค์กร สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต นายรังสิมันต์ กิ่งแก้ว อุปนายกฝ่ายแผนและพัฒนา สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ร่วมแถลง ขอความชัดเจนการเปิดเผยข้อมูลการจัดการกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ใน จ.ภูเก็ต และเรียกร้องนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับ จ.ภูเก็ต ซึ่งจังหวัดท่องเที่ยวเป็นหลักให้กับสื่อมวลชน ณ ศูนย์การค้าไลม์ไลท์อเวนิวภูเก็ต
นายสรายุทธ มัลลัม กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากส่วนกลางอย่างเดียว แต่ในระดับพื้นที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ส่งผลให้เกิดเฟสนิวส์ขึ้นจำนวนมาก ประชาชนแตกตื่น ทั้งนี้ ภาคเอกชน ทั้ง 9 องค์กรใน จ.ภูเก็ต จึงขอเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลการแพร่ระบาดโควิด-19 ใน จ.ภูเก็ต และขอความยืดหยุ่นให้เปิดเผยข้อมูลตัวเลขกลุ่มเสี่ยงผู้ติดเชื้อ หรือ ไม่ติดเชื้อ และผู้ที่เดินทางมาในจังหวัดท่องเที่ยว โดยเฉพาะ จ.ภูเก็ต ที่เป็นพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งความชัดเจนในการให้ประชาชนเข้าไปตรวจร่างกาย จะต้องไปสถานที่ใดบ้าง ต้องหามาตรการรองรับประชาชนในกรณีเจ็บป่วยจากโรคดังกล่าว
เมื่อที่ผ่านมา คนภูเก็ตหวาดวิตกกันมากจึงเข้าไปตรวจวันเดียวกว่า 100 คน ที่รพ.วชิระภูเก็ต มีพยาบาลดูแลรับผิดชอบเพียง 30 คน ทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง บุคคลกลุ่มนี้ทำงานเหนื่อยมากจึงควรหางบประมาณหรือโรงพยาบาลสำรองสนับสนุน และขอให้มีการบริหารจัดการที่ดี มีผู้รับผิดชอบที่สามารถสั่งการบัญชาการเหตุการณ์ได้ในเรื่องนโยบายและงบประมาณอย่างเร่งด่วนกับสถานการณ์สภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ เช่น ในการจัดซื้อเครื่องเทอร์โมสแกน เครื่องฉีดพ่น ให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านการจัดซื้อจัดจ้างเพราะเป็นสถานการณ์ในช่วงสภาวะวิกฤติ ทั้งนี้ ขอให้ทางส่วนกลางให้อำนาจลงมาในระดับจังหวัดเพื่อจัดการ รวมถึงในการเปิดเผยความจริง ต้องมีศูนย์บัญชาการที่ชัดเจนเพื่อแจ้งรับเหตุตลอด24 ชั่วโมง
ส่วน ข้อขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีทราบว่า ภูเก็ตเหนื่อยมามากแล้วช่วยเหลือประเทศในการสร้างรายได้ด้วยการท่องเที่ยวมามากแล้ว ตอนนี้ จ.ภูเก็ต เริ่มป่วยถ้าเจ็บหรือล้มตายจะไม่มีโอกาสได้ช่วยรัฐบาลอีก ขอให้นายกรัฐมนตรีลงมารับทราบปัญหาใน จ.ภูเก็ต แทนที่จะออกข่าวออกมาตรการเฉพาะที่กรุงเทพฯเท่านั้น
สำหรับ 6 มาตรการในการรับมือวิกฤติ Covid-19 จังหวัดภูเก็ต โดยมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1. ศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉิน Covid-19 ประจำจังหวัดภูเก็ต (Phuket COVID -19 Crisis Management Command Center) โดยไม่ยึดกรอบอำนาจการบริหารราชการในภาวะปกติ (ร่างคณะกรรมการศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉินฯ ประกอบ)
2. ยกเลิกการเดินทางเข้ามาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการอย่างน้อย 30 วัน และพิจารณาเพิ่มเติมจากความรุนแรงของการแพร่ระบาดในแต่ละประเทศตามความจำเป็นและเหมาะสม
3. ดำเนินตามมาตรการการควบคุมและคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าออกจังหวัดภูเก็ต ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเข้มงวด และมีการสนับสนุนการปฏิบัติงานจากทุกหน่วยงานทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อปพร. สาธารณสุข โดยมีมาตรฐานเดียวกัน มีความเข้าใจตรงกัน
4. สั่งการให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ให้ดำเนินการใช้งบฉุกเฉินในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยสำหรับการคัดกรอง และรักษาผู้ป่วย เช่น เครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
5. สั่งการให้องค์กรปกครองท้องถิ่นจัดการฝึกอบรม อาสาสมัครสาธารณสุข อย่างเข้มข้นเพื่อ ช่วยงานโรงพยาบาลในเขตพื้นที่ รวมทั้งการติดตามเฝ้าระวังผู้ที่ต้องกักบริเวณในบ้านเรือน
6. ให้องค์กรสื่อมวลชนภูเก็ตเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สสจ. โรงพยาบาล การท่าอากาศยาน เป็นต้น เพื่อประมวลและนำเสนอข่าวสถานการณ์ปัจจุบันอย่างเป็นทางการทุกวัน
ทางด้าน นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า จากการสำรวจโรงแรมต่างๆในช่วงนี้ มีธุรกิจโรงแรมที่รับทัวร์จีนปิดชั่วคราวจำนวนหนึ่ง คาดว่า ภายในเมษายนนี้ สามารถควบคุมเชื้อ Covid-19 ได้ จ.ภูเก็ต มีความปลอดภัย เชื่อว่าชาวจีนจะกลับเข้ามาท่องเที่ยวที่จ.ภูเก็ต ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นที่เข้ามา ยังมี กลุ่มยุโรป รัสเซีย และสแกนดิเนเวีย ฯลฯ
เนื่องจาก ปัจจุบันนักท่องเที่ยวกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 จาก 6 ประเทศ ที่เดินทางเข้ามายังจ.ภูเก็ตมีจำนวน น้อยลง เนื่องจากรัฐบาลกำหนดให้เข้ามาไม่เกิน 50 คนต่อวัน มีการกำหนดให้พักอยู่ในโรงแรม 1 แห่ง ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มเสี่ยงอีก 11 ประเทศ ในเขตพื้นที่ระบาด มีเข้ามาจำนวนน้อยมากเช่นกัน เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ติดตามตรวจอาการทุกคนทุกวันอย่างใกล้ชิด ซึ่งทุกโรงแรมต้องรับกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ และมีมาตรการเข้มข้นในการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยสูงมาก