“สมาคมเภสัชกรชุมชนภูเก็ต” จัดประชุมวิชาการ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 เพื่อยกระดับวิชาชีพ
“สมาคมเภสัชกรชุมชนภูเก็ต” จัดประชุมวิชาการ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 เพื่อยกระดับวิชาชีพ
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น.ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมคอร์ทยาร์ด บาย แมริออท ภูเก็ต สมาคมเภสัชกรชุมชนภูเก็ต จัดประชุมวิชาการ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 นายณัฐพล สุขโหตุ นายกสมาคมเภสัชกรชุมชนภูเก็ต กล่าวถึงวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางวิชาชีพของเภสัชกรชุมชน, ส่งเสริม สนับสนุน และเพิ่มพูนวิชาการทางเภสัชกรรมชุมชน โดยได้รับเกียรติ นายอดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดสมาคมเภสัชกรชุมชนภูเก็ต และการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 พร้อม นายสมสุข สัมพันธ์ประทีป, รองนายกแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต, นายสมพงษ์ อภิรมย์รักษ์ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน(ประเทศไทย), นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต และ คณะกรรมการสมาชิกสมาคมฯ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมแสดงความยินดีและร่วมประชุมวิชาการ บรรยายให้ความรู้ ความเข้าใจ
นายณัฐพล สุขโหตุ นายกสมาคมเกสัชกรชุมชนภูเก็ต กล่าวว่า การจัดตั้งสมาคมฯ มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางวิชาชีพของเภสัชกรชุมชน, ส่งเสริม สนับสนุน และเพิ่มพูนวิชาการทางเภสัชกรรมชุมชน, ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก, ส่งเสริมสวัสดิการให้แก่สมาชิก, ส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานในวิชาชีพเภสัชกรชุมชนและให้องค์ความรู้แก่ประชาชนและองค์กรอื่นๆ ในเรื่องเกี่ยวกับงานเภสัชกรรมชุมชน เพื่อคุ้มครองประชาชนและสมาชิกจากงานเภสัชกรรมชุมชน, สนับสนุนการรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม และร่วมมือกับองค์กรอื่นในงานค้านสาธารณสุขเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่วนของการจัดประชุมวิชาการนั้น
นอกจากนี้ เพื่อให้เภสัชกรได้ตระหนักถึงความสำคัญ และทราบถึงการเลือกใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผลในร้านขายยา พร้อมทั้งเก็บหน่วยกิตศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ จำนวน 2 หน่วยกิตด้วย “ก่อนที่จะมีการจัดตั้งเป็นสมาคมฯ ได้มีการตั้งเป็นชมรมเภสัชกรชุมชนภูเก็ตมาเป็นเวลา 10 ปี โดยมีสมาชิกฯ 500 คน ซึ่งการยกระดับขึ้นมาเป็นสมาคมฯ นั้น เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมและภาครัฐ รวมถึงร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรม ยกระดับวิชาชีพของเภสัชกรรมของจังหวัดภูเก็ตและใกล้เคียง เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากที่สุด”
นายณัฐพล กล่าวต่อด้วยว่า ส่วนแนวโน้มของร้านขายยาในจังหวัดภูเก็ต ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็มีหลายๆร้านที่ปิดตัวลงไป ส่วนในปัจจุบัน แนวโน้มธุรกิจร้านขายยาได้เติบโตขึ้นเนื่อง จากแต่เดิมจังหวัดภูเก็ตเองเป็นเมืองท่องเที่ยวอยู่แล้ว การท่องเที่ยวกับธุรกิจร้านขายยา จึงมีความสัมพันธ์กัน โดยสังเกตได้จากร้านขายยาบริเวณป่าตอง เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ ก็ย่อมมีคนเจ็บไข้ได้ป่วยเยอะขึ้น โรคที่เกิดมักจะเป็นโรคที่เกิดเฉียบพลัน เช่น มีไข้ ท้องเสีย เจ็บคอ เป็นต้น และมีนักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้ใช้บริการร้านขายยา โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปเข้าโรงพยาบาล ซึ่งสร้างความสะดวกสบายให้นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยาที่ขายในร้านขายยาบริเวณป่าตอง เป็นยารักษาโรคที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ในส่วนของยาที่รักษาอาการของโรคเรื้อรัง อาทิ ไขมัน ความดัน เบาหวาน จะขายกันอยู่ในตัวเมือง
นอกจากนี้ ยาบางชนิดที่ต่างประเทศขายไม่ได้ แต่ในประเทศไทยขายได้ ทำให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเจาะจงเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อซื้อยาชนิดดังกล่าว อีกปัจจัยหนึ่ง เรื่องของราคายาในประเทศไทยนั้นมีราคาถูกกว่าในต่างประเทศ จึงทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการร้านขายยาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ในปัจจุบันเทรนด์ด้านการดูแลสุขภาพนั้นมาแรง ทำให้ผู้คนสนใจในด้านสุขภาพและความงามมากยิ่งขึ้น ซึ่งร้านขายยาในปัจจุบัน ก็มีสินค้าหลากหลายตอบโจทย์ของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย ส่วนสถานการณ์การอยู่ประจำร้านของเภสัชกร จังหวัดภูเก็ตได้พยายามให้เภสัชกรอยู่ตลอดเวลาขณะเปิดร้าน เพื่อสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มาใช้บริการ แต่มีบางร้านที่มีขนาดใหญ่ก็อาจจะใช้ผู้ช่วยเภสัชกรมาช่วยควบคุมร้าน ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถสังเกตป้ายหน้าร้านว่า เภสัชกรจะอยู่ปฏิบัติงานในช่วงเวลาใดได้ ซึ่งสะดวกต่อการเข้ามารับคำแนะนำในการใช้ยา ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้ สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้ดูแลและควบคุมอยู่แล้ว ส่วนปัญหาที่พบบ่อยของร้านขายยา ว่าจะเป็นเรื่องของการแขวนป้ายในร้านยา ทางสมาคมฯ มีการพูดคุยกันถึงการจัดอบรมเภสัชกรที่จบใหม่ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ เป็นการเติมเภสัชกรเข้ามาในวิชาชีพนี้เนื่องจากปัจจุบันความต้องการเภสัชกรสูงมาก ปัจจุบันเภสัชกรที่เปิดร้านขายยามี จำนวนประมาณ 600 ร้าน ในจำนวนดังกล่าวประมาณ 200 ร้านอยู่ในพื้นที่หาดป่าตอง นายณัฐพล ได้กล่าวทิ้งท้าย