ปั่นเปลี่ยนเมือง… หรือจะปั่นป่วนเมือง..?
หลังจากที่ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด (PKCD) ได้มีการลงนามข้อตกลงร่วมกับ บริษัท โอโฟ่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการจักรยานสาธารณะแบบไร้สถานีจากประเทศจีน และ บริษัท OBIKE จำกัด ผู้ให้บริการจักรยานสาธารณะจากสิงคโปร์ โดยการสนับสนุนของจังหวัดภูเก็ต จัดทำโครงการ “ปั่น เปลี่ยน เมือง หรือ BIKE SHARING IN PHUKET” ด้วยการนำรถจักรยานมาให้บริการผ่านการแอปพิเคชั่น โดยจะนำไปจอดไว้ตามห้างสรรพค้าและร้านค้าต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งสอดรับกับการเป็น Phuket Smart City ซึ่งระยะแรกเน้นในย่านเมืองเก่าภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต และเปิดให้บริการทดลองปั่นฟรี 1 เดือนในเดือนตุลาคม หลังจากนั้นจะคิดค่าบริการชั่วโมง 10 บาท การใช้จักรยานดังกล่าว
แต่ปรากฏว่าหลังจากมีการนำจักรยานมาให้บริการได้ระยะหนึ่ง และได้รับการตอบรับที่ดีในภาพรวม มีประชาชนและนักท่องเที่ยวหันมาให้ความสนใจนำรถจักรยานไปใช้บริการกันเป็นจำนวนมาก ในแต่ละวันมียอดเปิดใช้มากกว่าพันครั้ง แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดของคนในสังคมก็เกิดขึ้น เนื่องจากมีบุคคลบางคนหรือบางกลุ่มไม่เข้าใจรูปแบบของการนำจักรยานไปใช้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือขาดจิตสำนึกที่ดี รวมไปถึงความคึกคะนอง นำจักรยานที่ทางบริษัทฯ ให้ทดลองใช้ฟรี ไปโยนทิ้งในลำคลอง นำกลับไปไว้บ้านจับจองเป็นสมบัติส่วนตัว โดยการนำรถยนต์กระบะและรถสามพ่วงไปขนจากจุดจอด และอื่นๆ อีกหลากหลายรูปแบบ จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นไปในแง่ลบ และก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้น มีการแชร์ภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปตามโซเซียลต่างๆ มากมาย
สำหรับการก่อเกิดของโครงการ “ปั่น เปลี่ยน เมือง หรือ BIKE SHARING IN PHUKET” มีเป้าหมายหลัก เพื่อต้องการลดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมือง ลดปัญหาการใช้พลังงาน ลดการปล่อยมลพิษ และเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตตัวเมืองด้วย โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการ ซึ่งผู้ใช้จะต้องมีการโหลดแอพิเคชั่นของแต่ละบริษัทไว้ในมือถือ และเมื่อต้องการใช้ก็ไปสแกนบาร์โค้ดที่ติดอยู่กับตัวรถ เพื่อปลดล็อกการใช้งาน ส่วนของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้นก็จะมีการผูกกับบัตรเครดิตซึ่งจะต้องมีการดำเนินการก่อนจึงจะสามารถใช้งานได้ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ รองรับส่วนหนึ่งของการเป็นสังคมไร้เงินสดในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า การให้บริการลักษณะเช่นนี้เป็นเรื่องใหม่และครั้งแรกสำหรับภูเก็ต จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดคิดขึ้นมากมาย และเชื่อว่าทางบริษัทฯ น่าจะเคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้มาบ้างในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในต่างประเทศ ซึ่งมีการเปิดให้บริการมาก่อนหน้านี้ ทั้งหมดทั้งมวลก็จะเป็นประเด็นให้ทางบริษัทฯ ได้หาวิธีการรับมือ เมื่อหมดระยะเวลาของการให้ทดลองใช้บริการฟรี หากไม่ถอดใจเสียใจ เพราจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เนื่องจากการตอบรับในภาพรวมค่อนข้างดีมาก แม้ว่าจะมีคนเพียงบางคนหรือบางกลุ่มที่ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
สุดท้ายก็ฝากว่า รถบริการดังกล่าวมีผู้เป็นเจ้าของชัดเจน และไม่ใช่รถของหน่วยงานภาครัฐ และไม่มีหน่วยงานใดนำมาแจก สำหรับผู้ที่อาจจะเข้าใจผิด (หรือตั้งใจเข้าใจผิด) นำไปจับจองเป็นเจ้าของ หรือไปทำลายด้วยวีการใดวิธีการหนึ่ง ทางผู้เป็นเจ้าของสามารถดำเนินคดีได้ และหลักฐานต่างๆ เค้าก็มีพร้อม จากระบบการป้องกันที่มีการทำไว้แล้วระดับหนึ่ง …ติดตามกันต่อไป