ภูเก็ตถูกหวยนักท่องเที่ยวทะลัก เข้าบาหลีไม่ได้ภูเขาไฟระเบิด
รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดพื้นที่จัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยวชายหาดช่วงไฮซีซั่น ตามดำริของผู้ว่าฯ หลังพบนักท่องเที่ยวทะลักเข้าภูเก็ต เหตุเข้าบาหลีไม่ได้ ด้วยภูเขาไฟระเบิดที่อินโดฯ สถิติยอดเข้าโรงแรมเพิ่มกว่า 90 % จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 70 -80 % ชายหาดหาห้องพักยากขึ้น ที่ป่าตองร่มเตียงเริ่มแหกคอก เจ้าหน้าที่ต้องลงตรวจไล่ต้อนทุกวัน ผู้ว่าฯโชว์สมาร์ทซิตี้ ด้วยการสั่งผลิตสื่อมัลติมิเดีย ความปลอดภัยทางทะเล Beach Safety ให้นักท่องเที่ยวชม แนะสัญญาณอันตราย และจุดเล่นน้ำ จะได้ระวังก่อนลงทะเล ขณะที่เจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ตเตรียมความพร้อมกำหนดมาตรการความปลอดภัยทางน้ำ รองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2560 – 3 มกราคม 2561
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 ที่ห้องประชุมจวนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมหารือการจัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ร่วมกับ นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง นางกนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เทศบาลตำบลกะรน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้สืบเนื่องจาก นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ต้องการให้มีการดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารแก่นักท่องเที่ยว ตลอดจนดูแล กรณีมีปัญหาเกิดขึ้น ผู้ให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในเบื้องต้นกรณีเกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด จึงมอบหมายให้ นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือดังกล่าว
โดยประเด็นหลักๆ ที่หารือร่วมกันในที่ประชุม คือเรื่องสถานที่ที่จะใช้ในการจัดตั้งศูนย์ฯ เบื้องต้นได้มีการเสนอ พื้นที่บริเวณหาดป่าตอง กะตะ กะรน หาดกมลา หาดสุรินทร์ ฯลฯ ซึ่งในแต่ละศูนย์บริการจะต้องมีโครงสร้างอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน มีการปฏิบัติงานร่วมกันจริง
ทั้งนี้ศูนย์บริการดังกล่าว เบื้องต้นได้กำหนดให้เป็นศูนย์บริการชั่วคราวเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติการได้ในช่วงเดือนธันวาคม นี้
สำหรับการจัดระเบียบชายหาดจังหวัดภูเก็ต ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการแบ่งพื้นที่การจัดระเบียบออกเป็น 3 ลักษณะ คือ ชายหาดเพื่อการท่องเที่ยวมี จำนวน 9 ชายหาด ชายหาดเหล่านี้จะมีการจัดพื้นที่ 10 % ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้ามาตั้งเตียง และร่ม รวมทั้งการประกอบอาชีพ นวด หาบเร่ได้ ลักษณะที่ 2 เป็นหาดเทิดพระเกียรติ คือหาดสุรินทร์ เป็นหาดที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เคยเสด็จฯ หาดนี้ห้ามไม่ให้มีร่มเตียง และการรุกล้ำลงชายหาดเด็ดขาด นอกจากนั้นยังมีอีกจำนวน 33 ชายหาดที่ถูกกำหนดให้เป็นชายหาดเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การจัดระเบียบชายหาดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเพื่อป้องปรามให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสในการรุกล้ำชายหาด ทาง พ.ท.สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม รอง ผบ.ร 25 พัน 2 ชุดรักษาความสงบ จ.ภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ลงพื้นที่บริเวณชายหาดป่าตอง เพื่อติดตามและตรวจสอบการจัดระเบียบชายหาด โดย นายวีระศักดิ์ ขมิ้นทอง รองนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ซึ่งบริเวณชายหาดป่าตอง เป็น 1 ใน 9 ชายหาดจัดระเบียบตามนโยบายจัดระเบียบชายหาดจังหวัดภูเก็ต เพื่อรองรับฤดูกาลท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีผู้ประกอบการบางรายไม่ปฏิบัติตามกติกาที่กำหนด โดยได้มีการพูดคุยชี้แจงทำความเข้าใจ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพร่วมกันได้
พ.ท.สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม กล่าวว่า เนื่องจากในระยะนี้ จังหวัดภูเก็ตกำลังเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ในการตรวจสอบและดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของหาดจัดระเบียบ ตามนโยบายจัดระเบียบชายหาด จำนวน 9 ชายหาด เช่น ป่าตอง กะตะกะรน ในหาน เป็นต้น โดยในการดำเนินการนั้นให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ส่วนใหญ่ยังคงมีการปฏิบัติตามกฎกติกาที่กำหนดไว้ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยมีผู้ประกอบการส่วนน้อยไม่กี่รายที่ฝ่าฝืนกติกาที่กำหนด
“กรณีของหาดป่าตองทางชุดรักษาความสงบฯ จะมีการลงพื้นที่มาตรวจสอบเป็นประจำทุกวัน พร้อมทั้งได้มีการพูดคุยและขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการในทุกกลุ่มอาชีพขอให้ปฏิบัติตามกติกาที่หน่วยงานราชการกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความมือเป็นเป็นอย่างดี มีส่วนน้อย 1-2 รายที่ไม่ยอมปฏิบัติตาม หรือออกนอกกรอบ
ส่วนบรรยากาศการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต พบว่า บรรยากาศบริเวณชายหาดเป็นไปอย่างคึกคัก นายกฤษฎา ตันสกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า การท่องเที่ยวในภาพรวมช่วงนี้ของจังหวัดภูเก็ตมีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ประมาณ 90 % ซึ่งปกติช่วงนี้อัตราการเข้าพักจะอยู่ที่ประมาณ 80 % แต่จากสถานการณ์ภูเขาไฟระเบิดที่อินโดนีเซีย ทำให้นักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถเดินทางไปบาหลี ได้เลือกเดินทางมาท่องเที่ยวที่ภูเก็ตแทน ทำให้อัตราการเข้าพักช่วงนี้เพิ่มมากกว่าปกติประมาณ 10 % ทำให้อัตราการเข้าพักในช่วงนี้คึกคักขึ้น สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวก็มีทั้งออสเตรเลีย ยุโรป และรัสเซีย ส่วนโรงแรมตามชายหาดพบว่าช่วงนี้เริ่มหาห้องพักยากขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจะดีไปจนถึงปลาย ก.พ. สำหรับปีนี้
ต่อมา เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ที่ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวถึง การวางมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัย ให้กับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูท่องเที่ยวว่า จังหวัดภูเก็ตได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการดูแลนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลนี้ นอกจากนี้ได้ตั้งคณะทำงานผลิตสื่อมัลติมิเดียเกี่ยวกับความปลอดภัยทางทะเล ในหัวข้อความปลอดภัยในการลงเล่นน้ำและกิจกรรมชายหาดจังหวัดภูเก็ต Beach Safety เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้ปฏิบัติด้วย
นายสนิท ศรีวิหค, นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานผลิตสื่อมัลติมิเดียเกี่ยวกับความปลอดภัยทางทะเล ในหัวข้อความปลอดภัยในการลงเล่นน้ำและกิจกรรมชายหาดจังหวัดภูเก็ต Beach Safety ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการผลิตสื่อมัลติมิเดีย และมอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ดำเนินการผลิต
โดยเนื้อหาเป็นการเน้น เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการลงเล่นน้ำ และกิจกรรมทางน้ำ และบริเวณชายหาด และเน้นสื่อสารข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดภูเก็ต ข้อมูลการเที่ยวทะเลอย่างไรให้ปลอดภัย และเมื่อประชาชนประสบเหตุ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1669 และข้อมูล เกี่ยวกับสัญลักษณ์ป้ายเตือนของธงสีแดง หมายถึงทะเลอันตรายห้ามลงเล่นน้ำ สีเหลือง หมายถึงให้เล่นน้ำอย่างระมัดระวังในเขตว่ายน้ำ สีแดงเหลือง หมายถึงบริเวณดังกล่าวมีพนักงานไลฟ์การ์ด ปฏิบัติหน้าที่อยู่ให้ว่ายน้ำในเขตระหว่างธง 2 ธงนี้เท่านั้น และข้อมูล ระยะเวลาที่จะมีไลฟ์การ์ด คอยดูแลพี่น้องประชาชนที่ลงเล่นน้ำตั้งแต่ช่วงเวลาใด และเมื่อประชาชนลงเล่นน้ำแล้วได้รับอันตรายอ่อนแรงไม่สามารถว่ายน้ำได้จะต้องทำสัญลักษณ์อย่างไรเพื่อส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ลงไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที เป็นต้น
ทั้งนี้สื่อประชาสัมพันธ์ดังกล่าวจะผลิต โดยใช้ 9 ภาษา ในการนำเสนอ โดยเมื่อผลิตเสร็จแล้ว จะส่งให้สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์เผยแพร่ รวมทั้งส่งให้กงสุลต่างประเทศ ไปเผยแพร่ให้กับนักท่องเที่ยวได้รับทราบต่อไป
ด้าน นายสุรัฐ ศิริไสยาสน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ตเปิดเผยว่าช่วงเทศกาลปีใหม่ ประจำปี 2561 จะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้การจราจรทางน้ำมีความหนาแน่น ประกอบกับบางช่วงเวลาจะมีน้ำทะเลหนุนสูง เป็นผลทำให้น้ำในแม่น้ำ คลองต่าง ๆ มีระดับน้ำสูง และกระแสน้ำไหลแรงกว่าปกติ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุทางน้ำขึ้นได้ ดังนั้น สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ตในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการควบคุม กำกับ ดูแล จึงได้กำหนดแผนปฏิบัติและมาตรการเพื่อความปลอดภัยทางน้ำในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประจำปี 2561 ขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบกิจการเดินเรือเจ้าของเรือ,ผู้ทำการในเรือและประชาชนได้รับทราบและถือปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวโดยเคร่งครัด ดังนี้ โป๊ะท่าเทียบเรือต้องติดป้ายระบุจำนวนที่โป๊ะสามารถรับน้ำหนักได้ ต้องมีพวงชูชีพอย่างน้อย 4 พวง ติดตั้งไฟส่องสว่างบนทางเดิน ตรวจสภาพเรือให้พร้อมใช้งานและมีเสื้อชูชีพทุกที่นั่ง รวมถึงไม่บรรทุกคนเกินที่นั่ง ขณะเดียวกันผู้ควบคุมเรือ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่ประมาท ไม่ดื่มสุราและเสพยาเสพติด ไม่เดินเรือด้วยความเร็วเกินควร
สำหรับประชาชนผู้ใช้บริการเรือโดยสาร การขึ้นลงเรือไม่ควรไปยืนคอยบนโป๊ะ ไม่แย่งกันขึ้นลงเรือ ไม่ดื่มสุราของมึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้ และควรสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง รวมถึงให้ฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ตที่หมายเลขโทรศัพท์ 076 391 174, ท่าเทียบเรืออ่าวฉลองตำบลฉลองอำเภอเมืองจังหวัดภูเก็ตศูนย์ควบคุมการจราจรทางน้ำโดยสามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมงตามช่องทางดังนี้ Name:Phuket VTMS ใช้ช่อง VHF ช่อง 16 ความถี่ 156.475 เป็นช่องการสื่อสารปกติ ,มดดำช่อง F-AM-39, หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ 088 760 3754 (VTMS ศูนย์ควบคุมการจราจรทางน้ำภูเก็ต) ซึ่งเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุและประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมงโดยจะทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง