ก.ดีอี ชี้หากพบว่าติดมัลแวร์เรียกค่าไถ่ให้รีบปิดเครื่องทันที

          วันนี้ (14 พ.ค.) น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ชื่อ “WannaCry” ระบาดไปยังคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟต์ทั่วโลก เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2560 โดยมัลแวร์ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมาเพื่อก่อความเสียหายแก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะถูกส่งมายังคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้โดยไม่มีข้อมูลใดๆ ของผู้ส่ง เมื่อผู้ใช้เปิดไฟล์ หรือดาวน์โหลดตัวมัลแวร์จะทำงานด้วยการบล็อกไฟล์เอกสารต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ด้วยการเข้ารหัสลับ ซึ่งผู้ใช้จะไม่สามารถเปิด หรือดาวน์โหลดข้อมูลที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ของตัวเองได้เลย 

         ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคอมพิวเตอร์ที่ถูกระบบ WannaCry นี้ เข้าบล็อกข้อมูลแล้วกว่า 1 แสนเครื่องทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ โรงพยาบาลกว่า 10 แห่ง ไม่สามารถเปิดบริการได้ เนื่องจากคอมพิวเตอร์ถูกมัลแวร์ดังกล่าวเล่นงาน ตัว WannaCry หรือ มัลแวร์เรียกค่าไถ่นี้ เมื่อคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้คนใดกลายเป็นเหยื่อ หากต้องการที่จะปลดล็อก จะต้องจ่ายเงินประมาณ 300 ดอลลาร์ หรือประมาณ 10,500 บาท เพื่อเป็นการไถ่ข้อมูลคืน ในรูปแบบของ Bit Coin ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถเปิดไฟล์เอกสารต่างๆ ได้ 

          น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงกรณีดังกล่าว โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงดีอี เร่งติดตามเฝ้าระวังปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด ซึ่ง ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ได้มอบหมายให้ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ThaiCERT) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็ตด้า (ETDA) ดำเนินการแจ้งเตือนและให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์และผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานในทันที รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ใช้คอมพิวเตอร์หรือผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานต่างๆ อย่างทันการณ์ตลอดเวลา ซึ่งในส่วนของประเทศไทยยังไม่พบความเสียหายที่ร้ายแรงจากการติดมัลแวร์ดังกล่าวแต่อย่างใด

          อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์หรือผู้ดูแลระบบของหน่วยงานต้องดำเนินการในเบื้องต้น คือ การป้องกันไม่ให้มัลแวร์ดังกล่าวเข้ามาอยู่ในคอมพิวเตอร์ โดยการไม่เปิดไฟล์เอกสารแนบของอีเมลโดยไม่จำเป็น และควรตรวจสอบแหล่งที่มาของไฟล์ที่ถูกส่งเข้ามาในอีเมล หรือช่องทางต่างๆ ให้แน่ใจก่อนเปิดอ่าน ที่สำคัญควรปรับปรุงระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ (OS) ของระบบวินโดว์ (Windows) ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด รวมทั้งควรสำเนาข้อมูลสำคัญต่างๆ ไว้ในฮาร์ดดิสต์อื่น (External Hardisk) เพื่อเป็นการสำรองข้อมูล 


          “แนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดนั้น กรณีผู้ใช้งานทั่วไปเมื่อผู้ใช้พบว่าคอมพิวเตอร์ติดมัลแวร์ดังกล่าวให้ปิดเครื่องและแจ้งผู้ดูแลระบบของหน่วยงานหรือแจ้งศูนย์ OCC (Online Complaint Center) โทร. 1212 สำหรับผู้ดูแลระบบ ให้ปิดบริการ SMBv1 ที่ Windows servers และปิดการเข้าถึงพอร์ต TCP/UDP 135-139 และ TCP 445 ที่อุปกรณ์ Firewall โดยสามารถติดต่อ ThaiCERT ETDA โทร. 02-123-1212 ตลอด 24 ชม.” น.อ.สมศักดิ์ กล่าว 


อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/it/573855

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น