“ทีเส็บ” กระตุ้นธุรกิจดีไมซ์ จุดประกายให้กลุ่มอันดามัน

         ผู้ว่าฯภูเก็ตเปิดงาน “ ไทยแลนด์ โดเมสติกไมซ์มาร์ท ปี 4” กิจกรรมส่งเสริมการขายเชิงรุกสำหรับธุรกิจดีไมซ์ที่ “ทีเส็บ” จัดขึ้น เพื่อกระตุ้นการจัดประชุมภายในประเทศ ให้ผู้ซื้อพบผู้ขาย ในกลุ่มคลัสเตอร์อันดามัน หวังสร้างเม็ดเงินให้ประเทศ 75 ล้านบาท

         เมื่อบ่ายวันที่ 31 พฤษภาคม 2560เวลา 14.30 น. นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงาน “Thailand Domestic MICE Mart 2017” ครั้งที่ 4 มี นายศรัญญู เสมา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต นายชัยรัตน์ ไตรรัตน์จรัสพร ประธานสมาพันธ์การท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย นายประชุม ตันติประเสริฐกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติไทย (TICA) นายจิรุตถ์อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมไมซ์ในจังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องดวงชนก 1-3 โรงแรมดวงจิตต์รีสอร์ทแอนด์สปา จังหวัดภูเก็ต

         นายจิรุตถ์อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยถึงการจัดโครงการไทยแลนด์ โดเมสติกไมซ์มาร์ท ว่า ปีนี้ ทีเส็บ ได้ดำเนินการสานต่อโครงการดังกล่าวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เป็นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและส่งเสริมการขายเชิงรุกสำหรับธุรกิจดีไมซ์ โดยการจัดงานในครั้งนี้ ทีเส็บได้ยกระดับการจัดงาน ขยายความร่วมมือ และสร้างโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งกลุ่มผู้ขายและผู้ซื้อ ให้มานำเสนอสินค้าและบริการไมซ์ภายในประเทศ

         พร้อมทั้งเจรจาธุรกิจระหว่างกันโดยตรง โดยในกลุ่มผู้ขายได้ขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มคลัสเตอร์อันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง และตรัง) จังหวัดในกลุ่มภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดที่มีศักยภาพในการรองรับตลาดไมซ์อย่างนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร สตูล เป็นต้น และกลุ่มผู้ซื้อจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการผลักดันให้เกิดการจัดงาน และเกิดการกระจายรายได้ไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

         สำหรับการจัดงานไทยแลนด์ โดเมสติกไมซ์มาร์ท2017 ณ จังหวัดภูเก็ต มีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 300 ราย แบ่งเป็นผู้ขายจำนวน 100 ราย ได้แก่ โรงแรม ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจากภูเก็ต และจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ รวมทั้งธุรกิจสายการบิน 4 สาย ส่วนผู้ซื้อจำนวน 200 ราย ได้แก่ ผู้แทนผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและไมซ์จากทั่วประเทศจำนวน 120ราย ผู้แทนจากหน่วยงานและองค์กรเอกชน 30 ราย ผู้แทนจากผู้ประกอบการท้องถิ่น ผู้แทนจากหน่วยราชการ สมาคมต่างๆ ประจำจังหวัดและจากจังหวัดใกล้เคียง 50 ราย

         อีกทั้ง การจัดงานในปีนี้ได้ยกระดับการจัดงานโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อส่งเสริมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไมซ์เริ่มปรับตัวเข้าสู่การเป็นสมาร์ทไมซ์ (Smart MICE) ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์งานผ่านทางเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย การลงทะเบียนเข้าร่วมงานแบบออนไลน์ การจัดทำแอพพลิเคชั่นให้ข้อมูลงาน สร้างการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมงานในรูปแบบดิจิทัล และการประเมินผลความพึงพอใจของการจัดงาน ซึ่งก็สอดรับกับแผนพัฒนาของทางจังหวัดภูเก็ตที่จะผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งภูมิภาคจากทางรัฐบาลและหน่วยงานส่วนกลางที่สนับสนุนให้ภูเก็ตเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City อีกด้วย

          “การจัดงานไทยแลนด์ โดเมสติกไมซ์มาร์ท ในปีนี้ ทีเส็บคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้ปีงบประมาณ 2560-2561 มีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์เดินทางเข้าสู่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดในกลุ่มภาคใต้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15,000 คน จากปีงบประมาณ2559 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดรายได้กว่า 75 ล้านบาท และสำหรับเป้าหมายการดำเนินงานตลาดโดเมสติกไมซ์ในปีงบประมาณ2560 นี้ ทีเส็บตั้งเป้าหมายมีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศ 26 ล้านคน สร้างรายได้จำนวน 54,000 ล้านบาท” นายจิรุตถ์ กล่าว

         ด้านนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่สำคัญในปี พ.ศ.2557 – 2560 เพื่อส่งเสริมให้เป็น “ภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวนานาชาติ บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยสร้างความพร้อมในการเป็นสมาร์ทซิตี้ (Smart City) และไมซ์ซิตี้ (MICE City) ที่สมบูรณ์ เพื่อเป็นต้นแบบแห่งการพัฒนาศักยภาพความพร้อมสู่การรองรับอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยในปีงบประมาณ 2559 จังหวัดภูเก็ตมีโอกาสต้อนรับนักเดินทางไมซ์จำนวน 142,000 ราย สร้างรายได้จำนวนกว่า 356.44 ล้านบาท

          ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นทำเลที่ตั้งของจังหวัด การเดินทางมีความสะดวกทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โรงแรมที่พักที่มีศักยภาพในการรองรับนักเดินทาง เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวซึ่งมีกิจกรรมที่หลากหลายทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งสามารถสร้างประสบการณ์และความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือน ขณะเดียวกันยังเป็นเมืองถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งภูมิภาคภายใต้นโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 มีนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานส่วนกลางในการสนับสนุนให้ภูเก็ตเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และการเป็นเมืองที่พร้อมเปิดรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ระดับไฮเอนด์ (Hi-end) ในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น และทางจังหวัดเองยังมีแผนพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานด้านคมนาคม ได้แก่ แผนการพัฒนาท่าอากาศยานให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มมากขึ้นและแผนพัฒนารถรางเบา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2565 ด้วย

         ทั้งหมดนี้คือแนวทางการดำเนินงานของจังหวัดที่เตรียมพร้อมและส่งเสริมให้ภูเก็ตเป็นเมืองไมซ์ที่เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการประชุมองค์กรและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลในระดับโลกควบคู่ไปกับการดำเนินงานของทีเส็บ