“เจ้าท่าภูเก็ต ยกระดับคลองเกาะแก้ว เป็นร่องน้ำปลอดภัย เป็นโครงการนำร่องของจังหวัดภูเก็ต”

“เจ้าท่าภูเก็ต ยกระดับคลองเกาะแก้ว เป็นร่องน้ำปลอดภัย เป็นโครงการนำร่องของจังหวัดภูเก็ต”

              วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2566 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุม Skipper รอยัล ภูเก็ต มารีน่า อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต นายณชพงศ ประนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายพชร เผ่าพานิชย์ นายอนวัช รุ่งใสวัฒนา เจ้าพนักงานตรวจท่าปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเจ้าท่าฯ ได้จัดประชุมพิจารณาแนวทางปฏิบัติความปลอดภัยในการใช้ร่องน้ำคลองเกาะแก้ว โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ใช้ร่องน้ำในบริเวณดังกล่าว เข้าร่วมประชุม มากกว่า 50 คน อาทิ อำเภอเมืองภูเก็ต ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดภูเก็ต ศรชล.ภาค 3 ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะแก้ว ,สถานีท่องเที่ยว 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการท่องเที่ยว ,สถานีตำรวจน้ำ 3 กองกำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจน้ำ ,กำนันตำบลเกาะแก้ว,รอยัล ภูเก็ต มารีน่า , โบ๊ทลากูน มารีน่า ผู้ประกอบกิจการเรือท่องเที่ยวในพื้นที่ ผู้ควบคุมเรือที่ใช้ร่องน้ำคลองเกาะแก้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

              ทั้งนี้​ เพื่อเป็นการยกระดับการใช้ร่องน้ำ การนำเรือด้วยความปลอดภัย สืบเนื่องมาจากการเกิดอุบัติเหตุบริเวณร่องน้ำคลองเกาะแก้วที่ผ่านมีการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง มีทั้งสูญเสียทั้งชีวิต บาดเจ็บและทรัพย์สิน ทั้งนี้เนื่องจากร่องน้ำมีข้อจำกัดในด้านความแคบของร่องน้ำ และความตื้นเขินของระดับน้ำเมื่อน้ำลงต่ำสุด มีผู้ใช้ร่องน้ำเป็นจำนวนมากทั้งเรือยอร์ช เรือโดยสาร เรือสปีดโบ็ทและเรือประมงพื้นบ้าน เป็นต้น

             ซึ่งจากการประชุมหารือได้มีการร่วมกันแสดงความคิดเห็น ให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวาง จนสรุปได้ข้อยุติมีมติร่วมกัน ดังนี้

               1. สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ตให้พิจารณาดำเนินการออกประกาศหรือคำสั่งสำนักงานฯ ควบคุมความเร็วและขตห้ามแซง ให้เรือทุกลำต้องเดินเรือด้วยอัตราความเร็วต่ำเพื่อความปลอดภัยแก่การเดินเรือและต้องใช้ความเร็วไม่เกินอัตราที่เจ้าท่ากำหนด ซึ่งความยาวลำคลองเกาะแก้วยาวประมาณ 5 กิโลเมตร แบ่งช่วงกำหนดอัตราความเร็ว ช่วงปากร่อง 15 น็อต(27.8 กิโลเมตร/ชม.) ช่วงกลางร่อง 10 น็อต(18.5 กิโลเมตร/ชม.) ช่วงร่องน้ำด้านใน 7 น็อต(12.9 กิโลเมตร/ชม.) และต้องมีป้ายแสดงติดตั้งไว้ในแต่ละจุดแต่ละช่วงแบบสะท้อนแสงให้เห็นชัดเจนทั้งเวลากลางวันและกลางคืน มี 2 ภาษาคือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

              2. นายเรือต้องรายงานวิทยุก่อนออกจากท่าและเข้าเทียบท่าเรือผ่านวิทยุสื่อสารช่อง 16 และรายงานขณะเข้า-ออก ร่องน้ำคลองเกาะแก้วผ่านวิทยุสื่อสารช่อง 71 และใช้สัญญาณหวูด-แตรตามข้อกำหนดเมื่อเข้าร่องน้ำแคบหรือทัศนวิสัยมองเห็นจำกัด รวมถึงเรือบังคับติดตั้งระบบ AIS ตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ ต้องเปิดใช้งานทุกครั้งและตลอดเวลาด้วย

              3. ผู้ควบคุมเรือต้องใช้ความเร็วต่ำและใช้ความระมัดระวัง ขณะเดินเรือ หรือขณะนำเรือ เข้าเทียบหรือออกจากท่าเรือขณะรับหรือส่งผู้โดยสาร

             4. ให้จัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ

             5. ออกประกาศหรือคำสั่งสำนักงานฯ เขตควบคุมห้ามแซง โดยห้ามแซงขึ้นหน้าเรือลำอื่น โดยเด็ดขาดขณะเดินเรือในร่องน้ำคลองเกาะแก้ว โดยจะมีป้ายแสดงเขตห้ามแซงสะท้อนแสงทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษติดตั้งไว้ทุกจุดด้วย

             6.​ กรณีร่องน้ำเกาะแก้ว มีสภาพตื้นเขินนั้น สำนักงานฯได้รับแจ้งจากสำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 (ตรัง) ว่าร่องนอกอยู่ในแผนที่จะดำเนินการขุดลอกในปีงบประมาณ 2567 ส่วนร่องด้านในนั้นไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 กำลังพิจารณาหาแนวทางวิธีการที่จะจัดสรรงบประมาณที่มีจำกัดเข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาบรรเทาความเดือนร้อนได้อย่างไรบ้าง

            ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. 2522 ให้เรือทุกลำปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่สำนักงานเจ้าท่าฯซึ่งจะพิจารณาออกเร็วๆนี้ และจะแจ้งเวียนประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกัน ทั้งนี้สำนักงานฯจะจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปกำกับ ควบคุมดูแลปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณนี้และใช้ศูนย์ควบคุมการจราจรทางน้ำและความปลอดภัยทางทะเลอันดามัน( CSCA) ใช้ตรวจสอบควบคุมการใช้ร่องน้ำอีกทางหนึ่งด้วย หากพบผู้ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งฯ อาจมีความผิดต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท และให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งยึดใบอนุญาตใช้เรือหรือประกาศนียบัตรควบคุมเรือ มีกำหนดไม่เกินหกเดือน ตามมาตรา 101 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 ตลอดจนให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งงดไม่ให้ใช้ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตมีกำหนดไม่เกินสองปี โดยไม่ลบล้างโทษอย่างอื่น ซึ่งนายเรือหรือผู้ควบคุมเรือนั้นจะพึงได้รับ ตามมาตรา 291 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ การเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 และระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะพิจารณาดำเนินการโดยเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

              ทั้งนี้ นายณชพงศ ประนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต เน้นย้ำให้การประชุมพิจารณาแนวทางปฏิบัติความปลอดภัยในการใช้ร่องน้ำคลองเกาะแก้ว เป็นโครงการนำร่อง “ร่องน้ำปลอดภัย” เพื่อยกระดับไปสู่โครงการร่องน้ำปลอดภัย ให้ครอบคลุมทุกร่องน้ำภายในจังหวัดภูเก็ตในอนาคต โดยถอดบทเรียนในอดีตและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำในอนาคต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทางน้ำ ผู้ใช้ร่องน้ำและกลุ่มประมงพื้นบ้านที่เข้าออกใช้ร่องน้ำต่อไป